100 ล้าน สทน.ทำได้ ด้วยไวน์ฉายรังสี |
โกมล อังกุรรัตน์
อดีตผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ไอโซโทปรังสี (เกษียณ)
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) |
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ผสทน. ได้ประกาศวิสัยทัศน์ ว่า ปีนี้ต้อง 100 ล้าน ผมได้ไปร่วมงานด้วย ก็มานั่งนึกว่า ด้วยศักยภาพปัจจุบันขณะนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลีย์แห่งชาติ (สทน.) จะทำได้อย่างไร ? ด้วยวิธีไหน ด้วยอุปกรณ์หลักอะไร ? สารพัดคำถามผุดขึ้นมาในสมองของผม สทน. ตั้งขึ้นมาได้ นับถึงปัจจุบันก็หกปีล่วงไปแล้ว ได้ชื่อว่าสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และแห่งเดียวในอาณาจักรประเทศไทย ถามว่ามีอุปกรณ์หลัก ๆ อะไรบ้าง ที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์เทคโนโลยี เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีไหม ตอบว่ามี แล้วกำลังเครื่องละเท่าไหร่ ? ตอบว่า 2 เมกะวัตต์ (MW) แต่เดินเครื่องได้แค่ 1.2 MW ทำอะไรไม่ได้มากมาย สถาบันขนาดนี้ ขนาดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องไม่ต่ำกว่า 10MW ขึ้นไป ก็กำลังออกแรงผลักดันกันไปเพื่อที่จะได้มาในอนาคตสักเครื่องหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นจริง จากนั้นถามต่อไปว่า เครื่องเร่งความเร็วอนุภาค (cyclotron) มีหรือไม่ ? ตอบได้เลยว่ายังไม่มี และยังไม่รู้ว่าจะมีได้เมื่อไหร่ แล้วในเมื่ออุปกรณ์หลัก ๆ ทางด้านนิวเคลียร์เทคโนโลยีที่จำเป็นยังไม่มีแล้ว ผสทน.กล้าประกาศได้อย่างไร ว่าปีนี้ต้อง 100 ล้าน ผมก็กล้าตอบแทนได้เลยว่า ในปีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันให้ถึง 100 ล้าน ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดมากมายที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไหนจะอุปสรรคจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมาที่เอาไม่อยู่ หรือข้อจำกัดในการหาลูกค้าใหม่ ๆ และทางด้านนวตกรรม ตัวใหม่ ๆ ก็ยังไม่มี แล้วถามว่าต่อจากนี้ไปหรือในอนาคตจะทำได้ไหม ? ก็ขอตอบแทนได้เลย 100 ล้าน นั้นน้อยไป สัก 1000 ล้าน ขึ้นไปนั้นสบายมาก จากนี้ไปก็ขอเล่าอะไรให้ฟังเล่น ๆ สนุก ๆ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ?
ก่อนผมเกษียณการทำงาน ก็ได้เตรียมเก็บสัมภาระและสัมภารกต่าง ๆ หลังจากสะสมมาจากการทำงานกว่า 35 ปี ก็บังเอิญไปเจอกับเอกสารชิ้นหนึ่ง ที่ผมตัดเก็บไว้จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สามหรือสี่ปีมาแล้ว เป็นคอลลัมน์ เล่นกับไฟ ของคุณ แมงเม่า เรื่องชมตลาดไวน์ ผมขอก็ขอคัดลอกมาทั้งหมด พร้อมหารูปประกอบให้ดังนี้ |
ชมตลาดไวน์ |
