Nuclear Science
STKC 2555

ตำนานจากยุคอะตอม
แอลซอสกับทอเรียมของนาซี

โดย พอล เฟรม

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

        ตำนานเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อว่า Alsos (แอลซอส) เขียนโดยแซมมวล กูดสมิต (Samuel Goudsmit) ของสำนักพิมพ์ เฮนรี ชูแมน อิงค์ (H. Schuman Inc.) นิวยอร์ก พิมพ์เมื่อปี 1947 โดยมาเผยโฉมในจดหมายข่าวสมาคมฟิสิกส์สุขภาพ (Health Physics Society Newsletter) ฉบับเดือนธันวาคม 1996


สมาชิกของแอลซอส กูดสมิต วอร์เดนเบิร์ก เวลช์ และเซซิล (ภาพของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา)

        เมื่อตอนต้นทศวรรษ 1940 สหรัฐอเมริกากำลังร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และความพยายามที่พิเศษเหนือธรรมดาภายใต้โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) กำลังดำเนินไปเพื่อสร้างลูกระเบิดอะตอม (atomic bomb) ขึ้นมาสักลูกหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปเลยเถิดถึงกับเที่ยวได้ริบเอายูเรเนียมออกไซด์ ที่ผู้ผลิตเซรามิกใช้สำหรับทำเคลือบเงาชนิดสีแดง/สีส้ม ทำให้นักสะสมหลายรายหัวเสีย ที่ขาดช่วงที่จะได้รับชุดถ้วยชามอาหารสีแดงของพวกเขา แต่เท่านี้ก็ยังเสียสละไม่พอ การริบยูเรเนียมออกไซด์ก็เกิดขึ้นเช่นกันในยุโรปส่วนที่ถูกเยอรมนียึดครองอยู่ เพื่อป้อนให้กับโครงการเอ-บอมบ์ (A-bomb project) เพื่อการผลิตลูกระเบิดอะตอมของกองทัพนาซี และในการตามติดร่องรอยของการวิจัยลูกระเบิดอะตอมของเยอรมนี ตกเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ใช้ชื่อรหัสว่า ALSOS (แอลซอส) จากภาษากรีกแปลว่า พุ่มไม้ ตามชื่อของหัวหน้าโครงการแมนแฮตตันคือ General Leslie Groves (นายพล เลสลี โกรฟส์) กล่าวคือคำว่า grove แปลว่า พุ่มไม้


นายพล เลสลี โกรฟส์

        ฤดูใบไม้ร่วงปี 1944 อันเป็นช่วงท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีมของแอลซอสก็สืบได้ว่า ในช่วงที่เยอรมนีเข้ายึดครองฝรั่งเศส บริษัทสารเคมีเยอรมันชื่อว่า เอาเออร์เกส์เซลชาฟท์ (Auer Gesselshaft) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหายูเรเนียมและกระบวนการผลิตยูเรเนียม ได้เข้าครอบครองกิจการบริษัทของฝรั่งเศสชื่อว่า แตร์ราร์ (Terres-Rares เป็นบริษัทผลิตแรเอิร์ทและทอเรียม) และอย่างน่าแคลงใจ บริษัทเอาเออร์ได้ทำการขนย้ายแร่ที่ใช้ผลิตทอเรียมจำนวนมหาศาลของบริษัทแตร์ราร์ ลงเรือกลับไปเยอรมนี อันน่าจะแสดงว่าเยอรมนีก้าวหน้าในการผลิตลูกระเบิดอะตอมไปมากเกินกว่าที่คาดไว้ ไม่นานหลังจากกรุงปารีสกลับเป็นอิสระ ทีมแอลอสก็เข้าไปตรวจสอบสำนักงานของบริษัทแตร์ราร์ ซึ่งพบแต่ความว่างเปล่า และนักเคมีของบริษัทเอาเออร์ที่ชื่อว่า พีเทอร์เซน (Petersen) ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหายูเรเนียมและทอเรียม ได้เผ่นหนีฝ่ายสัมพันธมิตรไปก่อนแล้ว (ในเอกสารชื่อว่า Now It Can Be Told เลสลี โกรฟส์ เรียกชายผู้นี้ว่า แจนเซน [Jansen])

