Nuclear Science
STKC 2555

ตำนานจากยุคอะตอม
ตำนานของเอมิล กรูเบ (ตอนที่ 2)

โดย พอล เฟรม

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

   ตอนที่ 2

          ตอนที่ 1 ของตำนานนี้เล่าถึงการอ้างสิทธิ์ของ เอมิล กรูเบ ในวารสารรังสีวิทยาฉบับเดือนสิงหาคม 1933 ว่าเขาเป็นบุคคลแรกที่ใช้รังสีเอกซ์เพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาโรค (employ x rays for therapeutic purposes) บุคคลแรกที่ได้รับบาดเจ็บจากรังสีเอกซ์ (injured by x rays) ตลอดจนเป็นบุคคลแรกที่ใช้กำบังรังสี (shielding) กรูเบประกาศว่าเขาน่าจะอ้างสิทธิ์ได้เร็วกว่านี้ จากข้อเท็จจริงที่ว่า เขาเพิ่งค้นเจอหลักฐานสนับสนุนที่จำเป็นเมื่อยิ่งเร็ว ๆ นี้เอง หลักฐานที่ว่าได้แก่ จดหมาย 2 ฉบับ ที่ลงชื่อโดยนายแพทย์ผู้ส่งตัวคนไข้มารับการรักษาจากกรูเบ นับแต่นั้นมา นักเขียนมากมายก็ยอมรับและถ่ายทอดเรื่องของกรูเบออกไปอีกต่อหนึ่ง แต่แปลกมาก ที่คนอีกมากยังคงรักษาความนิ่งเงียบ ต่อการอ้างอันทรงเกียรติของกรูเบเอาไว้อย่างเห็นได้ชัด อะไรกำลังจะดำเนินต่อไป ? การคบคิดกระนั้นหรือ ?
หลาย ๆ ปีหลังจากนั้นมา อาการเจ็บป่วยจากรังสีของของเอมิล กรูเบ ทิ้งความอัปลักษณ์แก่เขาอย่างสาหัส ทำให้เขาต้องเก็บเนื้อเก็บต้ว แม้กับแขกที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความเห็นอกเห็นใจ ก็พบปะกันโดยกรูเบซ่อนอยู่หลังฉากกั้น ความคิดประการหนึ่งที่พยุงเขาไว้ตลอดเวลาอันเปล่าเปลี่ยวของเขาก็คือ เขาได้มีที่ยืนอันยั่งยืนในประวัติศาสตร์รังสีวิทยาแล้ว
เพื่อให้ตำแหน่งในประวัติศาสตร์นี้มีความมั่นคง กรูเบจึงได้ตีพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับงานของเขาเพิ่มเติม พร้อมกับสำทับสิทธิ์ความเป็นคนแรกเข้าไปอีกถึงการรักษาด้วยรังสีเอกซ์—ทั้งจุดเริ่มต้น การถือกำเนิด และประวัติศาสตร์ตอนต้น [Grubb? 1949] แม่ว่าในขณะนั้นการเร่งเร้าอย่างไม่หยุดยั้งให้กล่าวถึงเพิ่มขึ้น จะชักนำเป็นครั้งสุดท้ายให้เขาต้องกระทำสิ่งโง่ ๆ นั่นคือ เขาทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติของเขาให้แก่มหาวิทยาลัยชิคาโก โดยมีเงื่อนไขว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเขียนและตีพิมพ์ชีวประวัติของเขา
ข้อเสียก็คือ ชีวประวัติของกรูเบจะเขียนขึ้นเมื่อเขาสิ้นชีวิตไปแล้ว และดังนั้น จิตเขาไม่อาจสงบขณะสิ้นใจจากมะเร็งที่แพร่กระจาย (metastatic cancer) สี่ปีต่อมาในปี 1964 ชีวประวัติของกรูเบก็เขียนเสร็จ แต่ไม่ใช่ชีวประวัติอย่างที่กรูเบจ่ายเงินไว้ให้—นักเขียนชีวประวัติชื่อว่าพอล ฮอดจิส (Paul Hodges) ได้ล้วงลึกตำนานของกรูเบอย่างแทงตลอด [Hodges 1964]
การที่ตำนานนี้มีเรื่องราวที่รุ่มรวยและแพร่ขยาย ซึ่งแพร่ขยายเกินกว่าจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้ได้ แต่เพื่อให้พอเข้าใจถึงภาระอันห้าวหาญที่ฮอดจิสต้องเผชิญ รายละเอียดเรื่องของกรูเบสักสองสามเรื่อง น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาพิจารณาไว้ในที่นี้ รวมถึงผลลัพธ์จากความพยายามของฮอดจิสในการทวนสอบเรื่องเหล่านี้