ระหว่างพวกเราเพลิดเพลินฉลองปีใหม่กันอยู่ ผมก็ขออนุญาติเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องหนัก ๆ มาเป็นเรื่องเบา ๆ เป็นการแบ่งปันความรู้ว่าด้วยเครื่องดื่มน้ำองุ่น ไวน์ แค่รู้พอเป็นไอเดียเท่านั้น มิได้มีปัญญาหาเงินซื้อมาดื่มหรือสะสมแต่อย่างใดไม่
ผมรู้จักไวน์ดังและแพงของฝรั่งเศสอยู่หลายยี่ห้อ
เริ่มต้นที่ไวน์ในกลุ่ม 5 อรหันต์อันประกอบด้วยชาโตมูตองรอธไชลด์ (Chateau Mouton Rothschild) |
Chateau Mouton Rothschild
|
ชาโตลาฟิตรอธไชลด์(Chateau Lafite Rothschild) |
Chateau Lafite Rothschild
|
ชาโตลาตูร์ (Chateau Latour) |
Chateau Latour 1982
|
ชาโตมาโกช์ (Chateau Margaux) |
Chateau Margaux 1982
|
และชาโตโอบริยอง(Chateau Haut Brion) |
Chateau Haut Brion 1982
|
เหล่านี้เป็นโคตรไวน์มหาเศรษฐีผู้มีรสนิยมสะสมกันกว้างขวาง ปีทองของเขาได้แก่ 1982 โดยในกลุ่มนี้ ลาฟิต ยืนราคาสูงสุด จากข้อมูลอินเทอร์เน็ต ขวดละ 2,990 ยูโร คูณด้วย 49 ก็ประมาณ 146,000 บาทยังไม่รวมภาษี
ขณะที่มูตองปีเดียวกันราคา 1,570 ยูโร หรือ 77,000 บาท น่าสังเกตว่าย้อนไปหลายปีก่อนราคามูตองสูงกว่าลาฟิตราว ๆ 20% แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ส่วนลาตูร์ปีเดียวกันอยู่ที่ 2,100 ยูโรหรือ 102,900 บาท มาร์โกซ์อยู่ที่ 1,340 ยูโร หรือ 65,600 บาท และโอบริยองอยู่ที่ 999 ยูโร หรือ 49,000บาท
ไวน์ที่โคตรแพงจริง ๆ สำหรับปีทอง 1982 คือ เปตรุส (Petrus) 4,590 ยูโร หรือ 225,000 บาท อันนี้ต่อขวดนะครับไม่ใช่ต่อลัง |
Petrus 1982
|
ปีทองของไวน์ฝรั่งเศสอีกปีก็ 2000 อย่างเปตรุสก็ 3,900 ยูโร (191,000 บาท) ขณะที่ลาฟิต 1,690 ยูโร (83,000 บาท) และ มูตอง 1,090 ยูโร (54,000 บาท)
ปี 2005 ก็เป็นปีเก่งของไวน์ฝรั่งเศสแถวบอร์กโดซ์ พอมเมอรอล เช่นเดียวกับปี 1995
ไวน์ในกลุ่มนี้อีกยี่ห้อที่มนุษย์เดินดินธรรมดาต้องอยู่ห่าง ๆ ได้แก่ เลอแปง (Le Pin) ของพอมเมอรอล ปีทองของไวน์ทางนี้ก็ปี 1990 ขวดละ 3,390 ยูโร หรือ 166,000บาท และปี 2005 ราคาเดียวกัน |
Le Pin 1990
|
ว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นไวน์แดง เคยดื่มไวน์ขาวหรือที่เขาเรียกพิเศษว่าไวน์หวาน ยี่ห้อ ดีเคี่ยม(dYquem) นัยว่าผลิตจากองุ่นสุกที่จวนเจียนจะเน่าของปี 2005 ราคา 659 ยูโร (32,000 บาท) |
Chateau d, yquem 2005
|
แต่ไวน์ที่โคตรแพงจริง ๆ เป็นไวน์เบอกันดี ยี่ห้อโรมาเน่-กองติ (Romanee-Conti) |
Most expensive wine Romanee-Conti
|
อันนี้เป็นไวน์โปรดของอดีตนายกฯ ประเทศไทยท่านหนึ่ง เคยนำไปมอบให้กับอดีตนายกฯ ประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง บังเอิญอดีตนายกฯ ผู้นี้ไม่ค่อยรู้เรื่องไวน์ จึงถูกอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งมาตลกบริโภคเรียบวุธ
