Nuclear Science
STKC 2555

ตำนานจากยุคอะตอม
ตำนานของเอมิล กรูเบ (ตอนที่ 1)

โดย พอล เฟรม

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อารัมภบท

          สิงหาคม 1933 “จากจุดยืนทางประวัติศาสตร์โดยบริสุทธิ์ ผมสัญญาว่า บทความ (ฉบับต่อไป) จะเป็นหนึ่งในเอกสารว่าด้วยรังสีเอกซ์ที่สำคัญที่สุด” –เอมิล เอช. กรูเบ (?mil H. Grubb?) วารสารรังสีวิทยาปริทัศน์ (The Radiological Review) [Grubb? 1933a]
ข้อความต่อไปนี้คัดมาจากบทความตามที่เอมิล กรูเบสัญญาไว้ และเขาไม่ได้ทำให้ใครผิดหวัง “ภายใต้ขอบเขตแห่งสารัตถะที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ (การค้นพบรังสีเอกซ์) ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การอวดอ้างของบุคคลอื่น ๆ ว่าเป็นบุคคลแรกที่นำรังสีเอกซ์มาใช้ในการบำบัดรักษาโรค ไม่ใช่สิ่งน่าท้าทายอีกต่อไป . . . หลังจากได้รอคอยมาเเกือบสี่ทศวรรษ ผมก็อยู่ในฐานะที่จะอ้างสิทธิ์ของตัวเองได้ . . . และเพื่อจะได้รับเกียรตินี้เสียที เกียรติซึ่งตลอดหลายปีมานี้ ผมรู้สึกว่าควรเป็นของผม” [Grubb? 1933b] และนี่คือการประกาศเพื่ออ้างสิทธิ์ของเขา ! ซึ่งข้อแถลงของกรูเบเป็นดังนี้...

  1. ว่าเขาเป็นคนแรกที่เป็นผิวหนังอักเสบ (dermatitis) อันเป็นผลจากการได้รับรังสีเอกซ์ (เออ ! ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าอวดอ้างอะไรสักหน่อย แต่ลองดูข้อต่อ ๆ ไปสิ)
  2. ว่าเขาเป็นคนแรกที่ใช้รังสีเอกซ์ในการบำบัดรักษาโรค
  3. ว่าเขาเป็นบุคคลแรกที่ใช้ตะกั่วสำหรับป้องกันรังสีเอกซ์

          แต่ว่าถึงตรงนี้ เราคงกำลังไปข้างหน้าเร็วเกินไป บางทีเราน่าจะกลับมาเริ่มใหม่แต่ต้น

