Nuclear Science
STKC 2555

มารี กูรี กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสองท่าน

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            มารี กูรี (Marie Curie) เป็นผู้หญิงได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 1903 และครั้งที่สองในสาขาเคมีเมื่อปี 1911 ชื่อเสียงของมารีเกิดจากผลงานเกี่ยวกับกรรมวิธีสกัดเรเดียม ซึ่งเธอไม่จดสิทธิบัตร และการที่เรเดียมสกัดได้น้อย แต่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จนมารีเองก็มีเรเดียมไม่พอสำหรับทำการทดลองของตัวเอง ดังนั้น นางวิลเลียม บราวน์ เมโลนีย์ (Mrs. William Brown Meloney) ได้รณรงค์หาเงินในหมู่สตรีชาวอเมริกันทั่วประเทศ เพื่อจัดซื้อเรเดียมให้เธอ ใช้เวลาปีเศษเมโลนีย์ สามารถรวบรวมเงินบริจาค จากคนละเล็กคนละน้อย ตั้งเป้าไว้ หนึ่งแสนดอลลาร์อเมริกัน ในการรับมอบเรเดียม มารีกับลูกสาวสองคนคือ อีแรน (Irene) อายุ 23 ปี และ แอฟ (Eve) อายุ 16 ปี จึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
 
  เมโลนีย์ อีแรน มารี และแอฟ

          ก่อนวันพิธีรับมอบเรเดียมหนึ่งวัน เมื่อเอกสารสำคัญการรับมอบได้ถูกนำมาให้มารีตรวจทานก่อน มันระบุว่า เรเดียมนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเธอ และตกทอดไปยังลูกหลานของเธอ ซึ่งมารีปฏิเสธที่จะรับ โดยปรารถนาให้สถาบัน และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ ดังนั้น นักกฎหมายจึงได้แก้ไขข้อความเสียใหม่ให้เป็นไป ตามความประสงค์ของมารี

          วันที่ 20 พฤษภาคม 1921 ประธานาธิบดีวอร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding) ประธานาธิบดีคนที่ 26 แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ทำพิธีมอบเรเดียมหนักหนึ่งกรัม (มูลค่าหนึ่งแสนดอลลาร์อเมริกัน) ให้กับเธอที่ทำเนียบขาว

 
  มารีกับประธานาธิบดีฮาร์ดิง

          ในพีธีมอบเรเดียม ประธานาธิบดีฮาร์ดิงกล่าวต้อนรับโดยเรียกมารีว่าเป็น “ลูกสาวบุญธรรมของฝรั่งเศส” (adopted daughter of France) และ “ลูกสาวโดยกำเนิดของโปแลนด์” (native-born daughter of Poland) และ ได้กล่าวยกย่องมารีเป็นอย่างสูงในฐานะผู้หญิงเก่งแห่งยุค ซึ่งความสามารถทางวิทยาศาสตร์ สร้างความเท่าเทียมกัน ในหญิงกับชาย ในการมอบขวดบรรจุเรเดียมใบน้อย ชาวอเมริกันเป็นหนี้ความรู้ จากความทุ่มเทของมารีที่ค้นพบเรเดียม และนำเรเดียมมาเอาชนะโรคร้าย และเชื่อว่า ด้วยปัญญาของมารี เธอจะสามารถนำเรเดียมนี้ไปแผ่ขยายความรู้ใหม่ ๆ และบรรเทาทุกข์ทรมานแก่อนุชนต่อไป ของขวัญชิ้นน้อยนี้จะคอยเตือนมารีถึงความรักของผู้คนที่รู้สึกขอบคุณต่อมารี และยังเป็นพยานแก่การอุทิศตนแก่งานของเธอ แก่สตรีอันเป็นที่รักสูงสุด

          มารี กูรี กลับมาเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในปี 1929 เพื่อรับมอบเรเดียมเป็นของขวัญอีกครั้ง คราวนี้ผู้ทำพิธีมอบ ได้แก่ประธานาธิบดีคนที่ 31 ของสหรัฐอเมริกา เฮอร์เบิร์ต ซี. ฮูเวอร์ (Herbert C. Hoover) โดยมอบเป็นเช็คมูลค่า 50,000 ดอลลาร์อเมริกัน (ราคาของเรเดียมตกลงครึ่งหนึ่งภายในเวลา 8 ปี) สำหรับนำไปซื้อเรเดียม

 
  มารีกับประธานาธิบดีฮูเวอร์

          ในพิธีมอบ ประธานาธิบดีฮูเวอร์กล่าวว่า ท่านเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันทั้งประเทศ เพื่อแสดงความขอบคุณ ต่อคุณูปการที่ มาดามคูรี (Madame Curie) ผู้ค้นพบเรเดียม และใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ ในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง แก่ผู้ทุกข์ทรมานนับหลายแสนคน การทำงานของเธอไม่หวังประโยชน์ ถือเป็นงาน วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) ดังนั้น ทั้งหญิงและชายผู้มีใจกรุณาภายใต้การนำของนางวิลเลียม เมโลนีย์ จึงได้รวบรวมทุนสำหรับจัดซื้อเรเดียมปริมาณ 1 กรัม ให้เธอนำไปใช้ในโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยคูรี ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ และยังเป็นโอกาสแสดงความชื่นชม แก่ผู้ที่เสียสละอุทิศตนแก่มวลมนุษย์ผ่านทางอาชีพของตน

          มารีได้กล่าวตอบว่า เธอสำนึกว่าเป็นหนี้แก่มิตรในสหรัฐอเมริกา ที่ได้มอบความเมตาและความเข้าใจแก่เธอ เป็นครั้งที่สอง ให้เธอได้สมปรารถนาในสิ่งที่หวัง งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีความงดงามยิ่งใหญ่ และมีรางวัล อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เธอจึงพบความสุขในงานของเธอเอง และสุขยิ่งขึ้นที่งานของเธอช่วยบรรเทาทุกข์ แก่มนุษยชาติได้ เธอไม่เชื่อว่าตนเองสมควรได้รับคำยกย่องตามที่ท่านประธานาธิบดีได้กล่าว แต่งานด้านมนุษยธรรม ของท่านประธานาธิบดี จะได้รับคำขอบคุณจากชาวโปแลนด์ ของขวัญเลอค่า (เรเดียม 1 กรัม) ที่ได้รับนี้ จะช่วยให้ เปิดสถาบันเรเดียมในวอร์ซอได้เร็วขึ้น และ "ของขวัญชิ้นนี้ยังเป็นสัญลักษ์แห่งมิตรภาพอันคงทน ที่เชื่อมประเทศ ของท่าน (สหรัฐอเมริกา) เข้ากับประเทศฝรั่งเศสและโปแลนด์ "

โพสต์เมื่อ : 2 มีนาคม 2555