กฎหมายอาหารฉายรังสีของประเทศไทย

ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
download บทความ
download ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี

คำนำ

การฉายรังสีอาหารเป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดแมลง พยาธิ และจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมาในอาหารได้ ใช้ยืดอายุการวางตลาดและการเก็บรักษาอาหาร ชะลอการสุกของผลไม้บางชนิด และยับยั้งการงอกของหอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง

วิธีการนี้สามารถใช้ลดความสูญเสียของอาหาร และประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี กระบวนการฉายรังสี เป็นการนำอาหารไปรับรังสี ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีนั้น อาหารที่ผ่านการฉายรังสี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยในปี พ. ศ. 2523 คณะกรรมาธิการร่วมด้านอาหารฉายรังสีประกาศว่า อาหารใดที่ผ่านการฉายรังสีปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ จะไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อเกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา ไม่จำเป็นต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัยอีกต่อไป(1) ต่อมาในปี พ. ศ. 2529 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ประกาศอนุญาตให้อาหารสดฉายรังสีได้ไม่เกิน 1 กิโลเกรย์ และอาหารแห้งฉายรังสีได้ไม่เกิน 30 กิโลเกรย์ จำหน่ายแก่ประชาช(2) สำหรับประเทศไทย ก็ได้มีการทดลองจำหน่ายแหนมฉายรังสี จนประสบผลสำเร็จในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี พ. ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน(3)

กฎหมายอาหารฉายรังสีในประเทศไทย

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้ามากในงานวิจัยด้านอาหารฉายรังสี ผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จจะนำไปทดลองวางจำหน่ายให้กับประชาชนเพื่อทดสอบการยอมรับ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลอาหารฉายรังสีคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ได้มีการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับอาหารฉายรังสีพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารฉายรังสีมีการประกาศใช้บังคับเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ. ศ. 2515 ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า "อาหารอาบรังสี" คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ. ศ. 2515) เรื่อง “กำหนดอาหารอาบรังสีเป็นอาหารที่ควบคุม” ต่อมามีการออกประกาศกระทรวงฯ เพิ่มอีก 1 ฉบับคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 1 (พ. ศ. 2516) เรื่อง “กำหนดหอมหัวใหญ่อาบรังสีเป็นอาหารที่ควบคุม กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่าย และฉลากสำหรับหอมหัวใหญ่อาบรังสี” ประกาศกระทรวงฯ ทั้ง 2 ฉบับ ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ. ศ. 2507
  2. ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่มาใช้บังคับคือ พระราชบัญญัติอาหาร พ. ศ. 2522 มีผลบังคับให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารอาบรังสีทั้ง 2 ฉบับ และให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 9 และ 10 (พ. ศ. 2522) แทน(4,5)
  3. ความรู้ด้านอาหารฉายรังสีมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ของอาหารฉายรังสีที่ใช้อยู่เดิม ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานสากล ของคณะกรรมาธิการอาหารสากล (Codex Alimentarius General Standards for Irradiated Foods) ตลอดจนข้อแนะนำการปฏิบัติ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การฉายรังสี เพื่อใช้กับอาหาร (Recommended Code of Practice for Operation of Radiation Facilities for the Treatment of Food) ประกอบกับในปี พ. ศ. 2529 สหรัฐอเมริกาออกประกาศรับรอง และอนุญาตให้อาหารแห้งฉายรังสีได้ถึง 30 กิโลเกรย์ จำหน่ายแก่ประชาชนได้ ดังนั้น ในปีเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่มาบังคับใช้ กับอาหารฉายรังสี คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 103 (พ. ศ. 2529) เรื่อง “กำหนดวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี” จากประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ ทำให้มีจำนวนชนิดของอาหาร ได้รับอนุญาตให้ฉายรังสีได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 18 ชนิด นอกเหนือจากเดิม ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว คือ หอมหัวใหญ่ที่อนุญาตให้ฉายรังสีได้ นอกจากนี้ ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพิ่มจำนวนชนิดของอาหารที่ต้องการฉายรังสีได้อีกด้วย(6)
  4. จากนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการให้ทุกส่วนราชการ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสากล ประกอบกับประเทศไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 103) พ. ศ. 2529 มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารฉายรังสีสากล (Codex) ที่มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงฯ (ฉบับเดิม) และออกประกาศกระทรวงฯ (ฉบับที่ 297) พ. ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี มาแทน(7) โดยอ้างอิงข้อกำหนดตามมาตรฐานอาหารสากล ฉบับปัจจุบัน คือ Codex General Standard for Irradiation Food (CODEX-STAN 106-1983, Rev.1-2003) และ Recommended International Code of Practice for Radiation Processing of Food (CAC/RCP 19-1979, Rev.2-2003)

