Nuclear Science
STKC 2555

หนีร้อนมาพึ่งเย็น

(Tuna carry Fukushima radiation to California)

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          แซนด์วิชปลาทูน่าของคนอเมริกันวันนี้ ไม่เหมือนแซนด์วิชปลาทูน่าเมื่อวันก่อน เพราะปลาทูน่าวันนี้ มีสารรังสีซีเซียม-134 ปนอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบยังคงอยู่ภายใต้เกณฑ์ความปลอดภัย ปลาทูน่าดังกล่าว เคยอาศัยว่ายวนเวียนอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณใกล้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เดือนมีนาคม 2554 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารรังสีซีเซียม-134 ในเนื้อปลา ซึ่งกลับเป็นผลดีต่อโครงการที่นักวิจัยกำลังศึกษาอยู่

นักชีววิทยาทางทะเล แดเนียล เมดิแกน แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังศึกษาการอพยพของปลาทูน่าแปซิฟิกครีบสีน้ำเงิน (Pacific Bluefin tuna Thunnus orientalis) ซึ่งเคลื่อนย้ายจากมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งประเทศญี่ปุ่นมายัง ฝั่งทวีปอเมริกา การรั่วไหลของสารรังสีซีเซียมจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูฟุกุชิมะ ลงไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ปลาและสัตว์น้ำซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ได้รับสารรังสีจากน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน นักวิจัยคาดว่าปลาทูน่าวัยอ่อน ใช้เวลาการอพยพจากฝั่งประเทศญี่ปุ่นมายังแคลิฟอร์เนีย ประมาณ 1-4 เดือน ด้วยระยะทาง 9,000 กิโลเมตร

          คณะนักวิจัยตรวจวัดสารรังสีซีเซียมในเนื้อปลาทูน่าวัยอ่อน ซึ่งจับบริเวณชายฝั่งแซนดีเอโก และตรวจพบปริมาณรังสีในปลาทั้งหมด 15 ตัว โดยปลาทูน่าที่จับในระหว่างปี 2554 ตรวจไม่พบซีเซียมแต่อย่างใด ซีเซียม-134 มีครึ่งชีวิต 2 ปี เมดิแกนจึงหวังว่าในสัตว์น้ำชนิดอื่น ที่มีพฤติกรรมการอพยพ อาจตรวจวัดได้เช่นกัน ในการนี้ สารรังสีซีเซียม-134 จะช่วยให้การศึกษาแบบแผนการเคลื่อนย้ายของสัตว์น้ำสามารถเข้าใจได้ดีขึ้น อาทิเช่น ปลาฉลามแซลมอน (Salmon shark Lamma ditropis) ซึ่งนักชีววิทยาทางทะเลอนุมานว่า ในปลาเพศผู้ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายถิ่น น่าจะได้รับการปนเปื้อนรังสีจากฟุกุชิมะ ในขณะที่ปลาเพศเมียอาจจะตรวจวัดรังสีไม่พบ เพราะมักอยู่ในถิ่นอาศัยเดิม

(วารสารอ้างอิง : Proceedings of the National Academy of Science, DOI: 10.1073/pnas.1204859109)
WWW.newscientist.com access 29 May 2012

โพสต์เมื่อ : 12 มิถุนายน 2555