Nuclear Science
STKC 2555

10 ลำดับอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากรังสีอันเป็นที่กล่าวขวัญ

ลำดับที่ :

8

หลุยส์ สโลติน (Louis Slotin)

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

           หลุยส์ สโลติน (Louis Slotin) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวแคนาดา ที่ได้ร่วมงานใน โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) อันเป็นโครงการทางทหารเพื่อสร้าง ลูกระเบิดอะตอม (atomic bomb) สำหรับการรบกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ สโลตินเกี่ยวข้องกับงานทดสอบ ภาวะวิกฤต (criticality) ของแกนพลูโทเนียม งานที่มักเรียกหากันว่า “กระตุกหนวดเสือ” (tickling the dragon’s tail)

          เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1946 สโลตินกับเพื่อนร่วมงานอีก 7 คน ทำการทดลองที่เกี่ยวข้องกับ การสร้างประกอบซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในขั้นตอนแรก ๆ ของ ปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียส (fission reaction) ขั้นตอนที่ว่าคือการประกอบ ครึ่งทรงกลมเบริลเลียม (half-spheres of beryllium) สองซีก เอาไว้รอบแกนพลูโทเนียม ทั้งนี้เบริลเลียมเป็น ตัวสะท้อนนิวตรอน (reflector) ที่ดี ซึ่งจะช่วยสะท้อนนิวตรอนกลับเข้าไปในแกนพลูโทเนียม และทำให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสมากขึ้น

          ขณะนั้น สโลติน กำลังติดตั้งทรงกลมเบริลเลียมครึ่งบนให้มั่นคง แต่วิธีการที่เขาใช้เป็นวิธีที่ฝ่าฝืนกับระเบียบวิธี กล่าวคือ เขาใช้ ปลายไขควง ในมือซ้ายสอดไว้ เพื่อแยกครึ่งทรงกลมสองซีกจากกัน ขณะนั้นเป็นเวลา 15:20 น. ไขควงซึ่งมีลักษณะที่มีปลายแบนและเรียวลงนั้น ได้ลื่นหลุดออกมา ทำให้ทรงกลมเบริลเลียมครึ่งบน หล่นผลุบ ลงมา และเกิดปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสพรวดเดียวในระดับวิกฤต เป็นผลให้เกิดรังสีระเบิดออกมาอย่างแรง พวกนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองสังเกตเห็นแสงเรืองสีน้ำเงินรอบ ๆ ทรงกลม พร้อมกับรู้สึกถึงคลื่นความร้อน

          สโลติน กระชากมือซ้ายขึ้นตามสัญชาติญาณ ดึงเอาครึ่งทรงกลมเบริลเลียมขึ้นมา และโยนลงไปที่พื้น ทำให้ปฏิกิริยาหยุดลง อย่างไรก็ดี สโลติน ได้รับรังสีในระดับ ปริมาณรังสีถึงตาย (lethal dose) เข้าแล้ว ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณรังสี ณ ระยะทาง 1500 เมตรห่างจากจุดที่ ลูกระเบิดอะตอม กำลังเกิด การจุดระเบิด (detonation) สโลติน ถูกนำส่งโรงพยาบาลในทันที แต่ความเสียหายในร่างกายเขาไม่อาจกลับฟื้นคืนได้ และเขาเสียชีวิตในอีก 9 วันต่อมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1946

          แกนพลูโทเนียมที่ สโลติน เกิดอุบัติเหตุ เป็นแกนเดียวกันกับที่คร่าชีวิต แฮร์รี เค. แด็กเลียน จูเนียร์(Harry K. Daghlian Junior) เมื่อหนึ่งปีก่อน แกนพลูโทเนียมนี้จึงได้ชื่อว่า “แกนผีสิง” (Demon Core) เรื่องที่เกิดกับ สโลติน ถูกผนวกไว้ในภาพยนตร์เรื่อง แฟตแมนกับลิตเติลบอย (Fat Man and Little Boy เป็นชื่อของลูกระเบิดอะตอม ที่ทิ้งที่เมืองนางาซากิ และฮิโรชิมา ตามลำดับ) นำแสดงโดย พอล นิวแมน (Paul Newman) และ จอห์น คูแซก (John Cusack)

หลุยส์ สโลติน

เกิด

1 ธันวาคม 1910
เมืองวินนิเพก รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา

ตาย

30 พฤษภาคม 1946 (อายุ 35 ปี)
เมืองลอสอะลาโมส มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

สาเหตุการตาย

ภาวะพิษรังสี (radiation poisoning)

อาชีพ

นักฟิสิกส์และนักเคมี

จาก

โพสต์เมื่อ : 20 กุมภาพันธ์ 2555