สาระสำคัญกฎหมายอาหารฉายรังสีฉบับปัจจุบัน

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 297) พ. ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ. ศ. 2550 และให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ฉบับเดิมคือ ฉบับที่ 103 (พ. ศ. 2529) เรื่อง กำหนดกรรมวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ. ศ. 2529 สาระสำคัญของประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่พอสรุปได้ดังต่อไปนี้คือ

1.
กำหนดให้อาหารฉายรังสีเป็นอาหารที่กำหนดกรรมวิธีการผลิตและต้องมีฉลากแสดง การกำหนดดังกล่าวจึงมีการให้คำนิยามของคำต่าง ๆ เอาไว้ในประกาศฉบับนี้ได้แก่ คำว่า “อาหารฉายรังสี” “การฉายรังสีอาหาร” “วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี” และ “ผู้ฉายรังสีอาหาร”
2.
ชนิดของรังสีที่ใช้ ต้องได้จากแหล่งของรังสีที่เป็นต้นกำเนิดดังต่อไปนี้
 
(ก)
รังสีแกมมา จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์-60 (60Co) หรือซีเซียม-137 (137Cs) หรือ
(ข)
รังสีเอกซ์ จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ
(ค)
รังสีอิเล็กตรอน จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
3.
กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืน ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการการฉายรังสี ตามแต่กรณี และต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ ในเอกสารหมายเลข 1 ของบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประกาศฉบับนี้ ไม่กำหนดชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี แต่เน้นที่วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี
4.
การควบคุมกรรมวิธีการผลิต กำหนดให้การฉายรังสีอาหาร ต้องดำเนินการในสถานที่ และใช้เครื่องมือที่ได้รับอนุญาต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ดำเนินการ ต้องมีความรู้ความสามารถ ผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องฉายรังสีมาแล้ว การควบคุมให้รวมถึงการเก็บข้อมูล เกี่ยวกับการฉายรังสี และปริมาณรังสีดูดกลืนของอาหาร จะต้องเก็บข้อมูลไว้อย่างน้อย 3 ปี และพร้อมให้ตรวจสอบได้
5.
เรื่องการฉายรังสีอาหารซ้ำ กำหนดว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้ว จะนำมาฉายรังสีซ้ำอีกไม่ได้ ยกเว้นอาหารที่มีความชื้นต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแห้ง และอาหารอื่นในทำนองเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดแมลงที่เข้าไป ภายหลังจากที่ได้มีการฉายรังสีแล้ว ทั้งนี้ปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดโดยรวม ต้องไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ เว้นแต่มีเหตุผลทางวิชาการ หรือความจำเป็นทางเทคนิค หากปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดเกินกว่าที่กล่าวมา จะต้องได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
6.
อาหารที่ได้รับการฉายรังสีในกรณีต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการฉายรังสีซ้ำ ได้แก่
 