ยกตัวอย่างที่กรูเบอ้างสิทธิ์ว่า เขาค้นพบการสะสมตัวของทองคำขาวหรือแพลทินัมในแม่น้ำ Snake River ในไอดาโฮ และว่าเขาใช้แพลทินัมนี้ภายในหลอดรังสีเอกซ์ของเขา รวมถึงในการผลิตแบเรียมแพลทิโนไซยาไนด์ (barium platinocyanide) สำหรับทำฟลูออโรสโคป (fluoroscope มีศัพท์บัญญัติว่า เครื่องกำเนิดภาพรังสีหรือรังสีทรรศน์) ของเขา แต่ประหลาดว่า ฮอดจิสค้นไม่พบบันทึกใดเลย ว่าเคยมีการทำเหมืองแพลทินัมในไอดาโฮ—โดยพบเพียงปริมาณน้อย (trace) ในบริเวณนี้ อีกเรื่องที่กรูเบอ้างสิทธิ์ก็คือ เขาเคยใช้เตาเผาไฟฟ้า (electric furnace) ในกระบวนการผลิตแพลทินัม และยังเคยใช้เตานี้มาผลิตเพชรเทียมด้วย กรณีนี้ในแง่สิทธิบัตรดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่าละอาย เพราะในการผลิตเพชร อุณภูมิและความดันที่ต้องการ สูงเกินกว่าอุปกรณ์ในครัวเรือนของกรูเบจะทำได้อย่างลิบลับ กรูเบยังบอกไว้ว่าระหว่างปี 1895-1898 นี้ เขาได้เดินทางไปโคโลราโด บริติชโคลัมเบีย บราซิล คองโก และแอฟริกาใต้ แต่เมื่อพิจารณาถึงการเดินทางในช่วงปี 1890 ซึ่งยังช้ามาก จึงน่าสังเกตว่า นักศึกษาแพทย์เต็มเวลาที่รับผิดชอบการสอนด้วย สามารถจะเดินทางไปได้ถึงสามทวีป แล้วยังมีเวลาเหลือมาทำการรักษาผู้ป่วยหลายร้อยรายด้วยการใช้รังสีเอกซ์ที่กำลังรุดหน้า อย่างที่เขากล่าวอ้าง
แม้การอ้างหลายประการของกรูเบจะ “ผิดพลาดอย่างโต้ง ๆ” ดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ต้องสงสัยว่า เขาเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในสิ่งที่เขาพูด—แม้แต่กับการอ้างสิทธิ์ที่ประหลาดวิตถารที่สุดของเขาก็ตาม ยกตัวอย่างกรูเบเชื่ออย่างจริงใจว่า ในปี 1903 เขาได้บุกเบิกการรักษาโรค ด้วยไอโซโทปรังสีทำขึ้นหรือไอโซโทปรังสีประดิษฐ์ (artificial radioisotopes) นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ถูกบีบอย่างหนัก ให้ยอมรับการอ้างสิทธิ์นี้ เพระว่าการผลิตไอโซโทปรังสีประดิษฐ์ยังไม่เกิดขึ้นเลยจนกระทั่ง ค.ศ. 1934—ผลงานที่เฟรเดริกและอีแรน โชลีโย-กูรี (Frederick and Irene Joliot-Curie) ได้รับรางวัลโนเบล แต่กระนั้น กรูเบก็ยึดมั่นถือมั่นความเห็นของเขาก็เพราะเขาเชื่อว่า สตรอนเชียมที่เขาใช้กับคนไข้ของเขา กลายเป็นสารกัมมันตรังสีขึ้นมาเมื่อเขานำไปรับรังสีเอกซ์ (อันที่จริง วัสดุทั้งหลายที่ได้รับรังสีเอกซ์ ล้วนปลดปล่อยรังสีเอกซ์ลักษณะเฉพาะ [characteristic x rays] ของตัวมันเอง ออกมา) กรูเบเองฉุนมากที่ความสำเร็จยิ่งใหญ่นี้ได้รับการยอมรับเพียงเล็กน้อย—“ผมไม่เห็นใครอ้างอิงงานบุกเบิกของผม [สตรอนเชียมรังสี] เลย” และเขาระบุว่าทั้งจอห์น ลอว์เรนซ์ (John Lawrence) และรอเบิร์ต สโตน (Robert Stone) ว่าเขาไม่ยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิก แต่เรื่องนี้ช่างเถอะ เพราะกรูเบไม่ใช่คนเดียวที่รับไม่ได้ “บางทีกรณีนี้เกิดจากการมองผลงานสองคนนี้แค่ผ่าน ๆ ดังนั้นผมควรยกโทษให้พวกเขา” [Grubb? 1949]
