Nuclear Science
STKC 2555

10 ลำดับอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากรังสีอันเป็นที่กล่าวขวัญ

ลำดับที่ :

2

เชอร์โนบิล (Chernobyl)

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          วันที่ 26 เมษายน 1986 ได้เกิด อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ (nuclear accident) กับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หมายเลข 4 ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เชอร์โนบิล (Chernobyl) ใน ยูเครน (Ukraine) เหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ โรงไฟฟ้า ได้วางแผนการทดสอบ โดยต้องการหาว่า ในกรณีที่เกิดไฟดับจากตัวจ่ายไฟฟ้าหลักไม่จ่ายไฟ กังหันไอน้ำยังจะหมุนและป้อนไฟฟ้าให้กับปั๊มน้ำหมุนเวียนได้อีกนานเท่าใด แต่เนื่องจากสถานีไฟฟ้าภูมิภาค อีกสถานีหนึ่งกำลังหยุดทำงาน การทดสอบจึงล่าช้าออกไป และเลื่อนไปทดสอบในกะกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ไม่มีการอบรมวิธีการทดสอบมาก่อน ผนวกกับข้อผิดพลาดที่เกิดต่อเนื่องตามกันมาอีกหลายประการ รวมถึงการตัดสินใจ ปิด กลไกดับเครื่องอัตโนมัติ อีกด้วย อันทำให้การทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ขาดเสถียรภาพ โดยทำให้ แท่งควบคุม (control rods) เกือบทั้งหมดถูกดึงออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์ (แท่งควบคุมถูกสอดไว้เพื่อลดปฏิกิริยานิวเคลียร์)

          เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขโดยการสอดแท่งควบคุมทั้งหมดกลับเข้าไปในแกนเครื่องปฏิกร์อย่างรวดเร็ว ทำให้ เครื่องปฏิกรณ์ดับอย่างกะทันหัน เรียกว่า สแกรม (SCRAM ย่อมาจาก safety control rod axe man) แต่การออกแบบแท่งควบคุมมีข้อเสียบางประการ ซึ่งเป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ทางด้านล่างของแกน เพิ่มขึ้น ถึงจุดนี้ กำลังไฟฟ้าก็สูงพรวดพราดขึ้นมหาศาล ทำให้แกนเครื่องปฏิกรณ์ร้อนเกินขนาด อุปกรณ์บันทึก ไม่สามารถลำดับเหตุการณ์อันแน่นอนที่เกิดขึ้นติดตามกันมาไว้ได้ เท่าที่ทราบ เป็นเพียงผลการจำลองเหตุการณ์ ทางคณิตศาสตร์ สิ่งที่ทราบแน่นอนก็คือ ไอน้ำก่อตัวขึ้นเป็นอันมากในแกนเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ระเบิด ทำให้ไอน้ำกัมมันตรังสี และ ผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส (fission products) หนักหลายตัน ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ หลังการระเบิด ระดับรังสีบริเวณแกนเครื่องปฏิกรณ์ขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ที่ทำให้เสียชีวิตถึง 30,000 เท่าตัว

          เหตุการณ์ครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตทันที 1 รายโดยหาศพไม่พบ กับอีก 1 คนเสียชีวิตในวันเดียวกัน อันเป็นผลจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับระหว่างเกิดการระเบิด และจากการวินิจฉัยเบื้องต้น มี 237 คนที่เกิด การแพ้รังสีเฉียบพลัน (acute radiation sickness) โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน และอีกส่วนหนึ่ง เป็นผู้มาชำระล้าง ซึ่งต่อมาผลยืนยันมี 134 ราย ในจำนวนนี้มี 28 คนที่เสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่ง 6 คน เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่ทำหน้าที่บนหลังคาอาคารกังหันไอน้ำ

          ต่อมาระหว่างปี 1987 และ 2004 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 19 ราย ไม่พบผู้ที่อยู่ภายนอกบริเวณโรงไฟฟ้า มีอาการแพ้รังสีเฉียบพลัน แต่หลังเกิดอุบัติเหติครั้งนี้ วินิจฉัยพบการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ในหมู่เด็กมีสัดส่วนสูงขึ้นมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากการสูดหรือกลืนฝุ่นกัมมันตรังสีไอโอดีนเข้าไป

          ผลการศึกษาในภายหลังประมาณว่า ในยูเครน รัสเซีย และเบลารุสมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ที่ได้รับผลทางรังสีจากเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล แต่ผลที่ได้รับจะมากน้อยเพียงใด แท้จริงคงไม่อาจรู้ได้เลย

จาก

โพสต์เมื่อ : 21 กุมภาพันธ์ 2555