Nuclear Science
STKC 2555

เรเดียม

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธาตุเรเดียม
เรเดียมเป็นธาตุโลหะที่ มีสีขาวแวววาว เรืองแสงได้เอง มีกัมมันตรังสีสูง และมีปริมาณน้อยโดยพบเจือปนในสินแร่ที่มียูเรเนียม เรเดียมมี 13 ไอโซโทป ที่มีเลขมวลระหว่าง 213 และ 230 โดยไอโซโทปที่มากที่สุดคือเรเดียม-226 มีครึ่งชีวิต 1,622 ปี มีการใช้เรเดียมในด้านรังสีรักษา (มะเร็ง) ใช้เป็นต้นกำเนิดนิวตรอนในงานวิจัย และเคยใช้ผสมสีเรืองแสง

ความหมายของชื่อเรเดียม
คำว่าเรเดียมมาจากคำภาษาละตินว่า radius หมายถึง รังสี (ray)

เรเดียมในตารางพีริออดิก
เรเดียมถูกจัดไว้ในกลุ่ม โลหะแอลคาไลน์เอิร์ท (alkaline earth metals) ซึ่งเป็นธาตุในกลุ่ม (group) 2 ของตารางพีริออดิก หรือที่มักเรียกว่าตารางธาตุ.ชื่อของโลหะกลุ่มนี้มีคำว่า earth หมายถึง ดิน จึงพบได้ในเปลือกโลก แต่ไม่ใช่ในสภาพธาตุบริสุทธิ์ เนื่องจากไวปฏิกิริยา (reactive) จึงพบกระจัดกระจายทั่วไปในหินชนิดต่าง ๆ

    

 

ไอโซโทป

ครึ่งชีวิต

Ra-222

38.0 วินาที

Ra-223

11.43 วัน

Ra-224

3.66 วัน

Ra-225

14.9 วัน

Ra-226

1600.0 ปี

Ra-228

5.76 ปี

ประวัติและการค้นพบของเรเดียม
ผู้ค้นพบเรเดียม คือ มารี กูรี กับสามีชื่อ ปีแอร์ กูรี เมื่อปี 1898 จากแร่พิตช์เบลนด์ (pitchblende) จากเมืองโจอาคิมสทาล (Joachimsthal) ทางตอนเหนือของโบฮีเมีย (North Bohemia) สามีภรรยากูรีได้สกัดแยกยูเรเนียมจากพิตช์เบลนด์ และพบว่าในกากแร่ยังมีกัมมันตภาพรังสีอยู่ เมื่อนำมาสกัดอีกก็พบเรเดียม และในปี 1902 มารีและปีแอร์ กูรี กับ อองเดร เดอบีแยน (Andre Debierne) สามารถเตรียมโลหะเรเดียมบริสุทธิ์ได้ มักกล่าวกันว่ามารี กูรี อายุสั้นกว่าปกติ เกิดจากการรับรังสีจากเรเดียม ที่พกพาไว้ในกระเป๋าเสื้อกาวน์อยู่เป็นประจำ

ที่เกิด (occurrence) ของธาตุเรเดียม
พบได้จากแร่ที่มียูเรเนียม เช่น พิตช์เบลนด์ คาโนไทต์ ซึ่งพบมากในสหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวเม็กซิโก ออสเตรเลีย และแอฟริกา

การใช้ประโยชน์ทั่วไปของเรเดียม
ใช้รักษามะเร็ง และทำสีเรืองแสง

สีเรืองแสงสีขาวผสมเรเดียม พบได้บนหน้าปัดและเข็มนาฬิการุ่นเก่า
สมบัติต่าง ๆ ของเรเดียม
          ชื่อธาตุ : เรเดียม (radium)
          สัญลักษณ์ของธาตุ : Ra
          เลขเชิงอะตอม (atomic number) : 88
          มวลเชิงอะตอม (atomic mass) : 226.0 หน่วยมวลอะตอม (amu)
          จุดหลอมเหลว (melting point) : 700.0 องศาเซลเซียส (973.15 องศาเคลวิน)
          จุดเดือด (boiling point) : 1737.0 องศาเซลเซี่ยส (2010.15 องศาเคลวิน)
          จำนวนโปรตอน/อิเล็กตรอน ในอะตอมเรเดียม : 88
          จำนวนนิวตรอนในอะตอมเรเดียม-226 : 138
          โครงสร้างผลึก : คิวบิก (Cubic)
          ความหนาแน่น ณ 293 องศาเคลวิน : 5.0 กรัม/ลบ.ซม.
          สี : ขาวแวววาว

http://www.facts-about.org.uk/science-element-radium.htm

โพสต์เมื่อ : 24 พฤษภาคม 2555