Nuclear Science
STKC 2555

10 อันดับภัยพิบัติ/อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ อันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

10 Worst Nuclear Accidents/Disasters in History

โกมล อังกุรรัตน์
อดีตผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ไอโซโทปรังสี (เกษียณ)
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ตามข้อกำหนดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้คำนิยามของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และอุบัติเหตุการแผ่รังสีนิวเคลียร์/ภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ ไว้ดังนี้คือ “เหตุการณ์ที่นำไปสู่ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้คน สภาพแวดล้อม หรือสถานที่ ตัวอย่างรวมถึงผลกระทบร้ายแรงต่อเฉพาะบุคคล การปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากออกมาสู่สภาวะแวดล้อม หรือแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย” ไม่ว่าจะเป็นกรณีอุบัติเหตุ หรือได้มีการตั้งใจวางแผนไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด และสาเหตุอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ ซึ่งภัยพิบัติที่มีผลต่อร่างกายของคน จิตใจ อารมณ์ เศรษฐกิจ และทางด้านพันธุกรรม การผันแปรหรือการก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “หน่วยพันธุกรรม (gene)” ที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงในรุ่นลูกหลานที่จะตามมา

อันดับที่10 อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ 28 มีนาคม 1979 (Three Mile Island-March 28, 1979)


โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอส์แลนด์ 28 มีนาคม 1979

          อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (US-1979) ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 5 ของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในวันที่ 28 มีนาคม 1979 ในชั่วโมงเริ่มต้นตอนเช้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ เกิดการหลอมละลายของวงจรทุติยภูมิหนึ่ง อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ทำให้เกิดการปลดปล่อยแก๊สกัมมันตรังสี 13 ล้านคูรี ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดความสูญเสียถึง 2,400 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ได้มีการฟ้องร้องในศาลต่อเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุครั้งนี้รวม 10 กรณี ที่ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 15 ปี ในการตัดสินความ โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

อันดับที่ 9 อุบัติเหตุที่กัวเนีย 13 กันยายน 1987 (Goiania Accident- September 13, 1987)


อุบัติเหตุที่กัวเนีย -13 กันยายน 1987

          มีประชาชนมากกว่า 240 คนได้รับการแผ่รังสี เมื่อตัวแทนจำหน่ายเศษโลหะของเก่าใน กัวเนีย ประเทศบราซิล ได้ทำลายเพื่อเปิดเครื่องมือที่ใช้ในสำหรับรังสีบำบัดที่ถูกทิ้งร้าง และนำเอาชิ้นส่วนเป็นก้อนเค้กขนาดเล็ก ที่มีกัมมันตภาพรังสีสูงมากในรูปของซีเซียมคลอไรด์ออกมา อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นเมื่อ 13 กันยายน 1987 สภาพแวดล้อมและบริเวณแวดล้อมมีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอย่างร้ายแรง อาคารหลายหลังต้องถูกรื้อถอน มีผู้เสียชีวิตไป 4 คน จากอุบัติเหตุนี้ เด็ก ๆ หลายคนได้ให้ความสนใจกับสีฟ้าอันสดใสของวัสดุกัมมันตรังสี และได้นำมาสัมผัสลูบไล้บนผิวของตนเอง อันเป็นผลให้มีการปนเปื้อนแผ่ออกไปในหลาย ๆ ช่วงตึกของเมือง

อันดับที่ 8 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วินด์สเกล 10 ตุลาคม 1957 (Windscale Pile – October 10, 1957)


วินด์สเกล 10 ตุลาคม 1957

          อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ตุลาคม 1957 เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วินด์สเกล ทำให้มีการลุกไหม้ของพลูโทเนียม ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำให้มีการปนเปื้อน ของกัมมันตภาพรังสีบริเวณรอบๆ ฟาร์มโคนม การปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีทำให้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งไป 33 คน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวิติศาสตร์ ของอังกฤษ มีระดับความรุนแรงอยู่ในระดับ 5 จากระดับ 7 ของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (International Nuclear Event Scale) ไฟไหม้ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสี โดยจากกลุ่มของนิวไคลด์กัมมันตรังสีต่าง ๆ มีไอโอดีน-131 ประมาณ 20,000 คูรี เช่นเดียวกับซีเซียม-137 594 คูรี และซีนอน-133 24,000 คูรี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้อาศัยบริเวณรอบ ๆ เกิดกรณีการเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ฟาร์มโคนมก็มีการปนเปื้อนอย่างร้ายแรง ทำให้ผลผลิตนมมียอดขายลดลงถึง 15%

