ในเชิงพาณิชย์ เรเดียมมีการผลิตในรูปของเกลือโบรไมด์หรือเกลือคลอไรด์ มักสงสัยกันว่า ในปัจจุบันยังจะหาซื้อเรเดียมสกัดในปริมาณมาก ๆ ได้หรือไม่ เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1940 ซึ่งมีความต้องการเรเดียมสูง เพื่อใช้ด้านรังสีเอกซ์ และการใช้ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสงคราม ระยะนั้นราคาเรเดียมต่อกรัมจึงผันผวน แต่ต่อมา เหมืองและผู้ประกอบการในประเทศแคนาดาสามารถผลิตออกมามากขึ้น ทำให้ราคาตกเหลือกรัมละ 10,000 ดอลลาร์อเมริกัน มาถึงปัจจุบันมีสิ่งทดแทนการใช้ประโยชน์เรเดียมทุก ๆ ด้าน จึงไม่มีเรเดียมบริสุทธิ์จำหน่ายแล้ว จึงบอกไม่ได้ว่าราคามาตรฐานสำหรับเรเดียม 1 กรัม เป็นเท่าใด
ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า มารีและปีแอร์ กูรี สามารถสกัดแบเรียมคลอไรด์บริสุทธิ์กับมือตัวเองได้ 0.1 กรัมเท่านั้นเมื่อปี 1902 ปริมาณนี้คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของ 1 กรัมเท่านั้น อย่างไรก็ดี มารี กูรี เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรเดียมหนัก 1 กรัม รวม 3 ครั้ง
มารี กูรี มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับ เรเดียม 1 กรัม เป็นครั้งแรก โดยเมื่อมีการตั้งหน่วยวัดกัมมันตภาพรังสีว่า คูรี เธอเป็นผู้ผลักดัน ให้เท่ากับอัตราการสลายของ เรเดียมหนัก 1 กรัม ในขณะที่ความเห็นอื่น ๆ ให้ใช้การสลายของยูเรเนียมบ้าง เป็นต้น รายละเอียดของเรื่องนี้อ่านได้ในอีกบทความหนึ่ง เรื่อง หน่วยคูรี ตั้งตามชื่อใคร ?
ครั้งที่ 2 กลุ่มผู้หญิงอเมริกันมีความประทับใจใน มารี กูรี ที่อุทิศตนให้กับชาวโลก เธอไม่จดสิทธิบัตรการสกัดและการใช้เรเดียมที่เธอค้นพบ และเมื่อทราบว่า มารี กูรี สกัดเรเดียมได้ไม่พอกับความต้องการของสถาบันเรเดียมที่ตั้งขึ้นที่กรุงปารีส จึงรณรงค์หาเงิน 100,000 ดอลลาร์อเมริกันเพื่อจัดซื้อเรเดียม 1 กรัม ให้กับมารี กูรี ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1921 มารี กูรี จึงเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อรับของขวัญเป็นเรเดียม 1 กรัม จากประธานาธิบดีวอร์เรน ฮาร์ดิง (President Warren Harding) โดยรับมอบกุญแจทองคำสำหรับไขกำปั่นใส่เรเดียม กับประกาศนียบัตรสำหรับสารกัมมันตรังสี ออกโดย สำนักงานมาตรฐานแห่งชาติ (National Bureau of Standards) ลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักงาน แซมิวเอล ดับเบิลยู.สแตรตตัน (Samuel W. Stratton) ระบุข้อมูลของเรเดียมที่มอบ ซึ่งแบ่งบรรจุในหลอดแก้วที่ ผนึกสนิทแบบทึบอากาศ (hermetically sealed) 10 หลอด ๆ ละ 100 มิลลิกรัม ความบริสุทธิ์ไม่ใช่ระดับสารมาตรฐาน แต่บริสุทธิ์พอเพียงใช้งาน โดยเทียบมาตรฐานด้วยรังสีแกมมากับ มาตรฐานเรเดียมทุติยภูมิ หมายเลข 6 (Secondary Radium Standard No.6) ของสำนักงานมาตรฐานแห่งชาติ ในประกาศนียบัตรระบุว่า ความคลาดเคลื่อนของค่าเรเดียมเทียบเท่าของตัวอย่างเหล่านี้ มีค่าไม่เกิน 0.7 ของ 1 เปอร์เซ็นต์ |