   ตอนที่ 1

          มกราคม 1896 ตอนนั้นที่เอมิล กรูเบเพิ่งรู้ว่าเรินต์เกนได้ค้นพบรังสีเอกซ์ ซึ่งก็ช่างเป็นเรื่องบังเอิญเสียจริง ด้วยว่ากรูเบก็กำลังทำการทดลองด้วยหลอดของครูกส์ (Crookes tubes) อยู่พอดี ! ความที่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในครอบครอง และคุ้นเคยกับวิธีการใช้อุปกรณ์เป็นอย่างดี กรูเบจึงสมบูรณ์พร้อมในฐานะที่จะริเริ่มการตรวจสอบรังสีเอกซ์ของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น เขาไม่เพียงเคยใช้หลอดของครูกส์เท่านั้น เขายังเคยผลิตหลอดชนิดนี้ขึ้นเองด้วย และเขายังค้นพบว่าเขาสามารถผลิตรังสีเอกซ์ให้ได้สูงสุด โดยการค่อย ๆ ปรับระบบสุญญากาศ ระหว่างการดูดอากาศออกจากหลอดแต่ละหลอด กรูเบวัดผลลัพธ์ได้จากการดูภาพรังสีเอกซ์ของมือตัวเองที่ปรากฏบนฉากเรืองแสง (fluorescent screen) เมื่อภาพแสดงว่าผลิตรังสีเอกซ์ได้สูงสุดแล้ว กรูเบก็หยุดดูดอากาศออกจากหลอด
ฉากเรืองแสงประกอบจากแบเรียมแพลทิโนไซยาไนด์ฉาบบนก้นของกล่องหมวก ที่แขวนจากเพดานด้านหน้าของหลอด ตามที่กรูเบอ้างว่าอุปกรณ์นี้ (กล่องหมวกฉาบแบเรียมแพลทิโนไซยาไนด์ที่ก้น) ก็คือฟลูออโรสโคป (fluoroscope มีศัพท์บัญญัติสาขาแพทย์ศาสตร์ว่า เครื่องกำเนิดภาพรังสีหรือรังสีทรรศน์) เครื่องแรก—สิ่งประดิษฐ์ที่มักยกให้ว่าผู้ประดิษฐ์ได้แก่ ซาลวีโอนี ! (Salvioni) หรือไม่ก็เอดิสัน ! (Edison)
โชคร้ายที่การรับรังสีที่มืออยู่เป็นประจำของกรูเบ เป็นผลให้เกิดเจ็บป่วยจากอาการผิวหนังอักเสบ (dermatitis) แล้วการอักเสบก็รุนแรงขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1896 กรูเบต้องไปขอคำปรึกษาจากนายแพทย์ เจ.พี. คอบบ์ (J.P. Cobb) สมาชิกคนหนึ่งของคณะแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ฮาห์เนมันน์ (Hahnemann Medical School) ในชิคาโก ซึ่งกรูเบเคยเรียนที่นั่น ระหว่างคอบบ์กำลังตรวจกรูเบ นายแพทย์ เจ.อี. กิลแมน (J.E. Gilman) หมออีกคนในคณะที่ฮาห์เนมันน์ ก็อยู่ที่นั่นด้วย และให้ความเห็นว่า อะไรก็ตามที่สามารถทำให้เซลล์เกิดความเสียหายได้มากขนาดนี้ มีความเป็นไปได้สำหรับนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้ อีกคนที่อยู่ที่นั่นด้วยคือ นายแพทย์ อาร์. ลัดลัม (R. Ludlum) ที่รู้สึกประทับใจมากกับข้อเสนอแนะของกิลแมน เขาจึงขอร้องกรูเบให้ช่วยรักษาคนไข้ของเขา ที่ป่วยเป็นมะเร็งที่หน้าอกข้างซ้ายซึ่งรักษาไม่หาย
เวลา 10:00 น. ของเช้าวันพุธที่ 29 มกราคม 1896 คนไข้ของหมอลัดลัมชื่อว่านางโรส ลี (Mrs. Rose Lee) ก็มาที่ห้องทำงานของกรูเบเพื่อรับการรักษา “ดังนั้น โดยไม่มีเสียงเป่าปี่ตีกลองฉลอง การบำบัดรักษาด้วยรังสีเอกซ์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา” “ข้าพเจ้าแทบไม่ตระหนักเลยว่า ตัวเองกำลังก่อให้เกิดแสงอันสว่างโชติช่วงให้แก่เส้นทางสายใหม่ . . . ข้าพเจ้าแทบไม่ตระหนักเลยว่า นี่คือการเริ่มต้นของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์ของการแพทย์” เอมิล กรูเบเขียนเอาไว้อย่างนั้น [1933b]