อันดับที่ 7 อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ชอล์กริเวอร์ 1952 (Chalk River Nuclear Accident-1952)


ภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่ห้องปฏิบัตการชอล์กริเวอร์ - 12 ธันวาคม 1952

          ห้องปฏิบัติการณ์ที่ชอล์กริเวอร์เป็นที่ตั้งของการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญ เพื่อการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ CANDU ในวันที่ 12 ธันวาคม 1952 แท่งควบคุมการหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดล้มเหลว รวมกับข้อผิดพลาดหลายอย่างของผู้ปฏิบัติงาน อันนำไปสู่การเพิ่มระดับของกำลังมากกว่าสองเท่า ของระดับอัตรากำลังที่ผลิตได้ของเครื่องปฏิกร์นิวเคลียร์ ที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ NRX ของ AECL ความเลวร้ายอยู่ในระดับ 5 ของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ชุดแก๊สไฮโรเจนเกิดระเบิด ทำให้โดมกักเก็บแก๊สซึ่งมีน้ำหนัก 4 ตัน ถูกเหวี่ยงลอยขึ้นไปในอากาศสูงถึง 4 ฟุต ที่ซึ่งถูกกักเก็บอยู่ภายในโครงสร้างตึกแบบพิเศษ ผลผลิตฟิชชันหลายพันคูรีได้ถูกปลดปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ และน้ำล้านแกลลอนของที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ได้ถูกสูบออกมาจากชั้นใต้ดิน และถูก “ขจัด” ให้อยู่ในคูตื้น ๆ ที่ไม่ไกลจากแม่น้ำออตตาวา แกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ NRX ไม่สามารถที่จะขจัดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีออกได้ จึงต้องถูกฝังกลบให้เป็นกากกัมมันตรังสี ในเวลานั้นหนุ่มน้อยจิมมี่ คาร์เตอร์ วิศวกรนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งภายหลังได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในหลายร้อยทหารเกณฑ์ของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ NRX ภายหลังจากการเกิดอุบัติเหตุ

อันดับที่ 6 แคสเซิลบราโว 1 มีนาคม 1954 (Castle Bravo-March 1, 1954)