(1)
อาหารที่เตรียมจากวัตถุดิบ ซึ่งได้รับการฉายรังสีในระดับต่ำมาแล้ว เช่น เพื่อควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง เพื่อป้องกันการงอกของรากและหัวพืช แล้วถูกนำมาฉายรังสีเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
(2)
อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว น้อยกว่าร้อยละ 5 ถูกนำมาฉายรังสี
(3)
อาหารที่ไม่สามารถฉายรังสี ให้ได้รับปริมาณรังสีตามกำหนดในครั้งเดียว เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ
7.
ห้ามนำวิธีการฉายรังสีมาใช้ทดแทนหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manu facturing Practices) หรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (Good Agricultural Practices)
8.
อาหารฉายรังสีต้องแสดงฉลาก นอกจากต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่อง ฉลากแล้ว ยังต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้คือ
 
(1)
ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี
(2)
แสดงข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน
(3)
ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ด้วยข้อความดังนี้ “เพื่อ….……” (ความที่เว้นไว้ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี) เช่น “เพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง”
(4)
การแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีจะแสดงหรือไม่ก็ได้ ซึ่งต่างจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับเก่า ที่บังคับให้ต้องแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีอาหาร แต่หากต้องการแสดง ต้องใช้ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในเอกสารหมายเลข 2 ท้ายประกาศนี้ ใกล้กับชื่อของอาหาร
(5)
วันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสี
9.
อาหารฉายรังสีหากถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารอื่น ต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกันกำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้น
10.
กรณีที่ส่วนประกอบของอาหาร ได้มาจากวัตถุดิบที่ผ่านการฉายรังสี และมีเพียงอย่างเดียว ต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน กำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้นด้วย


สรุป

กฎหมายอาหารฉายรังสีฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการของกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและมีความทันสมัย ตลอดจนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามก่อนการประกาศใช้ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ สำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการนำร่างประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ไปให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้แสดงความคิดเห็น โดยกำหนดให้ส่งความคิดเห็นภายในวันที่ 12 เมษายน พ. ศ. 2549 จากนั้นจึงสรุปและประกาศเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ. ศ. 2550 ข้อแตกต่างที่สำคัญของประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่คือ กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดต้องไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ส่วนประกาศกระทรวงฯ ฉบับเดิมกำหนดเป็น ปริมาณรังสีดูดกลืนเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ และในเอกสารหมายเลข 1 ของบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ กำหนด “วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี” แทนการระบุเป็น“ชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี” นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่กำหนดให้ อาหารฉายรังสีจะแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีหรือไม่ก็ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. WHO (1981) “Wholesomeness of Irradiated Food” Report of a Joint FAO/IAEA/WHO Expert Committee, Technical Report Series No. 659, Geneva.
  2. Washington, D.C., Food and Drug Administration. Department of Health and Human Services. Federal register, Irradiation in the Production, Processing and Handling of Food. Final rule April 18, 1986.
  3. ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ ประสบการณ์การวางตลาดแหนมฉายรังสี นิวเคลียร์ปริทัศน์ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2539 หน้า 9 - 13
  4. กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2522) เรื่อง “กำหนดอาหารอาบรังสีเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ”
  5. กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2522) เรื่อง “กำหนดหอมหัวใหญ่อาบรังสีเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายและฉลากสำหรับหอมหัวใหญ่อาบรังสี”
  6. กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) เรื่อง “กำหนดกรรมวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี”
  7. กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 297 (พ.ศ. 2549) เรื่อง “อาหารฉายรังสี”
 

 
(สำเนา)
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549
เรื่อง อาหารฉายรังสี

-------------------

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องกำหนดกรรมวิธีการผลิตอาหาร ซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6(7) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 103 (พ.ศ.2529) เรื่อง กำหนดกรรมวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2529

ข้อ 2 ให้อาหารฉายรังสี เป็นอาหารที่กำหนดกรรมวิธีการผลิตและเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก

ข้อ 3 ในประกาศฉบับนี้

“อาหารฉายรังสี” หมายความว่า อาหารที่ผ่านกรรมวิธีการฉายรังสีเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี

“การฉายรังสีอาหาร” หมายความว่า กระบวนการผลิตอาหารโดยกรรมวิธีการฉายรังสี

“ผู้ฉายรังสีอาหาร” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการฉายรังสีอาหาร

“การวัดปริมาณรังสี” (Dosimetry) หมายความว่า การวัดปริมาณรังสีดูดกลืนที่อาหารได้รับ หลังจากผ่านการฉายรังสีแล้ว

“ปริมาณรังสีดูดกลืน” (Absorbed Dose) หมายความว่า ปริมาณพลังงานที่อาหารดูดกลืนไว้ ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์อาหารเมื่อได้รับรังสี มีหน่วยเป็นเกรย์

“วัตถุประสงค์ของการฉายรังสีอาหาร” (Technological Purpose) หมายความว่า การฉายรังสีอาหารเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เพื่อชะลอการสุก เพื่อลดปริมาณปรสิต เพื่อยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา เพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง หรืออื่นๆ ทั้งนี้ การฉายรังสีอาหารต้องมีปริมาณรังสีดูดกลืนต่ำสุดที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี และมีปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร โดยไม่ทำลายโครงสร้าง คุณสมบัติเชิงหน้าที่ และคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสของอาหาร

ข้อ 4 กรรมวิธีการฉายรังสีอาหารต้องปฏิบัติตาม Recommended International Code of Practice for Radiation Processing of Food (CAC/RCP 19-1979, Rev.2-2003) และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ชนิดของรังสี ต้องได้จากแหล่งของรังสีที่เป็นต้นกำเนิด ดังต่อไปนี้

(ก) รังสีแกมมา จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์-60 (60Co) หรือซีเซียม-137 (137Cs) หรือ
(ข) รังสีเอกซ์ จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ
(ค) รังสีอิเล็กตรอน จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์

(2) ปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีตามแต่กรณี ทั้งนี้ ปริมาณรังสีดูดกลืน ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในเอกสารหมายเลข 1 ของบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ เว้นแต่มีเหตุผลทางวิชาการ หรือความจำเป็นทางเทคนิคที่สมควร ต้องได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร

(3) การควบคุมกรรมวิธีการผลิต
(ก) การฉายรังสีอาหารต้องดำเนินการในสถานที่และใช้เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(ข) สถานที่ฉายรังสี ต้องออกแบบเพื่อความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและถูกสุขลักษณะในการผลิต
(ค) สถานที่ฉายรังสี ต้องมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องฉายรังสี ได้รับการฝึกอบรม และมีจำนวนพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงาน
(ง) การควบคุมกรรมวิธีการผลิตภายในสถานที่ฉายรังสี ให้รวมถึงการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการฉายรังสีอาหาร และข้อมูลปริมาณรังสีดูดกลืนของอาหารที่มีการฉายรังสี
(จ) ข้อมูลตามข้อ
(ง) ต้องมีความชัดเจน และต้องเก็บรักษาไว้อย่างน้อย 3 ปี ในสภาพที่พร้อมจะให้ตรวจสอบได้ สถานที่เก็บควรมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ป้องกันการเสียหายหรือเสื่อมสภาพ

ข้อ 5 อาหารที่จะนำมาฉายรังสีต้องผ่านการเตรียม ผ่านกรรมวิธีการผลิตและขนส่ง ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยสุขลักษณะที่ดี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยของอาหาร สำหรับวัตถุดิบเริ่มต้นจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะ มาตรฐานอาหาร และหลักเกณฑ์การขนส่ง

ข้อ 6 อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วจะนำมาฉายรังสีซ้ำอีกไม่ได้ เว้นแต่อาหารที่มีความชื้นต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแห้ง และอาหารอื่นในทำนองเดียวกันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดแมลงที่เข้าไปภายหลังจากที่ได้มีการฉายรังสีแล้ว ทั้งนี้ปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดโดยรวมให้เป็นไปตามข้อ 8

