Nuclear Science
STKC 2555

ปริมาณรับรังสี : แค่นี้ ! แค่ไหน ?

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
ฝ่ายจัดการองค์ความรู้
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ทางรังสีที่ฟุกุชิมะประเทศญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเวลาผ่านไปก็มีข่าวว่าระดับรังสีเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ โดยรอบ ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะเคยมีระดับรังสีสูงขึ้นถึง 400 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง แล้วค่อยลดลง ว่าแต่รังสีระดับที่ว่านั้นมากหรือน้อยเพียงใด

          ที่จริงรังสีมีอยู่รอบตัวเราและตลอดเวลา และรังสีก็มีอยู่หลายชนิด แต่รังสีที่ก่อปัญหาแก่เราเรียกว่า รังสีชนิดก่อไอออน (ionising radiation) ซึ่งส่งผลทางชีวภาพต่อสิ่งมีชีวิตได้

          การวัดปริมาณรังสีมีหน่วยเป็น ซีเวิร์ต (sievert) ซึ่งเป็นหน่วยเอสไอ (หรือหน่วยเมตริก) ใช้วัดผลของรังสีต่อบุคคล หน่วยนี้สัมพันธ์แนบแน่นกับหน่วยเอสไออีกหน่วยหนึ่ง ได้แก่ เกรย์ (gray) ซึ่งเป็นปริมาณพลังงานที่วัตถุดูดกลืนไว้จากการได้รับรังสี เนื่องจากรังสีมีหลายชนิด และแต่ละชนิดส่งผลต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกัน รังสีหลัก ๆ ที่กล่าวถึงกันได้แก่ รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา การวัดรังสีในหน่วยซีเวิร์ตดีตรงที่ว่า ซีเวิร์ตเป็นหน่วยที่วัด ปริมาณรังสียังผล (effective radiation dose) มากกว่าการวัดขนาดของปริมาณรังสี กล่าวคือ รังสีแต่ละมิลลิซีเวิร์ต “ยังผลทางชีวภาพเท่ากัน” มันคำนึงถึงชนิดของรังสีทุกชนิด และยุบรวมกันเป็นตัวเลขเดียว ซีเวิร์ตเป็นหน่วยที่ใหญ่มาก ดังนั้นเราจึงมักพบเห็นหน่วย มิลลิซีเวิร์ต (millisievert: mSv) คือระดับ 1 ใน 1,000 ของซีเวิร์ต หรือ ไมโครซีเวิร์ต (microsievert: ?Sv) คือระดับ 1 ใน 1,000,000 ของซีเวิร์ต ซีเวิร์ตเป็นหน่วยใหม่ที่มาแทนที่หน่วย เร็ม (rem) ซึ่งไม่ใช่หน่วยเมตริก โดย 1 ซีเวิร์ต เท่ากับ 100 เร็ม

          ในแต่ละปีมนุษย์ได้รับรังสีในหลายรูปแบบ การได้รับรังสีตามปกติเกิดจากการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ และแม้แต่ทุกครั้งที่เราก้าวเท้าออกจากบ้าน เพียงแต่ไม่ใช่รังสีปริมาณมากที่จะก่อผลร้ายแรง เราได้รับรังสีมากกว่าปกติเมื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน และเราทุกคนยังได้รับรังสีจากตัวเราเองด้วย เพราะโดยธรรมชาติร่างกายของเราก็แผ่รังสี การได้รับรังสีส่วนใหญ่เกิดจากแหล่งกำเนิดรังสีตามธรรมชาติเหล่านี้ และอีกส่วนหนึ่งเราได้รับจากการตรวจรักษาทางการแพทย์ เฉลี่ยระหว่าง 2 ถึง 4 มิลลิซีเวิร์ต (0.004 ซีเวิร์ต) ต่อปี ในบางส่วนของโลกการได้รับรังสีอาจต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ บริเวณที่ได้รับรังสีตามธรรมชาติสูงที่สุดได้แก่ประเทศอิหร่าน ซึ่งโดยเฉลี่ยได้รับรังสีตามธรรมชาติสูงกว่าชาวแคนาดาราว 10 เท่า และในบางพื้นที่สูงกว่าถึง 50 เท่า

          ตัวอย่างการได้รับรังสีทางการแพทย์ เช่น ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการเอกซเรย์เต้านม (mammogram) ตกปราะมาณ 0.1 มิลลิซีเวิร์ต หากเป็นการซีทีสแกนทรวงอกประมาณ 11 มิลลิซีเวิร์ต การตรวจรักษาทางการแพทย์บางอย่างผู้ป่วยอาจได้รับรังสีสูงถึง 17 มิลลิซีเวิร์ต และสูงถึง 100 มิลลิซีเวิร์ตสำหรับการทำซีทีสแกนทั่วร่างกาย
ในการประเมินปริมาณรับรังสี ประเมินว่าปริมาณรังสีประมาณ 100 มิลลิซีเวิร์ตแต่ละครั้ง จะทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสเกิดมะเร็งได้เล็กน้อย ปริมาณรังสีต่ำกว่านี้ การแปรผันทางสถิติและวิถีการดำเนินชีวิตทำให้สังเกตผลโดยตรงได้ยากมาก อย่างไรก็ดี โดยทั่วไป การกำหนดระดับปลอดภัยการได้รับรังสีของบุคคลทั่วไปก็ต้องให้ต่ำไว้ก่อน คือ จำกัดปริมาณรังสีแก่บุคคลทั่วไปเป็น 1 มิลลิซีเวิร์ต

