Nuclear Science
STKC 2555

หลักการพื้นฐานของ เพ็ต/ซีที (PET/CT)
Basic Principles of PET/CT

โกมล อังกุรรัตน์
ศูนย์ไอโซโทปรังสี
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

        เพ็ต/ซีที (PET/CT) เป็นเครื่องสร้างภาพเสมือนที่ก้าวหน้าทันสมัย เป็นการรวมเอาเครื่องสร้างภาพสองแบบที่แตกต่างกัน มารวมกันเป็นกระบวนการเพียงหนึ่งเดียว วิธีการของ PET และ CT ร่วมกันสร้างภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย ที่แน่นอนถูกต้องมากขึ้น และได้ดีกว่าการใช้ PET และ CT เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการสร้างภาพ PET/CT เป็นเครื่องมือที่ดีมากสำหรับการตรวจหามะเร็งและดูว่า มันมีการแพร่กระจายไปไกลแค่ไหนแล้วในร่างกาย จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพทย์ในการตัดสินใจ ถึงการจะใช้วิธีการใดที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วย และยังสามารถแสดงถึงว่า วิธีการรักษามะเร็งมีการตอบสนองที่ดีหรือไม่อย่างไร ?

เพ็ต (PET) คืออะไร ? (What is PET?)
          “PET” มาจากคำว่า positron emission tomography โดยการ กราดตรวจ หรือ กราดภาพ (scan) PET สามารถสร้างภาพของกิจกรรมทางชีวเคมีของร่างกาย PET แสดงให้เห็นถึงอัตราที่เซลล์ของร่างกายถูกทำลายและการใช้ปริมาณน้ำตาล ซึ่งเรียกกิจกรรมนี้ว่าการเผาผลาญอาหาร โดยเซล์มะเร็งจะมีอัตราในการเผาผลาญน้ำตาลที่สูงกว่าเซลล์ปกติมาก การสร้างภาพด้วย PET จะแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมของเซลล์ที่ผิดปกตินี้ สำหรับวิธีการสร้างภาพด้วย PET ต้องมีการฉีดวัสดุกัมมันตรังสีรังในปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในกระแสเลือด วัสดุนี้เรียกว่าไอโซโทปรังสี PET สแกนจะตรวจจับรังสีที่เกิดจากไอโซโทปรังสีแล้วสร้างภาพขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เครื่อง PET แผ่รังสีผ่านร่างกายในระดับปริมาณที่ต่ำมาก

ซีที (CT) คืออะไร ? (What is CT?)
          “CT” เป็นคำย่อของ computed tomography มีศัพท์บัญญัติว่า “การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์” วิธีการของ CT Scan ใช้รังสีเอกซ์กราดตรวจและคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพของส่วนร่างกาย CT Scan จะแสดงให้เห็นอวัยวะของร่างกาย กระดูก และเนื้อเยื่อ ได้รายละเอียดดีกว่าการใช้รังสีเอกซ์ตามปกติ สำหรับการทำ CT Scan จะต้องมีการฉีดสารเพื่อยกระดับความคมชัดของภาพทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้ภาพที่ได้มีความคมชัดขึ้น CT ทำให้มีการได้รับการแผ่รังสีในปริมาณที่น้อย

เพ็ต/ซีที (PET/CT) ทำงานอย่างไร ? (What does PET/CT do?)
          PET สร้างภาพเป็นรหัสสี สีที่แตกต่างกันแสดงระดับที่แตกต่างกันของกิจกรรมของเซลล์ CT Scan แสดงตำแหน่งที่แม่นยำของอวัยวะของร่างกาย และสามารถแสดงให้เห็นการเจริญเติบโตของอวัยวะที่ผิดปกติ เมื่อวางภาพที่ได้จากการสแกนของ CT ลงบนภาพที่ได้จากการแสกนของ PET แพทย์ก็สามารถชี้ชัดลงไปได้ ถึงตำแหน่งที่แน่นอนของกิจกรรมของเซลล์ที่ผิดปกติ นอกจากนั้น ยังมองเห็นถึงระดับและขอบเขตของกิจกรรมของเซลล์นั้น ๆ เห็นชัด ทั้งนี้เพราะแม้ว่าจากการทำ CT Scan ยังไม่แสดงผลให้เห็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้น แต่ PET Scan สามารถแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมของเซลล์ที่ผิดปกตินั้นได้