ปีทองของยอดไวน์แห่งเบอกันดีคือ 1985 ราคาขายไม่รวมภาษี 10,990 ยูโร หรือ 538,000 บาท ก็ซื้อรถยนต์ขนาดกลางได้หนึ่งคันสบาย ๆ โรมาเน่กองติปี 1990 ก็ใช่ย่อย ขวดละ 9,900 ยูโร หรือ 485,000 บาท จะว่าไปไวน์ขานี้โคตรแพงทุกปี เพราะของมีน้อยและคุณภาพคับขวด อย่างปี 2003 ก็ยังขายที่ 7,990 ยูโร ก็ปาเข้าไปตั้ง 392,000 บาท
เล่าให้ฟังอีกว่า อดีตนายกฯ ของประเทศไทยที่ผมเอ่ยถึงก่อนหน้านี้ เคยซื้อตุนไว้หลายลัง
ไวน์เป็นเครื่องดื่มแปลก ที่ว่ามาจัดเป็นยอดไวน์เป็นโคตรไวน์ ขณะที่ไวน์ราคาถูก ๆ ก็เยอะมาก ขวดละเป็นพันบาทลงมาถึงไม่กี่ร้อยบาท
คุยเสียหน่อยว่าทั้งถูกและแพงลองมาแล้วเยอะพอดู |
แมงเม่า |
|
หลังจากอ่านบทความของคุณแมงเม่าแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ ผมก็ขอเล่าอะไรเพิ่มเติมที่ไม่ค่อยจะมีสาระให้ฟังก่อนที่จะเข้าเรื่อง 100 ล้าน การดื่มไวน์ก็ต้องพิถีพิถันกันเพราะราคาแพง แต่คนไทยไม่ค่อยสนใจประเด็นนี้เท่าใด เราดื่มเอาเมาเป็นใช้ได้ ปกติไวน์แดงก็จะดื่มกันที่อุณหภูมิห้องตามบรรยากาศของยุโรป แต่ในเมืองไทยเมืองร้อนแช่เย็นนิดหน่อยช่วยเพิ่มรสชาติ ไวน์แดงจะดื่มแกล้มกับเนื้อสัตว์สีแดง ๆ และไวน์ขาวก็ดื่มกับพวกเนื้อสัตว์สีขาว ๆ เช่นปลา แต่คนไทยดื่มได้หมดขอให้เมาเป็นใช้ได้ อันนี้ไม่ว่ากัน เคยมีงานเลี้ยงสมัยอยู่ที่ ปส.ก็มีการเปิดไวน์แดงฉลองกัน ก็มีพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่ง ที่เพิ่งกลับมาจากยุโรป พี่แกก็คุยสารพัดเกี่ยวกับไวน์ พอมีการเปิดไวน์แดงพี่ท่านก็รีบไปหยิบมาหนึ่งแก้ว แล้วก็ถือเดินชนแก้วกับพรรคพวกไปทั่วด้วยความยินดีผสมความเท่ แต่ผมสังเกตในแก้วไวน์ของพี่ท่านมีน้ำแข็งผสมอยู่ด้วยเสียนี่ เสียดายไวน์จังเลย อย่างนี้กินโค๊กเดินชนแก้วยังเท่เสียกว่า
มีอีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า เพื่อนที่รักกันและเกรงใจกันมากไปเยี่ยมเพื่อน และเหลือบไปเห็นไวน์ของเพื่อนอยู่หนึ่งขวด ก็เอ๋ยปากขอเสียดื้อ ๆ เลยบอกว่าตัวเองชอบกินไวน์ เพื่อนก็ด้วยเกรงใจเพื่อนก็จำตัดใจให้ไป คนได้รับก็ยีนดีได้ของฟรี ต่อมาเพื่อนก็เจอเพื่อนอีกคนที่บริจาคไวน์ให้เพื่อนไปก็ถามว่า ไวน์ที่ให้ไปเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนก็บอกว่าหลังจากได้ไวน์ไปก็เกิดหิวข้าว เลยแวะร้านข้าวต้มข้างทาง แล้วให้พอดีเจอเพื่อนอีกคนหนึ่ง เลยเปิดไวน์ฉลองกันที่ร้านข้าวต้มนั้นแหละ แล้วบอกว่าไวน์ที่ให้ไป ดื่มกับแก้วธรรมดาผสมน้ำแข็งมันอร่อยดีจริง ๆ คนที่ให้ไวน์เพื่อนไปก็อึ้งไปเลยพูดไม่ออก ได้แต่คิดในใจเสียดายไวน์ เพราะไวน์ขวดนั้นราคามากกว่า 50,000 บาท
ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง หลานชายผมเองได้ไวน์ที่เขาให้มาเป็นของขวัญขวดหนึ่ง ก็เลยชวนเพื่อน ๆ ไปฉลองเปิดไวน์กันที่โรงแรมโอเรียนเตล ก็นั่งดื่มไวน์กันจนหมดขวด แล้วเชฟใหญ่ของโรงแรมก็เดินเข้าทักทายบอกว่า ไวน์ที่ดื่มหมดแล้วจะเพิ่มอีกไหม ทางโรงแรมมีไวน์ชนิดเดียวกันเหลืออยู่อีกหนึ่งขวด แล้วไปหยิบมาเสนอให้ดู พร้อมกับบอกราคาเสร็จสรรพ 120,000 บาทถ้วน หลานผมเลิกฉลองเลย เสียดายไวน์ ขอขวดไวน์เก็บกลับบ้านไปดูเล่น ผมก็ยังไม่มีโอกาสไปเห็นสักทีว่าเป็นไวน์ยี่ห้ออะไร
ไวน์เป็นเครื่องดื่มมีชีวิตว่ากันอย่างนั้น กระบวนการผลิตมีการหมักบ่ม ไวน์จะมีการพัฒนาตัวเองตลอด ก็ต้องหาให้ได้ว่าจุดสุดยอดของการพัฒนาตัวเองของไวน์อยู่ในช่วงไหน แม้ได้รับการบรรจุขวดแล้วก็ยังมีการพัฒนาตัวเอง โดยมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนผ่านจุกไม้ก๊อก ไวน์ที่เปิดแล้วดื่มทันที เปรียบเทียบกับไวน์เมื่อเปิดขวดแล้วทิ้งให้ไวน์ได้หายใจแลกเปลี่ยนออกซิเจนสัก 30นาที จะมีรสชาติที่ดีกว่า
ว่ากันว่าการดื่มไวน์วันละหนึ่งแก้วจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจลดลง และมีอีกเรื่องหนึ่งคือ การจิบไวน์ก่อนเข้าฉายรังสีจะเป็นตัวช่วยให้ความเสี่ยงจากอันตรายทางรังสีลดลง ตามรายงานของ รอยเตอร์(Reuters)เมื่อ 2 กย. 2009 |
งานวิจัยจากประเทศอิตาลีพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรจิบไวน์แดงก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี นักวิจัยประเมินประสิทธิภาพการป้องอันตรายที่เกิดจากการฉายรังสี ด้วยการดื่มไวน์แดงจากผู้หญิงจำนวน 348 คนที่ปวยเป็นโรคมะเร็งเต้านม และได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว พบว่าการดื่มไวน์แดง จะช่วยลดอันตรายที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสีได้
ผู้ป่วยที่ดื่มไวน์แดงครึ่งแก้วเป็นประจำทุกวัน จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงในการฉายรังสี 31.8% และผู้ที่ไม่ดื่มจะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง 38.4% ส่วนผู้ที่ดื่มไวน์วันละ 2 แก้ว จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง 35%
นักวิจัยกล่าวว่าผู้หญิงที่ดื่มไวน์วันละ 1 แก้ว จะได้รับผลกระทบจากการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี 75% ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม
เป็นที่ทราบดีว่า ไวน์ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยป้องกันอันตราย จากผลข้างเคียงของการฉายรังสี ได้แก่ สารพอลิฟีนอลที่มีจำนวนมากและสารธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีอยู่ในผลไม้
|
|
ก็มาเข้าเรื่อง 100 ล้าน หลังจากดูงานวิจัยของ สทน.แล้ว ก็จะเห็นในหัวข้ออาหารและสมุนไพรปลอดภัยด้วยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ ภายใต้หัวข้อย่อย โครงการปรับปรุงคูณภาพไวน์สมุนไพร ด้วยการฉายรังสี เป็นโครงการในช่วง 2552-2554 เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉายรังสีไวน์ไปสู่ชุมชนของแต่ละจังหวัด ทำให้สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตผลการเกษตรที่นำมาแปรรูปเป็นไวน์