แคสเซิลบราโว 1 มีนาคม 1954

          ที่เกาะปะการังบิกินีของหมู่เกาะไมโครนีเซียในมหาสุทรแปซิฟิก เป็นที่ตั้งของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า 20 ครั้ง ระหว่างปี 1946 และ 1958 แคสเซิลบราโว (Castle Bravo) เป็นชื่อรหัสที่กำหนดให้ สำหรับการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนเทอร์โมนิวเคลียร์นิวเคลียร์ ที่ใช้เชื้อเพลิงแห้งเป็นครั้งแรก การทดสอบได้ดำเนินการในวันที่ 1 มีนาคม 1954 ที่เกาะปะการังบิกินี หมู่เกาะมาร์แชลล์ เมื่ออาวุธถูกจุดระเบิดและการระเบิดเกิดขึ้น ทำให้เกิดเป็นปากปล่องภูเขาไฟ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6,500 ฟุต (2,000 เมตร) ลึก 250 ฟุต (75 เมตร) แคสเซิลบราโวเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด กว่าที่เคยถูกจุดระเบิดมาโดยสหรัฐอเมริกา โดยมีพลังงานได้ออกมาถึง 15 เมกะตัน ซึ่งมากเกินกว่าระดับพลังงานที่คาดหวังไว้คือ 4-6 เมกะตัน ในส่วนนี้เป็นผลมาจากการคำนวณที่ผิดพลาด อันนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุอันรุนแรงทางด้านการปนเปื้อนทางรังสี ยิ่งกว่าครั้งใดที่สหรัฐอเมริกาเคยทำให้เกิดขึ้น โดยถ้าคิดในแง่ของความเทียบเท่ากับลูกระเบิดทีเอ็นทีเป็นตันแล้ว แคสเซิลบราโวมีพลังงานที่มากกว่าประมาณ 1,200 เท่าของลูกระเบิดอะตอมที่ทิ้งในฮิโรชิมาและนางาซากิ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น เมฆของรังสีทำให้เกิดการปนเปื้อนปกคลุมพื้นที่มากกว่า 7พันตารางไมล์รอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งหมู่เกาะเล็ก ๆ เช่น Rongerik และ Rongelap และ Utirik ผู้คนบนเกาะต้องถูกอพยพออก แต่ในลูกหลานในรุ่นต่อมาได้รับผลกระทบ ชาวบ้านท้องถิ่นได้รับความทรมานจากความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายตั้งแต่เกิด เรือประมงของญี่ปุ่นชื่อ Daigo Fukuryu Maru ได้รับการสัมผัสปนเปื้อนฝุ่นกัมมันตรังสี เป็นสาเหตุให้ลูกเรือทั้งหมดเกิดการเจ็บป่วยมีผู้เสียชีวิตไปหนึ่งราย ปลา น้ำ พื้นดิน เกิดการปนเปื้อนทางกัมมันตรังสีอย่างรุนแรง ทำให้แคสเซิลบราโวเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุด

อันดับที่ 5 อุบัติเหตุเรือดำน้ำโซเวียต K-431- 10 สิงหาคม 1985 (Soviet Submarine K-431 Accident- August 10, 1985)


อุบัติเหตุเรือดำน้ำโซเวียต K-431 – 10 สิงหาคม 1985

          เรือดำน้ำโซเวียตชั้น Echo II ชื่อว่า K-431 ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการระเบิดขนาดใหญ่ระหว่างการเติมเชื้อเพลิงใหม่ที่ท่าเรือวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย การระเบิดทำให้เกิดเมฆกัมมันตรังสีของแก๊สกระจายไปสู่อากาศ กลาสีเรือ 10 คน เสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนี้ และอีก 49 คน ต้องอยู่ในการเฝ้าสังเกตอาการ จากการได้รับบาดเจ็บจากการแผ่รังสีในจำนวนนี้ 10 คน มีการพัฒนาให้เห็น โดยแสดงอาการป่วยจากการแผ่รังสี ยิ่งไปกว่านั้นคนจำนวน 2,000 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากการดำเนินงานทำความสะอาด ในจำนวนนี้ 290 คน ได้รับการแผ่รังสีในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับมาตรฐานปกติ นิตยสารไทม์ได้ระบุว่าอุบัติเหตุนี้เป็นหนึ่งใน “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุด” ของโลก

อันดับที่ 4 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มายัค 29 กันยายน 1957 (Mayak Nuclear Plant- September 29, 1957)