          ระหว่างเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ฟุกุชิมะประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้พยายามควบคุมปริมาณรังสีแก่บุคคลทั่วไปไว้เช่นกัน เช่น ในเมืองโตเกียว อัตราการรับปริมาณรังสีสูงขึ้นบ้างกว่าปกติ แต่ก็ยังต่ำกว่า 1 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งเป็นระดับปลอดภัย เป็นอย่างมาก แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังประกาศว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อการเดินทางท่องเที่ยวในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบ

          สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีที่ฟุกุชิมะ มีรายงานการได้รับรังสีสูงสุดคือ 170 มิลลิซีเวิร์ต หรือประมาณเทียบเท่ากับ การทำซีทีสแกนทั่วร่างกาย 1 ถึง 2 ครั้ง
เป็นที่ทราบกันมานานพอสมควรแล้วว่า การได้รับรังสีชนิดก่อไอออนในปริมาณสูง ซึ่งสูงกว่าระดับรังสีพื้นหลัง (background) เป็นอันมาก เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว หลังจากทอดเวลาผ่านไปหลายปี รวมทั้งจากการทดลองในพืชและสัตว์ยังพบว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ยังไม่พบหลักฐานต่อการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในมนุษย์ ระดับรังสีสูงมาก ๆ จะก่อความเจ็บป่วย และอาจถึงตายได้หลังการได้รับรังสีหลายสัปดาห์

          แล้วระดับรังสีเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายเพียงใด ดูได้จากตัวอย่างตามตารางด้านล่างนี้ (ข้อมูลจาก WNA, REUTERS, และ RADIOLOGYINFO.ORG)

ปริมาณรับรังสี (radiation exposure)

เหตุการณ์ (Event)

ปริมาณรังสี (มิลลิซีเวิร์ต)

ปริมาณรังสีได้รับครั้งเดียว ทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์

10,000.00

ปริมาณรังสีที่บันทึกจากพนักงานกรณีอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลได้รับ ทำให้เสียชีวิตภายใน 1 เดือน

6,000.00

ปริมาณรังสีได้รับครั้งเดียว ทำให้จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับรังสีเสียชีวิตภายใน 1 เดือน

5,000.00

ปริมาณรังสีได้รับครั้งเดียว ทำให้เกิดการแพ้รังสี (radiation sickness) รวมทั้งอาการวิงเวียนศีรษะ จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง แต่ไม่ถึงตาย

1,000.00

ปริมาณรังสีสะสม ประมาณว่าทำให้ประชากร 5% ที่ได้รับรังสี เป็นมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตภายหลังผ่านไปหลายปี

1,000.00

ระดับปริมาณรังสีสูงสุดต่อ 1 ชั่วโมง บันทึกได้ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

400.00

ปริมาณรับรังสีภายหลังการระเบิดที่เชอร์โนบิล เมื่อปี 1986 ของผู้พักอาศัย และได้อพยพออกไป

350.00

ขีดจำกัดเสนอแนะ (recommended limit) สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีใน 5 ปี

100.00

ปริมาณรังสีรอบปีต่ำสุด (lowest annual dose) ซึ่งพบหลักฐานการเพิ่มขึ้น ของการเป็นมะเร็งชัดเจน

100.00

ซีทีสแกนหัวใจ

16.00

ซีทีสแกนส่วนท้องและเชิงกราน

15.00

ปริมาณรังสีซีทีสแกนทั้งตัว

10.00

ปริมาณรับรังสีรอบปี (annual exposure) พนักงานเครื่องบินโดยสาร เดินทางจากนิวยอร์กถึงโตเกียว โดยเส้นทางผ่านขั้วโลก

9.00

รังสีธรรมชาติที่เราทุกคนได้รับต่อปี

2.00

ซีทีสแกนศีรษะ

2.00

เอกซเรย์กระดูกสันหลัง

1.50

ปริมาณรังสีต่อชั่วโมง วัดได้ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเมื่อวันที่ 12 มีนาคม