ข้อ 7 อาหารที่ได้รับการฉายรังสีกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการฉายรังสีซ้ำ
(1) อาหารที่เตรียมจากวัตถุดิบซึ่งได้รับการฉายรังสีในระดับต่ำมาแล้ว เช่นการควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง การป้องกันการงอกของรากและหัวพืช แล้วถูกนำมาฉายรังสีเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
(2) อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว น้อยกว่าร้อยละ 5 ถูกนำมาฉายรังสี
(3) อาหารที่ไม่สามารถได้รับปริมาณรังสีตามกำหนดในครั้งเดียว เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ

ข้อ 8 อาหารที่มีการฉายรังสีตามข้อ 6 และข้อ 7 ต้องมีปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดโดยรวมไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ เว้นแต่มีเหตุผลทางวิชาการหรือความจำเป็นทางเทคนิคที่สมควร และต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือทำลายคุณภาพของอาหาร ทั้งนี้ หากมีปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดโดยรวมเกิน 10 กิโลเกรย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ข้อ 9 การฉายรังสีอาหาร ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคหรือไม่ก็ตาม ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางวิชาการ (Technological requirements) และต้องไม่นำการฉายรังสีอาหารมาใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ u3623 วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practices) หรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (Good Agricultural Practices)

ข้อ 10 การแสดงฉลากของอาหารฉายรังสี นอกจากต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องของอาหารนั้นๆแล้ว ต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้เพิ่มเติม
(1) ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี
(2) แสดงข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน
(3) ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ด้วยข้อความดังนี้ “เพื่อ….……” (ความที่เว้นไว้ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี)
(4) การแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีอาจจะแสดงหรือไม่ก็ได้ แต่หากจะแสดงต้องใช้ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในเอกสารหมายเลข 2 ท้ายประกาศนี้ ใกล้กับชื่อของอาหาร
(5) วันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสี

ข้อ 11 อาหารฉายรังสีหากถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารอื่น ต้องแสดงข้อความตามข้อ 10(2) กำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้น

ข้อ 12 ในกรณีที่ส่วนประกอบของอาหารมีเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้มาจากวัตถุดิบที่ผ่านการฉายรังสี ต้องแสดงข้อความตามข้อ 10(2) กำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้นด้วย

ข้อ 13 ภาชนะที่บรรจุอาหารฉายรังสี ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม อยู่ในสภาพที่ถูกหลักสุขลักษณะ ตรงตามวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี และเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practices) ทั้งก่อนและหลังการฉายรังสี

ข้อ 14 ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าอาหารฉายรังสี ที่มีการแสดงฉลากแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อ 10 และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วก่อนที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องปรับปรุงแก้ไขการแสดงฉลากให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 15 ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 
ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2549
(ลงชื่อ) อนุทิน ชาญวีรกูล
(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(คัดจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 123 ตอนพิเศษ 93 ง ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2549)
 

เอกสารหมายเลข 1
แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549
เรื่อง อาหารฉายรังสี
         ตารางบัญชีปริมาณรังสีที่อนุญาต สำหรับการฉายรังสีตามวัตถุประสงค์ต่างๆ
ลำดับที่ี
วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี
ปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุด (กิโลเกรย์)
1
ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา
1
2
ชะลอการสุก
2
3
ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง
2
4
ลดปริมาณปรสิต
4
5
ยืดอายุการเก็บรักษา
7
6
ลดปริมาณจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค
10

เอกสารหมายเลข 2
แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549
เรื่อง อาหารฉายรังสี
รูปวงกลมขอบหนาทึบสีเขียว ขอบของครึ่งวงกลมช่วงบนไม่ติดกัน แต่แบ่งเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน มีช่องว่างระหว่างขอบนอกแต่ละส่วน 5 ระยะเท่า ๆ กัน ภายในเนื้อที่ครึ่งวงกลมช่วงบน มีวงกลมทึบสีเขียวขนาดเล็ก ส่วนภายในเนื้อที่ครึ่งวงกลมช่วงล่าง จะมีเครื่องหมายรูปวงรีทึบสีเขียว 2 วงแยกกัน ปลายด้านหนึ่งของแต่ละวงเชื่อมต่อกัน