นอกเหนือจากการเป็นการรักษาด้วยรังสีเอกซ์เป็นครั้งแรกแล้ว โอกาสนี้ยังต้องตราไว้ด้วยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้กำบังรังสี (shielding) เพื่อป้องกันผลของรังสีที่เป็นอันตราย—“จำผิวหนังอักเสบของข้าพเจ้าได้หรือไม่ ในการรักษานี้ ข้าพเจ้าได้ใช้ตะกั่วสำหรับป้องกันร่างกายส่วนที่ปกติดีของคนไข้” [Grubb? 1933b]
วันถัดมากรูเบก็รักษาคนไข้คนที่สองของเขา คือ นาย เอ. คาร์ (A. Carr) ซึ่งถูกส่งต่อมาจากนายแพทย์ เอ.ซี. แฮลไฟด์ (A.C. Halphide) ซึ่งเป็นหมออีกคนหนึ่งนอกจากหมอลัดลัมและหมอกิลแมน ที่อยู่ด้วยขณะหมอคอบบ์กำลังตรวจมือของกรูเบ
สองสามปีหลังเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ระเหยหายไป เพื่อให้แน่นอนสักหน่อยก็ต้องว่าในปี 1901 ในปีนั้น การต่อล้อต่อเถียงอย่างรุนแรงก็ระเบิดขึ้นระหว่างกรูเบกับ เอช.พี. แพรตต์ (H.P. Pratt) ซึ่งทั้งคู่เป็นสามาชิกของสมาคมการรักษาด้วยไฟฟ้าแห่งชิคาโก (Chicago Electromedical Society) และแพรตต์อ้างว่า ตัวเขาต่างหาก ไม่ใช่กรูเบ จึงเป็นบุคคลแรกที่ใช้รังสีเอกซ์เพื่อความมุ่งหมายในรักษาโรค นี่เป็นสงครามด้วยปากอย่างแท้จริง ! การทะเลาะกันครั้งนี้รุนแรงขึ้นถึงขั้นสมาคมแตกแยกเป็นฝักฝ่าย และ เอช.พี. แพรตต์ คนนี้เอง ที่เป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่มีชื่อว่า “นักปล้นวิชาชีพการรักษาด้วยไฟฟ้า” (professional electro-therapeutic hijackers) ซึ่งต่อมาสามารถกุมบังเหียนวารสารรังสีเอกซ์อเมริกัน (American X-Ray Journal วารสารเล่มแรกของทวีปอเมริกาเหนือที่อุทิศแก่งานวิทยาศาสตร์ด้านรังสีวิทยา) และเกือบทำลายสมาคมเรินต์เกนแห่งสหรัฐอเมริกา (Roentgen Society of the United States) ที่ต่อมากลายมาเป็นสมาคมรังสีเรินต์เกนแห่งสหรัฐอเมริกา (American Roentgen Ray Society) [Brecher and Brecher 1969]
สิ่งที่ตามมาหลังจากการเถียงทะเลาะกับแพรตต์ ดูเหมือนว่ากรูเบจะละเลิกประเด็นว่าใครก่อนใครหลัง ดังเขากล่าวในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยรณรงค์เพื่ออ้างการเป็นคนแรกของข้าพเจ้า. . . เพราะเป็นที่ยอมรับเป็นทางการอยู่แล้ว” อีกทั้งกรูเบยังมีแนวโน้มว่า ไม่ปิดซ่อนความรู้สึกที่เขาเชื่อว่า เอกสารสนับสนุนของเขาถูกเผาทิ้งไปแล้ว นับเป็นความสูญเสียที่ทำให้การอ้างสิทธิ์ของเขาต้องยากเย็นแสนเข็ญ
แต่ในปี 1933 สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงอย่างกับในนิยาย ! ที่ก้นของถังซึ่งที่จริงไหม้ไฟไปเพียงบางส่วน กรูเบค้นเจอเอกสารที่เขาคิดว่าถูกทำลายไป ได้แก่จดหมายเขียนด้วยลายมือและลงวันที่ชัดเจนสองฉบับ ฉบับแรกซึ่งสำคัญกว่า มาจากหมอลัดลัม ขอส่งตัวนางโรส ลี (Mrs. Rose Lee) ให้แก่กรูเบเพื่อรับการรักษาด้วยรังสีเอกซ์เป็นรายแรก

