ที่โรมแฟร์มีเริ่มงานเสริมสร้างสถาบันฟิสิกส์ที่นี่บน ถนนปานิสแปร์นา (Via Panisperna) ซึ่งเมื่อแรก ที่เขามารับตำแหน่ง เป็นหน่วยงานที่เล็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ โดยกอร์ปีโนช่วยหาลูกทีมมือดีให้ด้วย เช่น เอโดอาร์โด อามัลดี (Edoardo Amaldi) บรูโน ปอนเตกอร์โว (Bruno Pontecorvo) ฟรังโก ราเซตติ (Franco Rasetti) และ เอมีลีโอ เซแกระ (Emilio Segr?) ซึ่งล้วนมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ทีมของแฟร์มีมีฉายาว่า "I ragazzi di Via Panisperna" หรือ เด็กหนุ่มแห่งถนนปานิสแปร์นา (the boys of Via Panisperna)
ระหว่างปี 1926 นี้ แฟร์มีเริ่มศึกษากลศาสตร์เชิงสถิติของอนุภาคอิเล็กตรอน อันเป็นอนุภาคที่มีพฤติกรรม เป็นไปตาม หลักการกีดกันของเพาลี (Pauli exclusion principle) ที่เสนอโดย โวล์ฟกัง เพาลี (Wolfgang Pauli) และแฟร์มีเป็นคนแรกที่นำเอาหลักของเพาลีมาประยุกต์ กับระบบที่อิเล็กตรอนจำนวนมากไม่ได้เกาะเกี่ยวอยู่กับ อะตอม ของพวกมัน ผลลัพธ์ที่ได้รู้จักกันในชื่อ สถิติเฟอร์มี-ดิแรก (Fermi-Dirac statistics) เนื่องจาก พอล ดิแรก (Paul Dirac) ก็ได้ผลสรุปอย่างเดียวกับเขา
สองปีต่อมาแฟร์มีแต่งงานกับ ลอรา กาปอน (Laura Capon) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1928 ทั้งคู่มีลูกสาวชื่อว่า เนลลา (Nella) เกิดวันที่ 31 มกราคม 1931 กับลูกชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า จูลีโอ เกิดเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 1936
ปี 1929 แฟร์มีได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งที่ อักกาเดเมียเดย์ลินเซย์ (Accademia dei Lincei) ซึ่งเป็น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศอิตาลี ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1603 อันที่จริงเขาได้รับแต่งตั้งจาก มุสโสลีนี โดยไม่มีการแข่งขัน คงเพราะเขาไม่สนใจการเมือง และแม้ไม่ได้สนับสนุนฟาสซิสต์ แต่เหมาะกว่าการที่มุสโสลีนี จะแต่งตั้งศัตรูการเมืองของตน อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งนี้ทำให้เงินเดือนของแฟร์มีเพิ่มขึ้นมาก และมีโอกาสได้ไปเยือน มหาวิทยาลัยมิชิแกนแอนน์แอร์เบอร์ (University of Michigan at Ann Arbor) ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1930 เขาได้พบกับ จอร์จ อูเลนเบค (George Uhlenbeck) ที่อพยพมาจากฮอลแลนด์ และช่วงฤดูร้อน เอเรนเฟสท์ ก็มาสมทบอีกคน ที่นี่แฟร์มีได้สอนทฤษฎีควอนตัม
ปี 1933 แฟร์มีพัฒนา ทฤษฎีการสลายให้อนุภาคบีตา (beta decay theory) เสนอหลักว่า อนุภาคนิวตรอน ที่เพิ่งค้นพบ (ปี 1932 โดยแชดวิก) สลายโดยแปรเป็น โปรตอน อิเล็กตรอน และอนุภาคอีกชนิดหนึ่งที่เขาตั้งชื่อให้ว่า นิวทริโน (neutrino เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านิวตรอนน้อย) ซึ่งการศึกษาต่อ ๆ มา พัฒนามาเป็น ทฤษฎีแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน (weak nuclear force) ที่เกาะเกี่ยวอนุภาคเหล่านี้ไว้ด้วยกัน และเป็นสาขาหลัก ที่ศึกษากันที่ห้องปฏิบัติการเฟอร์มีหรือเรียกสั้น ๆ ว่า เฟอร์มิแล็บ (Fermi National Accelerator Laboratory, Fermilab) อยู่ในปัจจุบัน
ความคิดเกี่ยวกับการมีอนุภาค นิวทริโน เป็นแนวคิดของเพาลีที่ล้ำสมัยมากเกินไป เมื่อแฟร์มีส่งบทความเรื่องนี้ให้วารสาร ดัง อย่าง Nature พิจารณา จึงถูกบรรณาธิการปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ ดังนั้น ผลงานนี้จึงตีพิมพ์ในภาษาอิตาลีและเยอรมันก่อนภาษาอังกฤษ โดยในที่สุด Nature ก็ตีพิมพ์เรื่องนี้ในวารสารฉบับวันที่ 16 มกราคม 1939 คือใน 6 ปีต่อมา