โชคดีของกรูเบที่พอล ฮอดจิส ผู้เขียนชีวประวัติของเขา ที่แม้จะตั้งแง่สงสัย แต่เขาก็มีความยุติธรรมพอ ฮอดจิสยอมรับว่าจากตัวอย่างข้างต้น ไม่ว่าจะเรื่องที่แต่งเติมขึ้นหรือเรื่องโง่ ๆ ทั้งหลาย ไม่ได้บอกว่ากรูเบเองกำลังโกหกหรือตบตา ในส่วนพื้นฐานที่สุดของเรื่องของเขา—ที่ว่าเขาเป็นบุคคลแรก ที่ใช้รังสีเอกซ์ในการรักษาโรค เพื่อประเมินค่าส่วนนี้ของตำนานกรูเบ ฮอดจิสดำเนินการตรวจสอบเป็นสามเส้นทาง
เส้นทางแรก เพื่อหาว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับนางโรส ลี กับนาย เอ. คาร์ ซึ่งเป็นคนไข้คนแรก ๆ ของกรูเบ แต่แม้จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ฮอดจิสก็ไม่สามารถหาข้อมูลใด ๆ เลย นอกเหนือจากคำประกาศของกรูเบที่ให้ไว้ ในทำนองเดียวกัน การค้นคว้าอย่างเข้มข้นของนักประวัติศาสตร์ชื่อแนนซี ไนต์ (Nancy Knight) ก็ล้มเหลวที่จะหาเอกสารอ้างอิงถึงนางโรส ลี กับนาย เอ. คาร์ หรือใครที่คล้ายกับสองคนนี้ [Knight and Wilson 1996] โดยสรุปคือ ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าบุคคลทั้งสองนี้มีตัวตน
เส้นทางตรวจสอบเส้นทางที่สองของฮอดจิส เพื่อหาว่าหมอกิลแมนที่ตั้งสมมติฐานกัน ว่าเป็นคนแรกที่เสนอแนะว่า รังสีเอกซ์น่าจะมีคุณค่าด้านการรักษาโรคได้ หรือกับหมอลัดลัมกับหมอแฮลไฟด์ที่ถูกอ้างว่า ได้ส่งตัวคนไข้มารับการบำบัดรักษาจากกรูเบนั้น ทั้งสองคนได้เคยพูดอะไรไว้บ้าง ที่อาจรับรองเรื่องของกรูเบ ผลลัพธ์เป็นอีกหนึ่งหมัดที่ซัดโครมเข้าที่ความน่าเชื่อถือของกรูเบ เพราะว่าค้นไม่พบถ้อยแถลงใด ๆ เลย และแม้แต่ถ้อยความบางส่วนเสี้ยวที่ยืนยันเหตุการณ์อย่างที่กรูเบอ้าง
ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ถ้อยแถลงที่เป็นผลร้ายที่สุดที่ค้นเจอ กลับหลุดออกจากปากของเอมิล กรูเบเสียเอง ซึ่งเขาพูดไว้เมื่อปี 1901 ที่งานประชุมวิชาการงานหนึ่ง โดยกรูเบได้ตอบโต้บทความที่เสนอโดยใครไปไม่ได้นอกจากนายแพทย์กิลแมนนั่นเอง ทั้งที่ไม่มีโอกาสอันใดจะดียิ่งไปกว่านี้สำหรับกรูเบ ที่จะบอกเล่าเรื่องของเขา—เรื่องการรักษาด้วยรังสีเอกซ์ และกรูเบกำลังอ้างถึงผู้ที่ให้คำแนะนำ ที่ได้นำไปสู่การใช้รังสีเอกซ์เพื่อการรักษาโรคเป็นครั้งแรก ! แต่ดูเหมือนคำพูดของกรูเบจะฟ้องตัวมัเองอยู่แล้ว “ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ไม่มากนัก กับการใช้รังสีเอกซ์เพื่อรักษาโรคมะเร็ง อันที่จริง ข้าพเจ้าได้ทำการรักษาไปหลายรายด้วยกรรมวิธีทางไฟฟ้า” [Brecher and Brecher 1969]
ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ข้อสรุปประการเดียวที่เป็นไปได้ดูเหมือนจะได้แก่ เรื่องของกรูเบทั้งหมดล้วนไม่จริง ยกเว้นก็แต่สารัตถะที่เกี่ยวกับจดหมาย ที่ลงชื่อและวันที่โดยหมอลัดลัมและหมอแฮลไฟด์—จดหมายส่งตัวนางลีกับนายคาร์มารับการรักษาด้วยรังสีเอกซ์กับกรูเบ
