เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายข่าวสมาคมฟิสิกส์สุขภาพ (Health Physics Society's Newsletter) ฉบับเดือนเมษายน 1997
เมื่อปี 1914 เอช.จี. เวลลส์ (H.G. Wells) ได้ทำนายไว้ว่า การค้นพบ กัมมันตภาพรังสีเทียม หรือ กัมมันตภาพรังสีทำขึ้น (artificial radioactivity) น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 1933 ซึ่งเฟรเดริกและอีแรน โชลีโย กูรี (Frederic and Irene Joliot-Curie) ก็เกือบสำนองคำทำนายของเวลลส์ให้เป็นจริงได้ กล่าวคือ เมื่อล่วงเข้าสู่ปี 1934 ได้สองสัปดาห์ ทั้งคู่ก็สามารถผลิตฟอสฟอรัสกัมมันตรังสี (P-30) ได้ โดยการระดมยิงอะลูมิเนียมด้วยอนุภาคแอลฟา ความสำเร็จนี้ทำให้เอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi) ที่กรุงโรม ตระหนักว่า น่าจะสามารถผลิต นิวไคลด์กัมมันตรังสีเทียม หรือ นิวไคลด์กัมมันตรังสีทำขึ้น (artificial radionuclide) ด้วยนิวตรอนได้ง่ายกว่าด้วยอนุภาคแอลฟา เนื่องจากนิวตรอนเข้าชนนิวเคลียสของอะตอมได้โดยไม่มีตัวกั้นคูลอมบ์ (coulombic barrier) ให้ต้องเอาชนะ (นิวตรอนไม่มีประจุ แต่นิวเคลียสมีประจุบวก จึงมีแรงคูลอมบ์คอยผลักอนุภาคแอลฟาที่มีประจุบวกเช่นกัน ไม่ให้เข้าชนนิวเคลียสได้โดยง่ายผู้แปล) ดังนั้นแฟร์มีจึงส่งผู้ช่วยของเขา คือ เอมีลีโอ เซแกระ (Emilio Segr?) ออกไปพร้อมกับเงิน 1000 ดอลลาร์อเมริกัน ด้วยคำสั่งว่า ซื้อทุกธาตุที่มีในตารางของเมนเดเลเยฟ (Mendelyevs table) มาให้หมด (Latil 1966; Regato 1985) ต่อมาไม่นาน แฟร์มีก็มีธาตุมากกว่า 60 ธาตุ มาใช้ระดมยิงด้วยนิวตรอน จากนั้นก็พิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของกัมมันตภาพที่เกิดขึ้นจากการระดมยิงธาตุนั้น ๆ ยกตัวอย่าง เมื่อระดมยิงธาตุทองคำ พบว่าวัสดุกัมมันตรังสีที่ผลิตได้มีครึ่งชีวิต (half-life) หนึ่งถึงสองวัน ด้วยความประทับใจ รัทเทอร์ฟอร์ด (Rutherford) ส่งโทรเลขถึงแฟร์มี ความว่า ผมขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของคุณ ที่สามารถหลีกหนีออกมาจากโลกของฟิสิกส์ทฤษฎีได้ (Regato 1985) คนอื่น ๆ ก็ประทับใจไม่แพ้กัน และแฟร์มีก็ได้รับรางวัลโนเบลปี 1938 ความที่แฟร์มีสงสัยว่าเหรียญรางวัลโนเบลที่เขาได้รับจะไม่ใช่ทองคำแท้ เขาจึงนำเหรียญไปวัดความหนาแน่น โดยการชั่งเหรียญในน้ำในอ่างอาบน้ำที่บ้าน เมื่อเขาพอใจแล้วที่พบว่ามันเป็นทองคำแท้ เขาคงจะเก็บเหรียญนี้ไว้รวมกับเงินทองทรัพย์สินอื่น ๆ ฝังไว้ในหลุมที่เขาขุดไว้ในห้องใต้ดิน (Marshall Libby 1979)

