Nuclear Science
STKC 2555

วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบด้วยซีทีสแกนปริมาณรังสีต่ำ

ดร. สุวิมล  เจตะวัฒนะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          คงจะเสียความรู้สึกไม่น้อย หากเราปวดท้องแล้วหมอจับผ่าไส้ติ่ง แต่ผลปรากฎว่า ไส้ติ่งมันไม่ได้อักเสบอย่างที่คิด ปัจจุบันการทำซีทีสแกนจึงได้กลายเป็นการตรวจที่โดดเด่น สำหรับการวินิจฉัย อาการไส้ติ่งอักเสบในผู้ใหญ่ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย การได้รับรังสี (เอกซ์) จากการทำซีทีสแกน ยังเป็นที่น่ากังขากันอยู่

          การศึกษาล่าสุดจากแดนกิมจิระบุว่า การทำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีต่ำ (low-dose CT) ได้ผลดีในการวินิจฉัยอาการไส้ติ่งอักเสบได้เช่นเดียวกันกับการทำซีทีแสกนด้วยปริมาณรังสีตามมาตรฐานทั่วไป (standard-dose CT) ซึ่งตามปกติแล้ว แพทย์จะเป็นผู้สั่งทำซีทีสแกนช่องท้องในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีอาการของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน เช่น อาการปวดบริเวณใกล้สะดือ ทั้งนี้ก็เพื่อวินิจฉัยสภาวะของผู้ป่วย ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำการผ่าตัดเอาไส้ติ่งอออกไปหรือไม่

          ที่สหรัฐอเมริกาในแต่ละปีจะมีการผ่าตัดไส้ติ่งถึง 250,000 ราย ดอกเตอร์อีริก พอลสัน (Dr. Erik Paulson) นักรังสีเทคนิค (radiologist) จากศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Duke ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า “ตราบใดที่ซีทีสแกนถูกใช้อย่างรอบคอบ มันจะช่วยให้แพทย์สามารถลดอัตราการผ่าตัด ที่ผ่าไปแล้วไม่พบพยาธิสภาพของไส้ติ่งอักเสบได้ โดยหนึ่งในห้าของผู้ป่วยที่ถูกตัดไส้ติ่งออกไปถูกพบว่ามันยังปกติดีอยู่ แต่อาการปวดนั้นมาจากสาเหตุอื่น”

แม้ว่าการทำซีทีสแกนสามารถปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบได้ แต่ยังมีความกังวลระหว่างแพทย์และคนไข้ ถึงการได้รับรังสีปริมาณต่ำระหว่างการทำซีทีสแกน และโอกาสที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งจากการได้รับรังสี ดอกเตอร์พอลสันกล่าวต่อไปว่า “ไม่มีข้อสงสัยที่ว่าการทำซีทีสแกนมีความปลอดภัย แต่เรามีความเชื่อว่า เราควรจะพยายามลดปริมาณรังสีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและเด็ก ที่มีความเสี่ยงต่อรังสีสูงที่สุด”

          รายงานการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ในวารสารวิชาการระหว่างประเทศ อันมีชื่อว่า New England Journal of Medicine โดยคณะแพทย์จากเกาหลีใต้ ได้ทำการเปรียบเทียบอัตราการตัดไส้ติ่ง ที่พบว่าเมื่อตัดออกไปแล้วไส้ติ่งไม่ได้อักเสบ ระหว่างผู้ป่วยที่ทำซีทีสแกนด้วยรังสีปริมาณต่ำ และซีทีสแกนที่ได้รับรังสีตามปริมาณที่ใช้กันทั่วไป ดอกเตอร์คยองโฮลี (Dr. Kyoung Ho Lee) นักรังสีเทคนิค จากคณะแพทย์แห่ง Seoul National University หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวว่า เขาหวังว่าการศึกษานี้จะสามารถมีส่วนทำให้ ลดปริมาณการได้รับรังสีในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยได้ การศึกษาได้กระทำในผู้ป่วย 891 คน อายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปี ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ ขอบเขตของการศึกษา จำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการทำซีทีสแกน เพราะสงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ผู้วิจัยได้เลือกผู้ป่วยแบบสุ่มมา 444 คน เพื่อไปทำซีทีสแกนด้วยรังสีปริมาณต่ำ ส่วนอีก 447 คนที่เหลือทำซีทีสแกนแบบได้รับรังสีตามปริมาณมาตรฐาน ผลที่ได้พบว่า ผู้ป่วย 172 คน ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบหลังผ่านการทำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีต่ำ และเข้าห้องตัดไส้ติ่งไปแล้วนั้น มีผู้ป่วย 6 คนหรือคิดเป็น 3.5 เปอร์เซนต์ ที่ไม่พบพยาธิสภาพของไส้ติ่งอักเสบแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ป่วย 186 คนที่ได้รับการทำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีตามปกตินั้น มีผู้ป่วย 6 คน หรือคิดเป็น 3.2 เปอร์เซนต์ที่ผ่าไปแล้วไม่พบพยาธิสภาพของไส้ติ่งอักเสบเช่นกัน

          การที่ผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างในอัตราการผ่าแล้วไม่พบพยาธิสภาพของการอักเสบ ระหว่างผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ แสดงให้เห็นว่าการทำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีต่ำ ไม่ได้ด้อยกว่าและสามารถให้ภาพถ่ายทางรังสีที่มีคุณภาพสูงพอ ที่จะให้ นักรังสีเทคนิคเลือกผู้ป่วยที่เป็นไส้ติ่งอักเสบออกมาได้