รูปแสดงความแตกต่างของผลที่ได้จากการสร้างภาพของ PET, CT และ PET/CT ภาพที่ชัดเจนมากที่สุดเป็นผลมาจากเครื่อง PET/CT

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ ? (What happens before the exam?)
          คนไข้จะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล พวกเครื่องประดับร่างกายโลหะที่อาจจะมีผลแทรกซ้อนต่อการตรวจต้องถอดออก จะมีการสอดชุดเข็มฉีดยาที่หลอดเลือดดำตรงแขน คนไข้จะได้รับการฉีดสารไอโซโทปรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทางหลอดเลือดดำผ่านทางชุดเข็มฉีดยานี้ จากนั้นคนไข้จะต้องนั่งนิ่ง ๆ ประมาณหนึ่งชั่งโมงเพื่อให้ไอโซโทปรังสีเคลื่อนตัวไปทั่วร่างกาย

อะไรจะเกิดขึ้นระหว่างการตรวจ ? (What happens during the exam?)
          คนไข้ต้องถูกขอร้องให้ปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่าง หลังจากนั้นก็เข้าไปที่ห้องสแกน เครื่องสแกน PET/CT ก็คือเครื่องที่นำเอาวิธีการสแกนของวิธีการของ PET และ CT มารวมเข้าด้วยกันในขั้นตอนเดียว มีลักษณะเป็นวงแหวนขนาดใหญ่เหมือนขนมโดนัท จะมีโต๊ะสำหรับให้ผู้ป่วยนอน แล้วสามารถเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เข้าไปวงแหวนนี้

รูปเครื่องสแกน PET/CT

          นักเทคนิคจะช่วยจัดให้ผู้ป่วยนอนบนโต๊ะนี้ ผู้ป่วยต้องนอนนิ่ง ๆ ตลอดการตรวจหรือสแกน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที

          ในขั้นตอนต่อไป คนไข้จะได้รับการฉีดสารเพื่อยกระดับความคมชัดของภาพทางหลอดเลือดดำ จะมีการยกแขนในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจมีความรู้สึกอุ่นขึ้น อาจมีอาการหน้าแดง ในปากอาจรู้สึกมีรสชาติเค็ม หรือรสชาติโลหะ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ในช่วงสองสามนาที ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คนไข้ก็ต้องบอกนักเทคนิคในอาการเหล่านี้ หรือปฏิกิริยาอื่น ๆ คนไข้อาจรู้สึกมีอาการคลื่นไส้ การหายใจสั้น ๆ มีอาการคันหรือจาม ถ้ามีอาการเหล่านี้ ต้องแจ้งแก่แพทย์หรือนักเทคนิคที่อยู่ภายนอก ผ่านระบบการติดต่อ นักเทคนิคจะเข้ามาในห้อง โดยยืนอยู่หลังหน้าต่างกระจกกำบังรังสี นักเทคนิคจะมองเห็นผู้ป่วยตลอดเวลาการสแกน และคอยให้คำแนะนำต่าง ๆ คนไข้สามารถพูดคุยกับนักเทคนิดผ่านทางระบบติดต่อภายใน คนไข้ต้องนอนอยู่ให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การสแกนไม่มีอาการเจ็บปวดหรือความรู้สึกอื่นๆ ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเช่นกัน

หลังการตรวจควรปฏิบัติอย่างไร ? (What happens after exam?)
สารไอโซโทปรังสีส่วนมากจะถูกเก็บอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ หลังการตรวจควรดื่มน้ำมาก ๆเพื่อช่วยให้การขับถ่ายสารไอโซโทปรังสี ให้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นก็กลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ

ถอดความจาก http://electromedicinspector.wordpress.com/2010/04/06/basic-principle-of-petct/

โพสต์เมื่อ : 23 พฤษภาคม 2555