|

|

|
เอนรีโก แฟร์มี |
จอร์จ เดอเวเฮชี |
เอมีลีโอ เซแกระ |
ระหว่างการศึกษาดังกล่าวข้างต้น แฟร์มีมิได้ฝากการจัดซื้อจัดหาธาตุทั้งหลายนั้นไว้แก่เซแกระเพียงลำพัง ก็คือในเดือนตุลาคมปี 1934 เขาได้เขียนจดหมายถึงจอร์จ เดอเวเฮชี (George de Hevesy) ที่เมืองโคเปนเฮเกน ขอให้ช่วยเหลือหาตัวอย่างธาตุหายาก (rare earthsเป็นอนุกรมธาตุที่ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ 10 กว่าธาตุ เช่น แลนทานัม ซีเรียมผู้แปล) ให้ด้วย เฮเวชีตอบจดหมายโดยบอกชื่อหลาย ๆ คน ที่แฟร์มีน่าจะติดต่อ โดยไม่บอกให้รู้ว่าที่จริงเขามีสิ่งที่แฟร์มีต้องการธาตุหายากธาตุต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง ที่เขาได้มาจากคาร์ล เอาเออร์ ฟอน เวลส์บาค (Carl Auer von Welsbach) ปรมาจารย์นักเคมีผู้ก่อตั้งบริษัทเอาเออร์ เฮเวชีไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเอาอกเอาใจแฟร์มี เพราะเขาตั้งใจจะเล่นกับธาตุหายากด้วยตัวเขาเอง
หลังจากที่ผู้ช่วยของเฮเวชีที่มีชื่อว่า ฮิลเดอ เลวี (Hilde Levi) เพิ่งประกอบอุปกรณ์สำหรับนับรังสีของตัวอย่างที่ถูกกระตุ้นด้วยอนุภาคนิวตรอน เสร็จได้ไม่นาน เฮเวชีพอดีต้องเดินทางไปที่อื่น ดังนั้นเพื่อประกันว่าเลวีจะมีงานทำระหว่างที่เขาไม่อยู่ เขาจึงเอาตัวอย่างธาตุดิสโพรเซียม (dysprosium) ธาตุหายากชนิดหนึ่งที่เขาได้มาจากเอาเออร์ มอบให้กับเลวีและพูดกับเธอทำนองว่า เอางี้ เอานี่ไปทดลองดู ฝ่ายเลวีก็ลุยภารกิจที่รับมาอย่างเต็มที่โดยนำตัวอย่างมารับรังสีนิวตรอน แต่ทว่าเครื่องวัดรังสีจีเอ็ม (GM คือหัววัดรังสีทำจากผลึกธาตุเจอร์เมเนียม) ที่ต่อไว้กับโทรศัพท์สำหรับแปรเป็นสัญญาณเชิงกล (mechanical telephone) ไม่สามารถบันทึกจำนวนนับของรังสี (counts) ได้แต่อย่างใด ซึ่งแสดงว่าไม่มีกัมมันตภาพเลย ด้วยความผิดหวัง เธอจึงวางตัวอย่างไว้ในที่ใส่ตัวอย่างทิ้งไว้แล้วก็ลืมเรื่องนี้ไปเลย ต่อมา เมื่อเลวีต้องการใช้ที่ใส่ตัวอย่าง เธอก็เก็บที่ใส่ตัวอย่างกลับมาแล้วก็ทำความสะอาด จากนั้น เหมือนกับนักเรียนที่ดีพึงทำ เธอวัดที่ใส่ตัวอย่างเปล่า ๆ นั้นอีกครั้งก่อน ปรากฏว่าเสียงการนับรังสี ดังรัวเร็ว (rattled away) และอัตรานับรังสี (count rate) ก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น ! เลวีรีบวิ่งไปหาออทโท ฟริช (Otto Frisch) ถามว่า ฟริช คุณเคยได้ยินไหมว่า กัมมันตภาพรังสีเพิ่มขึ้นตามเวลา ? หลังจากพิศวงงงงวยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งคู่ก็ตระหนักว่า ตัวอย่างเดิมมีกัมมันตภาพรังสีสูงเอามาก ๆ ทำให้เครื่องนับรังสีนั้นนับรังสีไม่ทันจนตายสนิท จากนั้น ด้วยปริมาณดิสโพรเซียมที่หลงเหลืออยู่จนแทบมองไม่เห็น ที่หลงเหลือบนที่ใส่ตัวอย่างที่นำไปทำความสะอาด และด้วยกัมมันตภาพที่สลายไปมากแล้ว ช่วงเวลาที่นับรังสีไม่ทัน หรือ เดดไทม์ (dead time) จึงลดลงและทำให้อัตรานับกลับสูงขึ้น (Levi 1986)

|

|
ฮิลเดอ เลวี |
ออทโท ฟริช |
มหัศจรรย์ เฮเวชีตอบเมื่อได้ฟังรายงานของเลวี ตำนานเรื่องนี้จุดประกายให้ตระหนักว่า ทั้งครึ่งชีวิตและขนาด (magnitudes) กัมมันตภาพที่เหนี่ยวนำขึ้นมา สามารถนำมาใช้ระบุ (identify) และหาปริมาณ (quantify) ของธาตุปริมาณน้อย (trace element) ได้ !
กรณีของเดดไทม์สูง ๆ สำหรับเครื่องวัดรังสีเชิงกล (mechanical counting register) นี้เอง ที่ในเวลาต่อมาทำให้ร็อบลีย์ เอแวนส์ (Robley Evans) นำมาประดิษฐ์ มาตรอัตรานับรังสี (count rate meter) แล้วยังทำให้เฮเวชีนำมาประดิษฐ์กรรมวิธีวิเคราะห์ที่ทรงประสิทธิภาพกว่าวิธีที่เคยมีมา (unparalleled power) นั่นคือ การวิเคราะห์เชิงก่อกัมมันตภาพรังสีด้วยนิวตรอน (neutron activation analysis ย่อว่า NAA) หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า การอาบรังสีนิวตรอน
จากเรื่องชุด |
Tales from the Atomic Age |

|
เรื่อง |
Fermi Strikes Gold and Hevesy Invents Neutron Activation Analysis |
เขียนโดย |
Paul W. Frame |
เอกสารอ้างอิง
- Latil, P. Enrico Fermi, the man and his theories. Paul S. Eriksson, Inc.; New York; 1966.
- Levi, H. George de Hevesy. Adam Hilger Ltd; Bristol; 1985.
- Levi, H. Semi centennial lecture. Modern trends in activation analysis, 7th International Conference; June 23, 1986.
- Marshall Libby, L. The uranium people. Crane Russak; New York; 1979.
- Regato, J.A. Radiological physicists. Am. Inst. Physics; New York; 1985.
- Wells, H.G. The world set free. New York: E. P. Dutton & Co.; 1914.
|