Nuclear Science
STKC 2555

ภาพแผลในใจ

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ความทรงจำในอดีต ย่อมมีกันทุกคน เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ถูกบันทึกเก็บไว้ในสมอง และสามารถเรียกออกมาได้ทุกเมื่อ แต่ใช่ว่าสมองจะจดจำทุกสิ่ง เฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อจิตใจ เท่านั้น ที่เราจะรู้สึกได้ถึงภาพเดิมที่ผุดขึ้นมาทุกครั้งที่ระลึกถึง

          ภาพความทรงจำทั้งหลายทั้งปวง มีผลเกี่ยวโยงไปถึงพฤติกรรมในปัจจุบันของเจ้าของด้วย ผลกระทบทำให้ เกิดพฤติกรรมด้านลบและจำเป็นต้องได้รับการบำบัด ส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์การถูกทำร้ายในวัยเด็ก และประสบการณ์เฉียดตายของทหารผ่านศึก คำถามก็คือ แผลในใจของทั้งสองกรณี มีการบันทึกหรือประมวลเป็นข้อมูล ในสมองเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

          นักวิจัย เอมอน แมกครอรี  จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ศึกษาโดยใช้เครื่องสร้างภาพ ด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก หรือ เครื่องเอกซ์เรย์แม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) กับเด็กอาสาสมัครที่ผ่านการถูกทำร้ายจำนวน 20 คน และเด็กที่มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ดีจำนวน 23 คน เด็กทั้งหมดมีอายุโดยเฉลี่ย 12 ปี ในระหว่างการบันทึกภาพการทำงานของสมอง อาสาสมัครจะได้ดูภาพใบหน้าบุคคล แสดงอารมณ์โกรธ เจ็บปวด และปกติ สลับไปมา

 

Dr Eamon McCrory
<-- (ภาพ : The Times)

          เมื่อเด็กที่มีบาดแผลในใจเห็นภาพบุคคลมีสีหน้าโกรธ เครื่องเอ็มอาร์ไอ ซึ่งวัดการทำงานของสมองอาสาสมัคร ไปในขณะเดียวกัน พบการทำงานของสมองบริเวณอะมิกดาลา (Amygdala) และกลีบสมองอินซูลาส่วนหน้า ซึ่งสมองทั้งสองส่วน เกี่ยวข้องกับการรับรู้ หรือจับสัญญาณการถูกทำร้ายและความเจ็บปวด     ผลดังกล่าวนี้ ตรวจพบในทหารผ่านศึกเช่นกัน นักวิจัยกล่าวว่า การทำงานของสมองทั้งสองส่วน เกี่ยวข้องกับสันชาตญาณ การรักษาตัวรอดของมนุษย์ เด็กที่เคยถูกทำร้าย อาจสามารถระวังภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ในระยะแรก ของช่วงอายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม ผลระยะยาวของความทรงจำที่เลวร้าย เกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น โดยจะแสดงอาการหวาดระแวงหรือซึมเศร้า

          งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกัน ศึกษาโดยนักวิจัย ฮิลารี บลัมเบิร์ก จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ผู้ใหญ่ซึ่งมีบาดแผลในใจสมัยวัยเด็กของการถูกทำร้าย พื้นที่ของสมองส่วนอะมิกดาลา ซึ่งควบคุมเรื่องของอารมณ์ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่ากับบุคคลปกติ

Hilary Blumberg

Avshalom Caspi

          ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่อง ได้รับความสนใจจากนักวิจัยด้านจิตวิทยาเป็นอย่างมาก นักวิจัย อีฟชาลอม คาสปิ จากมหาวิทยาลัยดยุค วิทยาเขตเดอแฮม รัฐนอร์ธแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การถูกทำร้ายในวัยเด็ก สมองบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนและฝังลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย”

          การหวนนึกถึงแต่ความทรงจำที่เลวร้ายซ้ำ ๆ  มีแต่จะบั่นทอนจิตใจและร่างกายของผู้นั้นลงอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยจึงหวังว่าผลงานวิจัยที่เสนอ จะช่วยให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยา เข้าใจกลไกของสมองดียิ่งขึ้น และสามารถลบความทรงจำเลวร้ายเหล่านั้นของคนไข้ออกไปได้ในที่สุด หรืออย่างน้อยจะลดความเจ็บปวดใจลงได้ ในทางพระพุทธศาสนา คงต้องใช้หลักไตรลักษณ์ หยั่งให้รู้ถึง การเกิดขึ้น การคงอยู่และการดับไป จะได้ไม่ต้องหวนถึงอดีต (ที่ขมขื่น) จนไม่สามารถมีชีวิตที่เป็นปัจจุบันในเวลานี้ได้

จากเรื่อง Abused children’s brains work like soldiers’ do ( www.newscientist.com Access 06 December 2011)

โพสต์เมื่อ : 25 มกราคม 2555