 

อี.เอช. กรูเบ

 

12 ถนนแปซิฟิก

 

 

เรียน คุณหมอที่เคารพ

 

ด้วยจดหมายฉบับนี้ ขอส่งตัวนางโรส ลี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ทรวงอกด้านซ้าย

 

ผู้ป่วยยินดีรับการรักษาด้วยรังสีเอกซ์จากคุณหมอ

 

ผมหวังว่าคุณหมอสามารถให้การรักษาแก่ผู้ป่วยนี้ได้

 

 

ขอแสดงความนับถือ

 

นายแพทย์ อาร์. ลัดลัม

 

28 มกราคม 1986

          จดหมายอีกฉบับหนึ่ง หมอแฮลไฟด์ส่งตัวผู้ป่วยคนที่สองให้กรูเบ
เมื่อมีหลักฐานที่จำเป็นอยู่ในมือแล้ว กรูเบจึงเขียนบทความที่เขาให้สัญญาว่า “หนึ่งในเอกสารว่าด้วยรังสีเอกซ์ที่สำคัญที่สุด” [Grubb? 1933a]
เรื่องเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กรูเบเสนอในบทความนี้ ที่ว่าเขาเป็นคนแรกที่ได้รับบาดเจ็บจากรังสีเอกซ์ ตลอดจนเป็นบุคคลแรกที่ใช้รังสีเอกซ์เพื่อการรักษาโรค ถูกนำไปอ้างอิงอย่างกว้างขวาง (เช่น Brucer 1990; Feldman 1989; Mould 1993; Morgan and Turner 1967; Osborne และ Ellis 1965)
อย่างไรก็ดี ผู้อ่านที่ช่างสังเกตน่าจะดูออกว่า เอกสารด้านรังสีวิทยาเป็นจำนวนมาก ไม่เคยกล่าวถึงคุณูปการอันมีชื่อเสียงของกรูเบนี้เลย แน่นอนว่าความเงียบนี้คงไม่ใช่ตัวแทนของความไม่สนใจธรรมดา ๆ กระมัง ? การคบคิดบางประการกำลังดำเนินอยู่หรือเปล่า ? การคบคิดที่ก่อตัวโดยคณะลับของนักรังสีวิทยา เพื่อโกงเอาตำแหน่งในวารสารรายปีทางการแพทย์ที่กรูเบควรมีสิทธิ์ได้
         
เหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ?
คำตอบอันน่าอัศจรรย์ และอีกมาก ๆ อยู่ในตอนที่ 2 ของตำนานของเอมิล กรูเบ

จากเรื่องชุด

— Tales from the Atomic Age —

เรื่อง

— The Legend of ?mil H. Grubb?

เขียนโดย

—  Paul W. Frame

เอกสารอ้างอิง

  • Brecher, R.; Brecher, E. The rays—A history of radiology in the United States and Canada. Baltimore, MD: William and Wilkins Company; 1969.
  • Brucer, M. A. Chronology of nuclear medicine. St. Louis: Heritage Publications, Inc.; 1990.
  • Feldman, A. A sketch of the technical history of radiology from 1896 to 1920. RadioGraphics 9(6):1113-112X; 1989.
  • Grubb?, E.H. Priority in the therapeutic use of x rays. Radiology XXI: 156-162; August 1933.
  • Grubb?, E.H. Who was the first to make use of the therapeutic qualities of the x ray? Radiological Review XXII: 184-187; August 1933.
  • Grubb?, E.H. X-ray treatment—Its origin, birth and early history. St. Paul and Minneapolis, MN: Bruce Publishing Company; 1949.
  • Hodges, P.C. The life and times of Emil H. Grubb?. Chicago: University of Chicago Press; 1964.
  • Knight, N.; Wilson, J.F. The early years of radiation therapy. In: A history of the radiological sciences. McLennan, B. and Gagliardi, R.A., eds. Vol. 1. Reston, VA: Radiology Centennial Inc.; 1996.
  • Morgan, K.Z.; Turner, J.E. Principles of radiation protection - A textbook of health physics. New York: John Wiley and Sons, Inc.; 1967.
  • Mould, R.F. A century of x rays and radioactivity in medicine. Bristol: Institute of Physics Publishing; 1993.
  • Osborne, S.B.; Ellis, R.E. Protection from ionizing radiation. In: science of ionizing radiation. Etter, L.E., ed. Charles C Thomas; Springfield; 1965.
  • The assistance of Nancy Knight and Wendell Stampfli is gratefully acknowledged.
โพสต์เมื่อ : 27 สิงหาคม 2555