Nuclear Science
STKC 2555

สุนทรพจน์ของมารี กูรี ว่าด้วยการค้นพบเรเดียม

วาสซาร์คอลเลจ พูคิปซี นิวยอร์ก

14 พฤษภาคม 1921

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดิฉันสามารถบอกกับท่านได้หลายสิ่ง ที่เกี่ยวกับเรเดียมและปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี และนั่นจะกินเวลานาน แต่เพราะเราไม่มีเวลา ดิฉันจะเล่าเพียงสั้น ๆ ถึงงานในระยะเริ่มแรกของดิฉัน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรเดียม เรเดียมไม่ใช่เด็กทารกอีกต่อไปแล้ว มันมีอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว แต่สภาพต่าง ๆ ของการค้นพบ ค่อนข้างแปลกประหลาด ดังนั้น เรื่องนี้จึงน่าสนใจที่จะจดจำและเล่าสู่กันอยู่เสมอ

เราต้องย้อนกลับไปที่ปี 1897 ขณะนั้นโปรเฟสเซอร์กูรี (ปีแอร์ สามีของมารี) และดิฉันทำงานด้วยกัน ที่ห้องแล็บของ ภาควิชาฟิสิกส์และเคมีซึ่งโปรเฟสเซอร์กูรีสอนหนังสืออยู่ที่นั่น ส่วนดิฉันเองกำลังง่วนอยู่กับงานวิจัยรังสีของ ธาตุยูเรเนียม ซึ่งโปรเฟสเซอร์แบ็กเกอแรลค้นพบสองปีก่อนหน้านี้

ดิฉันใช้เวลานานพอสมควร ในการศึกษาหาวิธีที่ใช้วัดกัมมันตภาพรังสีของยูเรเนียมได้ดี และต่อจากนั้นดิฉันก็ต้องการ รู้ว่า ยังจะมีธาตุอื่นอีกหรือไม่ ที่ปลดปล่อยรังสีแบบเดียวกันนี้ ดังนั้นดิฉันจึงลงมือตรวจสอบธาตุทุกธาตุที่รู้จัก รวมทั้งสารประกอบของธาตุพวกนี้ด้วย ซึ่งพบว่าสารประกอบยูเรเนียมทุกชนิดล้วนมีกัมมันตภาพรังสี เช่นเดียวกับ สารประกอบทุกชนิดของทอเรียม แต่ไม่พบธาตุอื่นใดเลย รวมทั้งสารประกอบของธาตุเหล่านี้ว่ามีกัมมันตภาพรังสี สำหรับสารประกอบของยูเรเนียมและทอเรียม ดิฉันพบว่าพวกมันมีกัมมันตภาพรังสี เป็นสัดส่วนกับปริมาณของยูเรเนียม และทอเรียมในสารประกอบเหล่านั้น ยิ่งมียูเรเนียมหรือทอเรียมมากเพียงใด กัมมันตภาพก็ยิ่งสูงขึ้นเพียงนั้น กัมมันตภาพ จึงเป็นสมบัติของอะตอมของธาตุ หรือก็คือของยูเรเนียมและของทอเรียม

ต่อมาดิฉันก็หันมาตรวจหากัมมันตภาพรังสีของแร่ต่าง ๆ และดิฉันพบว่าแร่พวกนี้มีหลายชนิด ถ้ามียูเรเนียมหรือทอเรียม หรือทั้งยูเรเนียมและทอเรียมเป็นองค์ประกอบ ล้วนมีกัมมันตภาพรังสีทั้งนั้น แต่มีบางครั้ง ที่วัดกัมมันตภาพได้ไม่ตรงตาม ที่ดิฉันคาดไว้ มันสูงกว่ากัมมันตภาพของสารประกอบยูเรเนียมหรือสารประกอบทอเรียมอย่างเช่นแร่ที่เป็นสารประกอบ ออกไซด์ ซึ่งองค์ประกอบแทบจะเป็นธาตุยูเรเนียมหรือทอเรียมทั้งหมด

ตอนนั้นดิฉันคิดว่า ในแร่พวกนี้น่าจะมีธาตุบางธาตุที่ยังไม่เป็นที่รู้จักปนอยู่ ซึ่งมีกัมมันตภาพสูงกว่ายูเรเนียมและทอเรียม เป็นอันมาก นี่ทำให้ดิฉันต้องการค้นหาและสกัดแยกธาตุนั้นออกมา และดิฉันกับโปรเฟสเซอร์กูรีตกลงร่วมกันทำงานนี้ พวกเราคิดว่างานนี้น่าจะเสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือน แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น มันกินเวลาหลายปี กว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ ผลคือไม่ใช่มีเพียงแค่ธาตุใหม่เพียงธาตุเดียว แต่ว่ามีหลายธาตุ แต่ธาตุที่สำคัญที่สุดคือเรดียม ซึ่งสามารถสกัดแยกได้ในสภาพบริสุทธิ์