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มายัค 29 กันยายน 1957

          โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มายัค เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Chelyabinsk-40 และต่อมาเปลี่ยนเป็น Chelyabinsk-65 เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธรัฐรัสเซีย ยังเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมอาวุธนิวเคลียร์ ที่นี้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุ 20 ครั้ง หรือมากกว่า ที่มีผลกระทบต่อประชาชนครึ่งล้านคนเป็นอย่างน้อยในช่วง 45 ปี ที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่น่าจดจำบันทึกเป็นที่สุด เกิดขึ้นเมื่อ 29 กันยายน 1957 เผยให้เห็นถึงความลับของระบอบการปกครองของรัสเซีย ความล้มเหลวของระบบทำความเย็น สำหรับถังเก็บสารละลายหลายหมื่นตันของกากกัมมันตรังสี ที่นำมาละลายกับสารเคมี (ที่ไม่เป็นสารกัมมันตรังสี) เป็นผลให้เกิดการระเบิด มีแรงระเบิดคาดคะเนว่าเทียบเท่าทีเอ็นทีประมาณ 75 ตัน (310 gigajoules) ทำให้เกิดการปลดปล่อยกัมมันตรังสีประมาณ สองล้านคูรี ครอบคลุมพื้นที่มากว่า 15,000 ตารางไมล์ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 คน จากการเจ็บป่วยจากการได้รับการแผ่รังสี ประชากร 10,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน และ470,000 คน ได้รับการแผ่รังสี ผู้ตกเป็นเยื่อใบหน้าจะมองเห็น “การหลุดลอก” ของผิวหนังใบหน้า มือ และทุกส่วนของร่างกาย ที่ได้รับการแผ่รังสี พื้นที่ขนาดใหญ่ถูกปล่อยทิ้งร้าง และนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เป็นเวลาเป็นหลายสิบปีหรือบางทีเป็นศตวรรษ อุบัติเหตุเป็นผลให้ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิต หลายพันคนได้รับบาดเจ็บ และที่อยู่บริเวณโดยรอบก็ต้องถูกอพยพ อุบัติเหตุครั้งนี้ความรุนแรงอยู่ในระดับ “ร้ายแรง” ระดับ 6 จากสูงสุด 7 ระดับของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์

อันดับที่ 3 ภัยพิบัติเชอร์โนบิล 26 เมษายน 1986 (Chernobyl Disaster-April 26, 1986)


ภัยพิบัติเชอร์โนบิล 26 เมษายน 1986

          ภัยพิบัติเชอร์โนบิลเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์เกิดขึ้นเมื่อ 26 เมษายน 1986 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (ปัจจุบันคือประเทศยูเครน) อุบัติเหตุเกิดขึ้นที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ใกล้ ๆ กับเมืองปริเปียต (Pripyat) เกิดขึ้นโดยระดับกำลังของเครื่องที่ผลิตพลังงานออกมาสูงขึ้นอย่างทันทีทันใด และเมื่อมีความพยายามที่จะดับเครื่องในกรณีฉุกเฉิน ก็ยังคงควบคุมระดับพลังงานของเครื่องไม่ได้ ยังคงมีระดับพลังงานของเครื่องสูงอยู่อย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การแตกออกของถังเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศเบลารุส รัสเซีย และยูเครน และจากปี 1986 ถึง 2000 มีฝุ่นกัมมันตรังสีตกลงมาสู่พื้นที่ของเบลารุสถึง 60% ทำให้ในพื้นที่ของ เบลารุส รัสเซีย และยูเครน ประชากรรวมกันถึง 350,400 คน ต้องอพยพออกมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสี เพื่อมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใหม่ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจะมีถึง 4,000 คน ในขณะที่กรีนพีซรายงานว่าอาจจะถึง 200,000 คน หรือมากกว่านี้ ท่ามกลางตัวเลขที่แตกต่างกันเหล่านี้ มีการยืนยันว่าเสียชีวิตจำนวน 31 คน อันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปริมาณกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิลจะเป็นจำนวนถึง 200 เท่า ของ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิรวมกัน ก็ถือว่าเป็นอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ และอุบัติเหตุนี้ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 7 ของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์

อันดับที่ 2 ภัยพิบัติฟุกุชิมะ 11 มีนาคม 2011 (Fukushima Disaster-March 11, 2011)


