Nuclear Science
STKC 2555

คนท้องก็ฮัลโหลได้

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            การดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสาร กลายเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งขาดไม่ได้เสียแล้ว การติดต่อสื่อสารด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ใช้กัน รวมทั้งผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แม้กระนั้นก็ตาม เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า คลื่นรังสีจากมือถือ อาจทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ คนท้องกับมือถือจึงไม่ใช่ของคู่กัน คำพูดเช่นนี้ ได้ถูกตอกย้ำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อ ฮิวล์ เทเลอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานผลการวิจัยของเขา โดยศึกษากับหนูทดลอง ที่กำลังเริ่มตั้งท้องจำนวน 33 ตัว จับมาขังรวมกันในกรง จากนั้นนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปวางไว้ด้านบนของกรง
พร้อมกับส่งสัญญาณเรียกเข้ามือถืออย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนตลอดระยะเวลา 17 วัน ซึ่งเท่ากับกำหนดเวลาการตั้งท้องของหนูพอดี เมื่อเหล่าคุณแม่หนูตกลูกออกมา การทดสอบกับลูกหนูก็เริ่มขึ้น ซึ่งผลงานวิจัยสรุปว่า ลูกหนูคลอกนี้ แสดงพฤติกรรม กระวนกระวาย ตื่นเต้นผิดปกติ และความจำค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เขายังกล่าวสรุปต่ออีกว่า ผลที่เกิดกับหนูย่อมต้องเกิดกับมนุษย์อย่างปราศจากข้อกังขา กล่าวคือรังสีจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุที่ทำให้ทารกกลายเป็นบุคคลสมาธิสั้น อีกทั้งยังมีอารมณ์ค่อนข้างสับสน มีพฤติกรรมตื่นเต้น วุ่นวาย (hyperactive) หรือเข้าข่ายที่เรียกกันว่า “อยู่ไม่สุข” เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้า
             อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ในหมู่นักวิชาการทั่วไป และในที่สุดก็ถูกหักล้างความน่าเชื่อถือลงไปจนได้ นักจิตวิทยาสองท่านนามว่า อีริก เทเลอร์ และ คายา รูเบีย แห่งสถาบันจิตวิทยา วิทยาลัยคิงส์ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ให้เหตุผล และข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ โดยนักวิจัยทั้งสองให้เหตุผลโต้แย้ง เริ่มตั้งแต่ การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของลูกหนูกลุ่มศึกษา และกลุ่มควบคุมว่า ไม่สามารถสรุปได้โดยง่ายเช่นนั้น การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ชนิดนี้ กระทำได้ยาก

และต้องใช้เวลามากกว่าที่นำเสนอในงานวิจัย ลำดับต่อไปคือ รังสีจากมือถือเป็นคลื่นรังสีแม่เหล็ก (magnetic radiation) ไม่ใช่กัมมันตภาพรังสี การทำอันตรายจึงเกิดขึ้นน้อยมาก และไม่มากพอที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต และลำดับสุดท้าย การได้รับคลื่นรังสีของหนูทดลอง สูงมากเมื่อเทียบกับการได้รับของหญิงตั้งครรภ์ เพราะการส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ในงานทดลองตลอด 24 ชม. รวม 17 วัน นั้น ไม่ใช่การใช้งานโดยปกติของคนทั่วไป นอกจากนี้ขนาดตัวของหนูทดลองและคนก็มีความแตกต่างกัน
ดังนั้น คนท้องก็ยังสามารถใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงอันตราย ที่อาจมีต่อทารกในครรภ์ แต่พึงระวังว่า การใช้งานนานเกินไป หรือบ่อยครั้งเกินความจำเป็น นอกจากจะเมื่อยมือแล้ว ยังเปลืองเงินค่าใช้จ่ายอีกด้วย

จากเรื่อง Pregnant need not worry about cell phone use: website www. Newscientist.com (access on March 19, 2012)

โพสต์เมื่อ : 4 เมษายน 2555