ผมเคยได้รับเชิญให้ไปชิมไวน์ฉายรังสีของ สทน.มาครั้งหนึ่ง ก็พอสรุปได้ว่า รสชาติดี สีสวย กลิ่นหอมคล้ายกล้วยไม้ เนื้อไวน์หรือ body เข้มข้นหนักแน่น แต่จะไปเปรียบเทียบกับโคตรไวน์ 5อรหันต์ ก็ไม่ทราบจะเปรียบเทียบอย่างไรเพราะไม่เคยสัมผัส แต่ก็มองเห็นโอกาสที่ สทน.จะพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ต่อยอดต่อไป ทั้งนี้ถ้าเป็นไปได้ ก็ส่งทีมวิจัยไปศึกษาถึงวิธีกระบวนการผลิตไวน์ที่สถาบันผลิตไวน์ชั้นนำทั้งหลาย แล้วนำความรู้มาสร้างกระบวนการของเราเอง พัฒนาให้ได้คุณภาพคงที่ หาระยะการหมักบ่มที่เหมาะสม ปริมาณการฉายรังสีที่ให้ไวน์ได้คุณภาพ กลิ่น สี body ที่ดีเยี่ยม หลังจากนั้นก็ขอเชิญนักชิมไวน์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทยมาทดลองชิมและวิจารณ์ เพื่อการยอมรับและปรับปรุงคุณภาพ เมื่อทุกอย่างเข้าที่ ก็ส่งเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ ก็คงจะได้ประกาศนียบัตรมา หลังจากนั้นก็เข้ากระบวนการสร้างตำนาน โฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่คุ้นหูติดตลาด อย่าลืมว่า เราเป็นไวน์สมุนไพรฉายรังสี ดังนั้นต้องเน้นว่า สมุนไพรต้องคู่กับสุขภาพ ไม่ใช่ของมึนเมา แต่เป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่ดีเยี่ยม ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงอันตรายจากรังสีก่อนการฉายรังสี หรือเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วชูกำลังเตะปี๊บได้ทุกวัน โดยต้องหาสรรพคุณที่เด่นชัดให้แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหากับ อย. หรือถ้าไม่ต้องการทางด้านสุขภาพ จะเป็นเครื่องดื่มในการเลี้ยงฉลองก็เหมาะสม หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์สำหรับบุคลากรระดับล่างทดแทนเหล้าขาว เบียร์ ส่วนกลยุทธ์ในการตั้งราคา ถ้าต้องการเน้นปริมาณการขายสำหรับบุคลากรระดับล่าง ก็ต้องราคาไม่สูงมาก หรืออาจะทำเป็นอีกแบรนด์หนึ่งราคาสูง สำหรับบุคคลากรระดับบนราคาสูง ก็ทำได้ ผลพลอยได้จากโครงการก็จะได้เพิ่มตลาดผลิตภัณฑ์ของสมุนไพร และการนำสมุนไพรมาทดลองฉายรังสีเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์
ก็เป็นข้อคิดเห็นเล่น ๆ หรืออาจจะเป็นจริงก็ได้ถ้าจะลองทำดู ผมจึงบอกว่า 100 ล้าน มันน้อยไป สัก 1,000 ล้านขึ้นไป สบายมาก แต่ผมกลัวอยู่อย่างเดียวว่า ถึงเวลานั้น สทน.มีเงิน มาก ๆ แล้ว เก็บไว้ในธนาคารเฉย ๆ ก็จะไม่มีโอกาสใช้เงิน เพราะจะมีผู้หวังดีทั้งหลายขอเอาไปใช้หมด
โพสต์เมื่อ : 3 กรกฎาคม 2555 |
|
|
|