Nuclear Science
STKC 2555

ตำนานจากยุคอะตอม
ตำนานสี่เรื่องของจอร์จ เดอเฮเวชี : เรื่องที่ 3 มาดื่มชากันเถอะ

โดย พอล เฟรม

ตำนานทั้งสี่เรื่องนี้เล่าไว้ครั้งแรกในจดหมายข่าวสมาคมนักฟิสิกส์สุขภาพ

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
ฝ่ายจัดการองค์ความรู้
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ฤดูใบไม้ผลิปี 1913 เป็นช่วงที่เฮเวชีอยู่ระหว่าง “ความดื่มด่ำกับการดื่มชาที่ห้องแล็บของภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์” กับ เฮนรี เจ.จี. โมสลีย์ (Henry J.G. Moseley) ผู้ (มีชื่อเสียง) เป็นอมตะ ครั้งหนึ่งของการร่วมวงดื่มชา กับการเสวนาทฤษฎีโน่นนี่เรื่อยเฉื่อย ที่ดูเหมือนฤดูใบไม้ผลิชักนำมาสู่ทั้งสองคน เฮเวชีก็ได้แสดงความปรารถนาของตนขึ้นว่าอยากจะ “ค้นหาชะตากรรมของแต่ละโมเลกุลของน้ำในถ้วยชาที่ดื่มเข้าไป” ซึ่งโมสลีย์ไม่คล้อยตามที่จะร่วมวงค้นหาไปตามจินตนาการที่โบยบินนั้น และในเรื่องนี้เฮเวชีบอกไว้ว่า “แม้แต่กับบุรุษผู้มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกล...อย่าง เอช.เจ.จี. โมสลีย์ ก็ยังพิจารณาว่า ความคิดหวังนี้เป็นไปได้แต่ในโลกพระศรีอาริย์” (Hevesy 1962) แต่คนที่ผิดคือโมสลีย์ เพราะต่อมาเฮเวชีคือผู้ที่สามารถจะเรียนรู้ถึงชะตากรรมของโมเลกุลของน้ำในถ้วยชาทำนองนองนั้นได้สำเร็จ โดยโมสลีย์ไม่ได้ร่วมทำด้วย—เขาถูกทหารตุรกี (มือปืน) แอบยิงจากระยะไกล และเสียชีวิตในสงครามที่อ่าวซัฟลา (Suvla Bay) เมื่อปี 1915 (ตอนนั้นคือสงครามโลกครั้งที่ 1)


เฮนรี เจ.จี. โมสลีย์ (http://kimia.cikgupaatz.com/wp-content/uploads/2010/07/11moseley.gif)

          วิธีที่จะค้นพบชะตากรรมอันลึกลับของน้ำชาที่ดื่มมาถึงในปี 1933 เมื่อแฮโรลด์ ยูรีย์ (Harold Urey) หาดิวเทอเรียมออกไซด์ 6 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำ (ที่เรียกว่าน้ำมวลหนัก หรือ heavy water) มาให้เฮเวชีได้หลายลิตร แต่เขาจะเอาน้ำที่ว่านี้มาชงน้ำชาดื่มจริงหรือเปล่านั้น ไม่มีบันทึกไว้ที่ไหน แต่แน่นอนว่าเฮเวชีกับคู่หู่เพื่อนดื่มน้ำชาคนไหม่ของเขา คือ อี. โฮเฟอร์ (E. Hofer) ทั้งคู่ช่วยกันตวงและซดน้ำที่ว่าคนละ 150 ซี.ซี. กับ 250 ซี.ซี.แล้วก็เพื่อให้แม่นยำจริง ๆ พวกเขาดื่มถึง 2000 ซี.ซี หลังจาก“การตรวจสอบปัสสาวะและสิ่งขับถ่ายอื่น 55 ตัวอย่าง และการระเหยมากกว่า 1000 ครั้ง” (Hevesy and Hofer 1934) การวัดด้วยวิธีโดยน้ำหนัก (gravimetric) ธรรมดา ๆ ก็เผยออกมาว่า น้ำในร่างกายมีรอบการเปลี่ยนปริมาณน้ำใหม่ “ครึ่งหนึ่ง” ในเวลา 9 วัน—นับเป็น “ครั้งแรก” ของการวัดที่ใช้ตัวแกะรอยไอโซโทปกับวิทยาศาสตร์คลินิก (การแพทย์) และจากการใช้กรรมวิธีการเจือจางไอโซโทปกับวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพเป็นครั้งแรกนี้ เฮเวชีและโฮเฟอร์สามารถประมาณปริมาณความจุของน้ำในร่างกายคนเราได้เท่ากับ 43 ลิตร ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า...

          เฮเวชีมีความประทับใจอย่างลึกซึ้งกับเกลอเก่าอย่างเฮนรี โมสลีย์ มากเพียงใด จนถึงกับ เขียน ระลึกถึง การดื่มชา อย่างติดอกติดใจเมื่อช่วง “ฤดูใบไม้ผลิ” ครั้งนั้น ในประโยคเปิดเรื่องของบทความที่เขาและโฮเฟอร์เขียนรายงานการค้นพบครั้งนี้ของพวกเขา

หมายเหตุ : เฮนรี เจ.จี. โมสลีย์ เกิดเมื่อปี 1887 เป็นนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เขาค้นพบหลักเกณฑ์ ที่สามารถใช้กำหนดเลขเชิงอะตอม (atomic number) ของธาตุได้ จากเสปกตรัมรังสีเอกซ์ของธาตุนั้น น่าเสียดายที่เขาต้องมาเสียชีวิตด้วยอายุเพียง 29 ปี ในระหว่างการเป็นทหารและออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1915

 

จากเรื่องชุด

— Tales from the Atomic Age —

เรื่อง

—Third Story: A Cup of Tea

เขียนโดย

—  Paul W. Frame

เอกสารอ้างอิง

  • Hevesy, G. and Hofer, E. Elimination of water from the human body. Nature 134: 879; 1934.
  • Hevesy, G. Adventures in radioisotope research. Vol I. Pergamon Press, New York; 1962.
โพสต์เมื่อ : 21 กันยายน 2555