          ในแง่ของการดูแลผู้ป่วย เช่น เวลาในการนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดให้ทันการ และจำนวนผู้ป่วย ที่ต้องทำการสแกนซ้ำ ก็มีความใกล้เคียงกันระหว่างสองกลุ่มนี้  ผู้ป่วยกลุ่มรังสีต่ำได้รับปริมาณรังสี 2 มิลลิซีเวิร์ต (millisievert) ระหว่างการสแกน ส่วนกลุ่มที่ได้รับรังสีตามมาตรฐานได้รับไปถึง 8 มิลลิซีเวิร์ต (มิลลิซีเวิร์ต เป็นหน่วยของการได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดการแตกตัว และปริมาณรังสีที่ได้รับจากธรรมชาติทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 มิลลิซีเวิร์ต/ปี)

          คณะผู้วิจัยได้ทำการประมาณไว้ว่า การทำซีทีสแกนช่องท้องด้วยปริมาณรังสีตามมาตรฐาน อาจจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 63 ราย ในประชากรแสนคน และเพิ่มขึ้น 72 ราย ในผู้หญิงทุก ๆ แสนคน ที่ได้รับการสแกนตอนอายุ 30 ในขณะที่การได้รับรังสีปริมาณต่ำ อัตราการเพิ่มดังกล่าวมีเพียง 14 และ 16 ราย เท่านั้น หัวหน้าคณะวิจัยชาวเกาหลีใต้กล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่างไรก็ดี ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า ปริมาณรังสีที่ใช้ในการศึกษาทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะสามารถทำให้เป็นมะเร็งได้จริงหรือไม่ และการใช้ปริมาณรังสีต่ำในการสแกน แทนที่การใช้ปริมาณรังสีมาตรฐานทั่วไป จะสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งนี้ลงได้”

          แม้ว่าความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ที่เกี่ยวข้องกับการทำซีทีสแกนยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัด รองศาสตราจารย์ทางศัลยกรรมแห่งมหาวิทยาลัย Southern California ดอกเตอร์ร็อดนี เมสัน (Dr. Rodney Mason) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “หากเราสามารถได้รับผลเช่นเดียวกัน จากการทำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีต่ำ ก็เป็นที่ชัดเจนว่ามันมีความสำคัญ เนื่องจากทำให้คนไข้มีความรู้สึกผ่อนคลายขึ้นว่า จะไม่เป็นมะเร็งในอนาคต” และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มันอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องยอมรับการใช้รังสีปริมาณต่ำลงไป อย่างน้อยสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปี และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม หากจะมีการนำซีทีสแกนด้วยปริมาณรังสีต่ำ ไปใช้กับผู้ป่วยที่อายุยังน้อย”

          งานวิจัยนี้ ได้ผลสอดคล้องกับการศึกษาที่ผ่านมา ในการทำซีทีสแกนรังสีต่ำเพื่อวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ แต่ทำในกลุ่มตัวอย่างที่เล็กกว่าด้วย ดอกเตอร์พอลสันกล่าวเสริมว่า ในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ปริมาณรังสีที่สูงขึ้น กับคนบางกลุ่ม เช่น คนอ้วน การศึกษาของเกาหลีนี้ ใช้ผู้ป่วยที่มีรูปร่างเฉลี่ยแล้วผอมกว่าคนอเมริกัน ซึ่งยังไม่มีการตรวจสอบว่า ผลที่ได้จากการทำซีทีสแกนด้วยรังสีต่ำ จะให้ผลที่แตกต่างกันในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่าหรือไม่ เขาเชื่อว่าในทางฏิบัติแล้ว สำหรับโรคแทบทุกชนิด สามารถลดปริมาณรังสีในการสแกนลงได้ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยผลการวินิจฉัยโรคยังคงเหมือนเดิม

          งานวิจัยที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ได้กระทำในการตรวจคัดโรค (screening) เพื่อหามะเร็งปอด โดยการทำซีทีสแกนด้วยรังสีปริมาณต่ำ ในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูบบุหรี่ที่ไม่มีอาการของมะเร็ง พบว่าผลการตรวจหามะเร็งปอดด้วยวิธีนี้ มีความคล้ายคลึงกันกับการตรวจหาด้วยวิธีอื่น เป็นการยืนยันว่า การทำซีทีสแกนด้วยรังสีปริมาณต่ำมีประโยชน์ ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่า มะเร็งที่ตรวจพบในการตรวจร่างกายประจำปี ด้วยการทำซีทีสแกนปริมาณรังสีต่ำ เป็นมะเร็งจริง ๆ ที่สามารถคร่าชีวิตได้หากไม่ตรวจพบเสียแต่เนิ่น ๆ

          ส่วนค่าใช้จ่ายในการสแกนเป็นเท่าไรนั้น ไปพิจารณากันเอาเอง

เอกสารอ้างอิง :

  1. Kim K, Kim YH, Kim SY, et al. 2012 Low-dose abdominal CT for evaluating suspected appendicitis. N Engl J Med. Apr 26;366(17):1596-605.
  2. Low-Radiation CT Scans Effective at Spotting Appendicitis: Study Approach cuts cancer risk without raising number of unnecessary surgeries ของนิตยสารออนไลน์ Science News ฉบับ 25 April 2012 โดย Carina Storrs (http://health.usnews.com/health-news/news/articles/2012/04/25/low-radiation-ct-scans-effective-at-spotting-appendicitis-study)
  3. Henschke CI, Yankelevitz DF, Yip R, at al. 2012 Lung Cancers Diagnosed at Annual CT Screening: Volume Doubling Times. Radiology. 2012 May;263(2):578-83. Epub 2012 Mar 27.

โพสต์เมื่อ : 3 พฤษภาคม 2555