1.02

เอกซเรย์เต้านม

0.40

เอกซเรย์ปอด

0.10

เอกซเรย์ฟัน

0.01

ตัวอย่างปริมาณรับรังสีต่อชั่วโมง

  • ปริมาณรับรังสีพื้นหลัง (background radiation dose) เฉลี่ยรายบุคคล คือ 0.23 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง (0.00023 มิลลิซีเวิร์ต / ชั่วโมง) แต่สำหรับชาวออสเตรเลียจะต่ำกว่า คือ 0.17 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง และสำหรับคนอเมริกันจะสูงกว่า คือ 0.34 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง
  • ณ วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ปริมาณรับรังสีต่อชั่วโมงในตัวเมืองฟุกุชิมะ คือ 1.6 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง (14 มิลลิซีเวิร์ต / ปี) และที่โตเกียว คือ 0.062 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง (0.54 มิลลิซีเวิร์ต / ปี)
  • ณ วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2011 ระดับสูงสุดที่รายงานระหว่างเหตุการณ์อุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะ คือ 433 ซีเวิร์ต / ชั่วโมง ในแก๊ส / ไอน้ำ ภายในครอบเครื่องปฏิกรณ์ปฐมภูมิ (drywell) ของเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 (สังเกตว่าระดับรังสีค่อนข้างสูงโดยมีหน่วยเป็น ซีเวิร์ต / ชั่วโมง)
  • อัตราปริมาณรังสี (dose rate) สูงสุดวัดได้ที่ประเทศฟินแลนด์ ระหว่างพิบัติภัยที่เชอร์โนบิล คือ 5 ไมโครซีเวิร์ต / ชั่วโมง
  • การตรวจวัด ณ แกนเครื่องระบายอากาศ ระหว่างเครื่องปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 ภายหลังอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะ น่าจะสูงกว่า 10 ซีเวิร์ต / ชั่วโมง เนื่องจากอุปกรณ์วัดได้สูงสุดเพียง 10 ซีเวิร์ต / ชั่วโมง

ตัวอย่างปริมาณรับรังสีรอบปี

  • ปริมาณรังสีสูงสุดที่ยอมรับได้สำหรับบุคคลทั่วไป จากสถานประกอบการใด ๆ ที่มนุษย์ทำขึ้น คือ 1 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากการอาศัยใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ 0.0001 – 0.01 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากการอาศัยใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ 0.0003 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากการนอนเคียงข้างบุคคลหนึ่งทุกคืน คืนละ 8 ชั่วโมง คือ 0.02 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากท้องฟ้า ได้แก่ รังสีคอสมิก (cosmic radiation) ที่ระดับน้ำทะเล คือ 0.24 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากพื้นดิน (terrestrial radiation) คือ 0.28 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ คือ 0.40 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากการยืนอยู่หน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ (United States Capitol) ซึ่งเป็นหินแกรนิต (มียูเรเนียมปนอยู่) คือ 0.85 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากรังสีพื้นหลัง (background radiation) โดยเฉลี่ยรายบุคคล คือ 2 มิลลิซีเวิร์ต / ปี สำหรับชาวออสเตรเลีย คือ 1.5 มิลลิซีเวิร์ต / ปี และสำหรับคนอเมริกัน คือ 3.0 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีในบรรยากาศ (ส่วนใหญ่เป็นแก๊สเรดอน) คือ 2 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีเฉลี่ยทั้งหมดสำหรับคนอเมริกัน คือ 6.2 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีของพนักงานบนเครื่องบินเดินทางจากนิวยอร์กไปโตเกียว คือ 9 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ขีดจำกัดปริมาณรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางนิวเคลียร์ในปัจจุบัน คือ 20 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากรังสีพื้นหลัง (background radiation) ในบางพื้นที่ของประเทศอิหร่าน อินเดีย และทวีปยุโรป คือ 50 มิลลิซีเวิร์ต / ปี
  • ปริมาณรังสีจากการสูบบุหรี่วันละ 30 มวน คือ 60-160 มิลลิซีเวิร์ต / ปี

ตัวอย่างขีดจำกัดปริมาณรังสี (dose limit)

  • ตัวชี้วัดสำหรับการอพยพภายหลังพิบัติภัยที่เชอร์โนบิล คือ 350 มิลลิซีเวิร์ต / ช่วงชีวิต
  • ปัจจุบันในประเทศส่วนใหญ่ ได้กำหนดปริมาณรังสียอมรับสูงสุด (maximum permissible dose) สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี คือ 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี เฉลี่ยในระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี โดยค่าสูงสุดในปีใดปีหนึ่ง คือ 50 มิลลิซีเวิร์ต ทั้งนี้ คิดนอกเหนือจากรังสีพื้นหลัง และไม่รวมการรับรังสีทางการแพทย์ ค่านี้ริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกันทางรังสี (International Commission on Radiological Protection: ICRP) และยึดหลักว่า ให้การรับรังสีต่ำเท่ากับที่พึงได้รับอย่างสมเหตุผล (as low as reasonably achievable: ALARA) รวมถึงแฟกเตอร์ทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ด้วย
  • ขีดจำกัดปริมาณรังสีสำหรับบุคคลทั่วไป สำหรับการรับรังสีจากเหมืองยูเรเนียม หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตามปกติกำหนดไว้เท่ากับ 1 มิลลิซีเวิร์ต / ปี เหนือรังสีพื้นหลัง
  • ขีดจำกัดปริมาณรังสีที่ใช้กับพนักงานระหว่างเหตุฉุกเฉินที่ฟุกุชิมะ คือ 250 มิลลิซีเวิร์ต
โพสต์เมื่อ : 7 กันยายน 2555