ถึงตอนนี้ สิ่งน่าสนใจเป็นพิเศษของเรเดียมก็คือในด้านความเข้มของรังสีของมัน ซึ่งสูงกว่าความเข้มของรังสีจาก ยูเรเนียมหลายล้านเท่า และผลด้านต่าง ๆ ของรังสีที่ทำให้เรเดียมมีความสำคัญขึ้นมา ถ้ากล่าวกันในทางปฏิบัติ สมบัติที่สำคัญที่สุดของรังสีก็คือ มันทำให้เกิดผลทางสรีรวิทยาด้านต่าง ๆ ต่อเซลล์ของอวัยวะมนุษย์ ผลพวกนี้อาจ นำมาใช้รักษาโรคได้หลายโรค ซึ่งผลลัพท์ที่ดีมีให้เห็นในหลาย ๆ กรณี กรณีที่ดูแล้วว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษคือ การใช้รักษาโรคมะเร็ง การใช้เรเดียมในทางการแพทย์ทำให้มีความจำเป็นต้องได้ธาตุนั้นมาในปริมาณที่พอเพียง ดังนั้น โรงงานสำหรับผลิตเรเดียมโรงหนึ่งจึงเริ่มตั้งขึ้นในฝรั่งเศส และต่อมาก็ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแร่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาร์โนไทต์เป็นจำนวนมาก สหรัฐอเมริกาผลิตเรเดียมได้หลายกรัมในแต่ละปี แต่ราคาของเรเดียมยังคงสูงมาก เพราะปริมาณของเรเดียมที่มีอยู่ในแร่นั้นต่ำมาก ราคาของเรเดียมจึงแพงกว่าทองคำหลายแสนเท่าท่าตัว

แต่เราต้องไม่ลืมว่า เมื่อตอนที่ค้นพบเรเดียม ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะมีประโยชน์ในโรงพยาบาล งานนี้เป็นเพียงงานหนึ่ง ด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และนี่คือข้อพิสูจน์ประการหนึ่ง ว่าการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ต้องไม่พิจารณาจากมุมมอง ด้านความเป็นประโยชน์โดยตรงของมัน งานวิทยาศาสตร์ต้องทำเพื่อความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์เอง ต้องทำเพื่อ ความงดงามของวิทยาศาสตร์ และจากนั้นก็จะมีโอกาสอยู่เสมอ ที่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ อาจกลายเป็น เช่นกับเรเดียม ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษยชาติ

ประวัติศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ของเรเดียมงดงามมาก เรเดียมช่วยให้มีการศึกษาสมบัติของรังสีได้อย่างละเอียด ทำให้เรารู้ว่าเรเดียมขับดันอนุภาคหลายชนิดออกมาด้วยความเร็วสูงมากใกล้กับความเร็วของแสง เรารู้ว่าอะตอม ของเรเดียมถูกทำลายไปเมื่อมันขับอนุภาคเหล่านี้ออกมา อนุภาคที่ถูกขับออกมาส่วนหนึ่งคืออะตอมธาตุฮีเลียม และลักษราการนีเองที่เป็นการพิสูจน์ว่า ธาตุรังสีมีการแตกทำลายลงอยู่อย่างสม่ำเสมอ และในท้ายที่สุด ส่วนใหญ่สิ่งที่ธาตุรังสีผลิตออกมาก็คือ ฮีเลียมและตะกั่ว นี่คือ อย่างที่ท่านทราบ ทฤษฎีการแปรธาตุของอะตอม ซึ่งไม่เสถียร เป็นจริงอย่างอย่างที่เคยเชื่อกันมาก่อน เพียงแต่มันอาจเกิดเองได้

เรเดียมไม่ใช่ธาตุเดียวที่มีสมบัตินี้ มีธาตุ-รังสีอีกหลายธาตุเป็นที่รู้จักกันแล้ว เช่น พอโลเนียม เมโซทอเรียม (ปัจจุบันพบแล้วว่าคือเรเดียมหรือแอกทิเนียมที่มีเลขอะตอม 228) เรดิโอทอเรียม (ปัจจุบันหมายถึงทอเรียม-228) แอกทิเนียม เรายังรู้จักแก๊สกัมมันตรังสีอีกหลายชนิด ที่เรียกกันว่า “เอมะเนชัน” (emanations เช่น ไอโซโทปของธาตุ เรดอน เกิดจากการสลายกัมมันตรังสีของเรเดียม) เห็นได้ว่ามีสารต่าง ๆ และมีผลหรือปรากฏการณ์ต่างที่เกี่ยวข้องกับ กัมมันตภาพรังสี สาขานี้ยังกว้างใหญ่พออยู่เสมอสำหรับการทดลอง และดิฉันมีความหวังว่าเราจะประสบความก้าวหน้า อันงดงามในหลาย ๆ ปีต่อไปนี้ เป็นความปรารถอย่างจริงใจของดิฉัน ว่าพวกท่านบางคนควรจะได้ทำงานวิทยาศาสตร์ ด้านนี้ต่อไป และพิทักษ์ไว้ซึ่งความทะเยอทะยาน ความมุ่งมั่น ที่จะสร้างสรรค์ส่วนร่วมอันถาวร (การค้นพบ) เหลือไว้ ให้แก่วิทยาศาสตร์

จาก

On the Discovery of Radium

Famous Speech by Marie Curie

Vassar College in Poughkeepsie, NY - May 14, 1921

http://www.famous-speeches-and-speech-topics.info/famous-speeches-by-women/marie-curie-speech.htm

โพสต์เมื่อ : 2 มีนาคม 2555