เพื่อหาว่าจดหมายเป็นของปลอม หรือเป็นเครื่องพิสูจน์ของการอ้างสิทธิ์ของกรูเบที่เชื่อถือได้ ฮอดจิสจึงได้ร้องขอไปยังสถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่ซึ่งกรูเบได้ยกจดหมายทั้งสองฉบับไว้ให้ เพื่อให้ยื่นขอให้เอฟบีไอทำการวิเคราะห์ ซึ่งถึงแม้ว่าการวิเคราะห์อาจทำลายจดหมาย และเหลือแต่เศษซากที่ใช้เพื่อการศึกษาในอนาคตไม่ได้ แต่สมิทโซเนียนก็กลับเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย
ผลลัพธ์น่ะหรือ ? เอฟบีไอสรุปว่า ตามสำนวนการเขียน น้ำหมึก และกระดาษ เอกสารทั้งคู่สอดคล้องด้วยประการทั้งปวงกับสิ่งที่พวกมันควรจะเป็น จดหมายเขียนขึ้นในกลางทศวรรษ 1890 อย่างแน่นอน เอฟบีไอยังสรุปด้วยว่า ลายมือและลายเซ็นบนจดหมายของลัดลัมมีเอกลักษณ์ตรงกับตัวอย่างลายมือของลัดลัมที่มีอยู่ ! ผลการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายนี้ บีบให้ฮอดจิสต้องยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกรูเบ ว่าเป็นบุคคลแรกที่ใช้รังสีเอกซ์เพื่อความมุ่งหมายทางการรักษาโรค
แม้กระนั้น คนอื่น ๆ ยังคงไม่เชื่อ ยกตัวอย่าง รูทและเอดเวิร์ด เบรเชอร์ [Ruth and Edward Brecher, 1969] เห็นว่ากรูเบมีแนวโน้มว่าจะโหกและพูดเกินจริง โดยทั้งคู่สรุปว่า จดหมายทั้งสองฉบับต้องปลอม ซึ่งบางทีอาจกทำขึ้นโดยร่วมกันกับหมอลัดลัมเสียเอง
แต่ว่าประวัติศาสตร์ในสายตาของคนที่ดูอยู่ข้างนอก และจากการตรวจสอบหลักฐานล่าสุดโดยแนนซี ไนต์ กลับอยู่ข้างกรูเบ [Knight and Wilson 1996] เธออธิบายว่า “การคุยโวของกรูเบ อาจทำให้เขาไม่เป็นผู้บุกเบิกที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง แก่ผู้ร่วมงานทางการแพทย์ของเขา จนบังตาพวกเขาให้ไม่เห็นคุณค่า (แม้ไม่ทั้งหมด) ที่พอมีอยู่บ้าง ของการอ้างสิทธิ์ของเขา รวมถึงผลงานที่เป็นนวัตกรรมในสาขาด้วย” (เธอ "เน้น" [สำนวนภาษาอังกฤษใช้ว่า "my italics"])
หากฮอดจิสและไนต์เป็นฝ่ายถูก ก็ไม่มีอะไรให้ตีรวนต่อข้อเท็จจริงที่ว่า บิดาแห่งการบำบัดรักษาด้วยรังสี (father of radiotherapy มิพักต้องเอ่ยถึง การเป็นคนแรกที่ได้รับบาดเจ็บจากรังสีเอกซ์ คนแรกที่ใช้กำบังรังสี และผู้ประดิษฐ์ฟลูออโรสโคปเป็นคนแรก) ย่อมได้แก่ผู้ที่มีนิสัย “หยาบคาย และใจร้ายเป็นพื้น” บุรุษผู้ “เป็นศัตรูและเถียงทะเลาะไม่หยุดหย่อน” แม้กับ “นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และผู้จัดการโฆษณา” ในฝ่ายของตัวเอง แล้วยัง “หยิ่ง ขี้อวด [และ] ขี้โกหก” แต่แม้ว่าไม่ค่อยจะคล้อยตามฮอดจิสและไนต์ ที่จะยกประโยชน์การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นคนแรกให้กับกรูเบ เพราะยังมีข้อกังขาอยู่ก็ตาม แต่ทุกวันนี้เมื่อเข้าไปอยู่ในหมู่นักรังสีรักษา (therapeutic radiologists) ย่อมรู้ดีว่า ก็ต้องยกเกียรติให้เป็นของกรูเบ เพราะพวกนี้ทุกคนเห็นตามกรูเบกันทั้งนั้น (แต่ลับหลังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ขอบอก)

