
การศึกษาชะตากรรมของโมเลกุลของน้ำชงชา ดังที่เล่ามาแล้วในเรื่องที่ 3 ได้เบิกทางให้แก่เฮเวชีในการศึกษาต่อ ๆ มา ซึ่งจะได้พิสูจน์ว่าระบบทางชีวภาพทั้งหลายของร่างกายคนเรานั้น มันดำรงอยู่ในภาวะที่เป็น พลวัตสมดุล (dynamic equilibrium) คำนี้ภาษาชาวบ้านคงทำนอง การคงตัวแบบที่มีความแปรเปลี่ยน คือเป็นแบบที่มีของใหม่ เข้ามาเปลี่ยนถ่ายของเก่าออกไปเท่า ๆ กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเฮเวชีได้เสนอแนวคิดนี้เป็นคนแรกและเสนออย่างฟันธง ไว้ในบทความเกี่ยวกับการใช้อินดิเคเตอร์กัมมันตรังสี มาศึกษาเมแทบอลิซึมของสารฟอสฟอรัสในหนู ชื่อบทความคือ Radioactive Indicators in the Study of Phosphorous Metabolism in Rats (Chievitz and Hevesy 1935) แต่มาวันนี้กลับเป็นการยาก ที่จะแสดงความชื่นชมบทความที่มีธรรมชาติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนี้บทความซึ่ง อุปมาว่าถึงขนาดเขย่าโลกแห่งวิชาชีววิทยาบทความซึ่ง อย่างน้อยมีใครคนหนึ่งท่องบ่นได้...เหมือนกับที่หลาย ๆ คนท่องจำบทกลอนที่มีชื่อเสียงได้ (Huggins 1965)
ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อว่า แฮรี เอส. ทรูแมน (Harry Truman) เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งใหม่ใด ๆ ในโลก แท้จริงก็คือประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้มาก่อน นี่แหละที่เฮเวชีต้องทั้งช็อคและประหลาดใจเมื่อได้รู้ว่า ที่จริงเขาไม่ใช่คนแรกของโลก ที่แจ้งประจักษ์ว่า ระบบต่าง ๆ ทางชีวภาพ ล้วนอยู่ใน สถานะคงตัวของการเปลี่ยนถ่าย (constant state of turnover) (Arrhenius 1996) โดยนักบุญทอมัส อะควินัส (St. Thomas Aquinas) ได้ข้อสรุปประการนี้มาตั้งแต่ 700 ปี ก่อนหน้าแล้ว ! นักปราชญ์ชาวอิตาลีท่านนี้ได้ต่อสู้กับประเด็นข้อสงสัยด้านเทววิทยาที่ว่า น่าจะเกิดอะไรขึ้น ในวันที่คนที่กินเนื้อคนหรือสัตว์ที่กินเนื้อพวกเดียวกันเอง (cannibal) กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา ? ร่างกายของคนเราจะถูกทดแทนอย่างไร หากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนคนนั้นได้มาจากอีกหลาย ๆ คน ? (แฟรงเกนสไตน์ ? ผู้แปล) ซึ่งข้อสรุปของนักบุญทอมัสมีตรรกะอย่างยิ่ง คือ เนื้อหนังมังสาของร่างกาย ไม่ได้เป็นอนุภาควัสดุที่เหมือนเดิมชั่วกาลปาวสาน (ซึ่ง) ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยกระบวนการกินและย่อย ร่างกายย่อมเป็นไปซึ่งการเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำอีก

St. Thomas Aquinas (Detail from a painting by Fra Angelico, 15th Century)
เฮเวชีคงจะรู้สึกผิดหวัง ที่เขา ไม่อาจอ้างได้อีกต่อไปว่า เขาเป็นเจ้าแรกของทฤษฎี ที่ครั้งหนึ่งเคย เขย่าโลก มาแล้ว แต่นับจากนี้ไปเขาก็จะพูดเรื่องนี้ได้อยู่เรื่อย ๆ ว่าตน ขอมอบเกียรติ ทั้งหมดให้แก่ท่านนักบุญทอมัส (Hevesy 1962)
หมายเหตุ : นักบุญทอมัส อะควินัส เกิดที่เมืองลอมบาร์ดีเมื่อราวปี 1225 เป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยาชาวอิตาลี ท่านได้ผสมผสานหลักศรัทธาทางเทววิทยาเข้ากับหลักปรัชญาของเหตุผล โดยถูกจัดเป็นนักคิดผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในหมู่ปัญญาชนของสมัยกลาง ท่านยังเป็นพระผู้ใหญ่ของนิกายโรมันแคทอลิกและเขียนหนังสือไว้มากมาย (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1274)
จากเรื่องชุด |
Tales from the Atomic Age |

|
เรื่อง |
Fourth Story: Hevesy and the Saint |
เขียนโดย |
Paul W. Frame |
เอกสารอ้างอิง
- Arrhenius, G. Personal communication; 1996.
- Chievitz, O. ; Hevesy, G. Radioactive indicators in the study of phosphorous in the metabolism in rats. Nature 136: 754; 1935.
- Hevesy, G. Adventures in radioisotope research. Vol I. Pergamon Press, New York; 1962.
- Huggins, C. A valentine for George Hevesy. Int. J. App. Radiation and Isotopes 16(9): 507; 1965.
|