        พีเทอร์เซนหายไปยังเมืองหนึ่งที่ชายแดนฝรั่งเศส-เยอรมนี เพื่อค้นหาตู้รถไฟบรรทุกทอเรียมจำนวนหนึ่งที่สูญหายไป และนับเป็นความโชคดี ที่เพียงไม่นานหลังจากพีเทอร์เซนไปถึง สัมพันธมิตรก็เข้ายึดพื้นที่แถบนั้นไว้ได้ แล้วแอลซอสก็ได้พีเทอร์เซนเป็นเชลยคนแรก—กับกระเป๋าเสื้อผ้าใบหนึ่งที่อัดแน่นด้วยเอกสาร ! เอกสารชิ้นหนึ่งเป็นของนักธุรกิจหญิงคนหนึ่ง ผู้ประกอบอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บนถนนของนครปารีส (sur les rues de Paris) ซึ่งพีเทอร์เซนอธิบายที่มาว่า ผู้หญิงคนนั้นเรียกเงินเขาแพงลิบลิ่วถึง 3000 ฟรังค์ ซึ่งที่จริง “ในเบอร์ลิน . . . นั่นก็แค่ 6 มาร์คครึ่งต่อครั้ง” เท่านั้น เขาบอกอีกว่า เขาหวังว่าสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมได้ (ใครกันเล่า) เพื่อจะได้ถอนทุนคืน ครั้นเมื่อทีมสอบสวนของแอลซอสลงไปสืบสอบตามถนน การณ์กลับปรากฏว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะทุกอย่างที่พีเทอร์เซนให้การไว้ พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงทุกประการ อย่างไรก็ดี เอกสารชิ้นที่น่าตกใจที่สุดในกระเป๋าใบนั้นเปิดเผยว่า ไม่นานมานี้เอง พีเทอร์เซนเพิ่งจะไปโผล่ที่ เมืองเฮชิงเงน (Hechingen) เมืองที่เล่าลือกันว่าเป็นศูนย์การวิจัยด้านอะตอม ภายหลังจึงได้รู้ว่า พวกเยอรมันตั้งห้องปฏิบัติการที่นั่นสำหรับหน่วยสกัดแยกไอโซโทป และในถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ ๆ ยังพบว่ามีไพล์ในขั้นทดลองอยู่ด้วย (สมัยนั้นยังเรียกเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ว่า ไพล์—หมายถึง “กอง (แกรไฟต์ฝังด้วยยูเรเนียม)”) ต่อมาภายหลังเมื่อพื้นนี้ถูกสัมพันธมิตรเข้ายึดครอง ก็พบว่ามีก้อนลูกบาศก์โลหะยูเรเนียมจำนวนมากที่ได้มาจากไพล์ โดยมีน้ำหนักรวมกันราวหนึ่งตันครึ่ง (น่าจะผลิตโดยบริษัทเอาเออร์) ถูกฝังอยู่ในสนามใกล้ ๆ แต่พีเทอร์เซนอธิบายถึงการเดินทางของเขาไปยังเมืองเฮชิงเงนว่า เขาไปเยี่ยมมารดาของเขา (ไม่ต้องสงสัย เขาต้องการหาว่าจะเอาเงิน 3000 ฟรังค์ กลับคืนมาได้อย่างไรมากกว่า) ที่สำคัญคือ มารดาของเขาอาศัยอยู่ที่นี่จริงเสียด้วย

        ในที่สุดความพากเพียรของแอลซอสก็มีผลตอบรับ พวกเขาค้นพบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมทอเรียมที่แตร์ราร์สั่งซื้อมา จึงถูกเอาเออร์ยึดเอาไว้ ก็คือ แอลซอสพบว่า บริษัทเอาเออร์เกส์เซลชาฟท์ตระหนักดีว่าสงครามใกล้ยุติ และธุรกิจยูเรเนียมของตนจะต้องยุติลงด้วย จึงได้ข้อสรุปอนาคตของบริษัทว่า ไม่มีทางใดจะดีไปกว่าการหันไปหาธุรกิจเครื่องสำอาง กับสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่อง โดยที่เห็นว่ายาสีฟันผสมเรเดียม (ยี่ห้อ Radiogen) ก็มีผลิตแล้ว จึงคิดจะผลิตยาสีฟันที่ใช้ทอเรียมผสมแทนเรเดียม ซึ่งยาสีฟันสูตรนี้บริษัทเอาเออร์ศึกษาและได้ขอสิทธิบัตรไว้แล้ว และในเมื่อทอเรียมที่ยึดมาก็มีอยู่ในมือ พอสงคราเลิก พวกเขาก็พร้อมออกวิ่งทันที ไม่เพียงนี้ พวกเขายังได้เตรียมโฆษณาที่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จเอาไว้แล้วเสร็จสรรพ “ใช้ยาสีฟันผสมทอเรียม เพื่อฟันที่เปล่งประกายสุกใส—สุกใสดั่งเปล่งรังสี” และนี่เองที่บริษัทเอาเออร์ได้ถือโอกาสยึดเอาแร่ทอเรียมดังกล่าวมาจากแตร์ราร์ของฝรั่งเศส

        เรื่องก็มีเท่านี้เอง แต่ก็เล่นเอาสหรัฐอเมริกาต้องหัวปั่นอยู่เป็นปี

จากเรื่องชุด

— Tales from the Atomic Age —

เรื่อง

—Alsos and the Nazi Thorium

เขียนโดย

—  Paul W. Frame

 

โพสต์เมื่อ : 27 สิงหาคม 2555