จากเรื่องชุด

— Tales from the Atomic Age —

เรื่อง

— The Legend of ?mil H. Grubb?

เขียนโดย

—  Paul W. Frame

เอกสารอ้างอิง

  • Brecher, R.; Brecher, E. The rays—A history of radiology in the United States and Canada. Baltimore, MD: William and Wilkins Company; 1969.
  • Brucer, M. A. Chronology of nuclear medicine. St. Louis: Heritage Publications, Inc.; 1990.
  • Feldman, A. A sketch of the technical history of radiology from 1896 to 1920. RadioGraphics 9(6):1113-112X; 1989.
  • Grubb?, E.H. Priority in the therapeutic use of x rays. Radiology XXI: 156-162; August 1933.
  • Grubb?, E.H. Who was the first to make use of the therapeutic qualities of the x ray? Radiological Review XXII: 184-187; August 1933.
  • Grubb?, E.H. X-ray treatment—Its origin, birth and early history. St. Paul and Minneapolis, MN: Bruce Publishing Company; 1949.
  • Hodges, P.C. The life and times of Emil H. Grubb?. Chicago: University of Chicago Press; 1964.
  • Knight, N.; Wilson, J.F. The early years of radiation therapy. In: A history of the radiological sciences. McLennan, B. and Gagliardi, R.A., eds. Vol. 1. Reston, VA: Radiology Centennial Inc.; 1996.
  • Morgan, K.Z.; Turner, J.E. Principles of radiation protection - A textbook of health physics. New York: John Wiley and Sons, Inc.; 1967.
  • Mould, R.F. A century of x rays and radioactivity in medicine. Bristol: Institute of Physics Publishing; 1993.
  • Osborne, S.B.; Ellis, R.E. Protection from ionizing radiation. In: science of ionizing radiation. Etter, L.E., ed. Charles C Thomas; Springfield; 1965.
  • The assistance of Nancy Knight and Wendell Stampfli is gratefully acknowledged.
โพสต์เมื่อ : 17 กรกฎาคม 2555