ภัยพิบัติฟุกุชิมะ 11 มีนาคม 2011

          แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.9 ได้เขย่าโจมตีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2011 ทำให้หลายสิบคนเสียชีวิต มากกว่า 80 คน เสียชีวิตจากไฟไหม้ คลื่นซึนามิสูง 10 เมตร (33ฟุต) โจมตีตลอดหลายส่วนของชายฝั่งประเทศ บ้านเรือนถูกกวาดออกไปและเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และภัยพิบัตินี้ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นี้เท่านั้น  เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 11 เครื่อง ในสี่สถานที่ใกล้ ๆ กับชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ต้องดับเครื่องด้วยตัวเองตามขั้นตอนวิธีการเหตุฉุกเฉินแผ่นดินไหว เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 5 เครื่อง ในสถานที่สองแห่งในจังหวัด ฟุกุชิมะประกาศสภาวะฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการสูญเสียพลังงานปกติในสถานที่และพลังงานสำรองฉุกเฉิน โดยผู้เชี่ยวชาญทางนิวเคลียร์ของอังกฤษชี้ว่า การระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-1 มองดูแล้วน่าจะเป็น “เหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่สำคัญ” ซึ่งทำให้มีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน มากว่าการหลอมละลายของเชื้อเพลิงในปี 1979 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ ในขณะวันที่ 15 มีนาคม หน่วยความปลอดภัยฟินแลนด์ประมาณการณ์ว่า อุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะจะอยู่ที่ระดับ 6 ของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ในวันที่ 24 มีนาคมที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของกรีนพีซได้วิเคราะข้อมูลจาก ZAMG ของออสเตรียกับ IRSN ของฝรั่งเศส ได้เตรียมการวิเคราะห์ข้อมูลและได้ให้อันดับทั้งหมดของอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมา-1 ในระดับ 7 ของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่มีสูงสุด 7 ระดับ อุบัติเหตุนี้ทำให้เกิดการปนเปื้อนทางกัมมันตรังสี ในสภาวะแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้ง น้ำ นม พืชผักต่าง ๆ และอาหารชนิดอื่น ๆ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบต้องถูกเคลื่อนย้ายไปพักในที่ปลอดภัย และอาหารที่มีการปลูกในพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาติให้ขายได้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้บริหารจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจเกินจินตนาการ การคัดกรองจะถูกดำเนินการและผู้คนได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ในขั้นต้นมีคนงาน 3 คน ได้รับผลกระทบทางรังสี

อันดับที่ 1 ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ สงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 (Atomic bombings of Hiroshima and Nagasaki- world War II, 1945)


ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ สงครามโลกคครั้งที่ 2 ปี 1945

          ภัยพิบัติทางนิวเคลียร์นี้ไม่ใช่เป็นอุบัติเหตุ แต่เป็นตัวอย่างของความร้ายกาจของความโกรธและความรุนแรงของมนุษย์ ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ของโลก ในระหว่างขั้นตอนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1954 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการสร้างลูกระเบิดปรมาณู 2 ลูก เพื่อนำไปใช้กับเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในญี่ปุ่น ทิ้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ภัยพิบัติทางนิวเคลียร์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับไม่ถ้วน และมีความร้ายแรงเกิดขึ้นทางกายภาพ ทางอารมณ์ และปัญหาทางพันุกรรมซึ่งต้องเผชิญไปอีกหลายชั่วอายุคน ครอบครัวบ้านช่องถูกทำลายต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก รวมทั้งบ้านและเงินทอง ทุกสิ่งสูญสิ้นไปในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น ภายใน 2 ถึง 4 เดือนแรกหลังจากระเบิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 90,000-166,000 คน ในฮิโรชิมาและ60,000-80,000 คน ในนางาซากิ ในจำนวนนี้ 15-20% เสียชีวิตจากผลกระทบการป่วยจากการแผ่รังสี 20-30% เสียชีวิตจากเปลวไฟไหม้ และ50-60% จากการบาดเจ็บอื่น ๆ ตามมาด้วยการเจ็บป่วยเป็นไข้ โดยประมาณการหยาบ ๆ ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตในแต่ละเมืองเกิดขึ้นในวันแรกที่ระเบิดถูกทิ้ง จากการศึกษาบ่งชี้ว่า จากปี 1950-2000 มีผู้ เสียชีวิตด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว 46% และอีก 11% เสียชีวิตจากมะเร็งก้อนเนื้อต่าง ๆ การตายต่อมาของผู้รอดชีวิตจากระเบิดมีสาเหตุมาจากการแผ่รังสีจากระเบิด แม้หลังจากภัยพิบัติขนาดใหญ่จากระเบิดและครามปราชัย คนญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ด้วยความกล้าหาญและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยความละเอียดอ่อน และทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกต่อมา

ถอดความจาก http://www.smashinglists.com/worst-nuclear-accidents-disaster-in-history/

โพสต์เมื่อ : 24 กันยายน 2555