ถึงปี 1934 แฟร์มีทำงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาเกี่ยวกับ กัมมันตภาพรังสีแบบทำขึ้น (artificial radioactivity) โดยได้ตีพิมพ์ผลงานในชื่อว่า Radioattivita indoota dal bombardmento di neutrons และปีต่อมา ก็ได้ตีพิมพ์ในชื่อว่า Artificial Radioactivity Produces by Neutron Bombardment ในรายงานการประชุมวิชาการ ของ ราชสมาคม แห่งลอนดอน (Proceedings of the Royal Society of London) และเรื่อง On the Absorption and Diffusion of Slow Neutrons ในปี 1936 วีธีการทดลองของแฟร์มีกับทีมของเขาก็คือ การใช้อนุภาคนิวตรอนระดมยิง (bombard) ธาตุที่ใช้เป็นตัวเป้าเกือบทุกธาตุตั้งแต่ฟลูออรีนจนถึงยูเรเนียม แล้วตรวจสอบปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น โดยการวัดกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นด้วยไกเกอร์เคาน์เตอร์ พร้อมกับตรวจสอบว่ามีธาตุใดเกิดขึ้นจากปฏิกิริยา ซึ่งโดยปกติก็จะตรวจพบธาตุที่มี เลขเชิงอะตอม (atomic number) สูงหรือต่ำถัด ๆ กับธาตุที่เป็นตัวเป้า โดยเฉพาะเมื่อระดมยิงยูเรเนียมซึ่งมีเลขเชิงอะตอมเท่ากับ 92 พวกเขาก็ตรวจพบธาตุที่ 93 ซึ่งเท่ากับเป็นการค้นพบ ธาตุใหม่ ทำให้แฟร์มีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 1938 จากผลงานนี้โดยคำประกาศการได้รับรางวัลคือ จากผลงานประดิษฐ์ธาตุกัมมันตรังสีใหม่ ๆ และการค้นพบที่เกี่ยวข้อง คือ การเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ด้วย นิวตรอนช้า และ นิวตรอนช้า นี้เอง ที่อีกหลายปีต่อมาช่วยให้ ออทโท ฮาน (Otto Hahn) สามารถค้นพบ การแบ่งแยกนิวเคลียส (nuclear fission) และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนำวิธีการนี้ไปประดิษฐ์ธาตุใหม่ ๆ ได้มากมาย
เรื่องการค้นพบ นิวตรอนช้า มีว่า เมื่อเดือนตุลาคม 1934 ขณะระดมยิงธาตุเงินด้วยนิวตรอน ทีมงานสังเกตพบว่า ตำแหน่งที่วางธาตุเงินกับวัสดุรอบ ๆ (ปกติคือตะกั่วสำหรับกำบังรังสี) ที่แตกต่างไปทำให้เกิด กัมมันตภาพรังสี ไม่เท่ากัน จึงเกิดความคิดทดลองแนวใหม่ตั้งแต่ต้น โดยลองใช้แผนตะกั่ว ซึ่งเป็นธาตุหนักมาวางขวาง ระหว่างต้นกำเนิดนิวตรอนกับเป้า แล้ววัดกัมมันตภาพรังสีเช่นเดิม ซึ่งก็พบว่ากัมมันตภาพรังสีเพิ่มขึ้น กว่าการทดลองชุดแรก ๆ เมื่อแฟร์มีได้เห็นผลการทดลอง (วันนั้นเป็นวันที่ 22 ตุลาคม) เขาแนะนำให้ใช้วัสดุที่เป็น ธาตุเบา ได้แก่ แผ่นพาราฟิน (เป็นไฮโดรคาร์บอน) มาลองบังแทน ปรากฏว่าในการระดมยิงธาตุเงิน เกิดกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าเดิมได้ถึงร้อยเท่าตัว ซึ่งแฟร์มีอธิบายว่าอะตอมไฮโดรเจนที่มีมากในพาราฟิน เกิดการชนกับอนุภาคนิวตรอนทำให้พลังงานลดลงและเคลื่อนช้าลง ทำให้พุ่งเข้ากระทบกับเป้าธาตุเงินได้ดีขึ้น และทีมงานได้จดสิทธิบัตรการค้นพบนี้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1934
ฤดูร้อนปี 1938 มุสโสลีนีเอาอย่างฮิตเลอร์ คือ เริ่มรณรงค์ต่อต้านชาวยิว แม้แฟร์มีไม่ใช่ยิว แต่ภรรยาของเขาเป็นชาวยิว และแม้ลูกทั้งสองคนจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก แต่สถานการณ์ของครอบครัวก็เริ่มไม่เป็นสุข เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายติดต่อมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในสหรัฐอเมริกาอย่างลับ ๆ ไม่ให้พวกเจาหน้าที่ล่วงรู้ความตั้งใจของเขา วิธีคือ เขียนใบสมัครแล้วส่งจากเมืองต่าง ๆ ไม่ให้เป็นที่สังเกต มีมหาวิทยาลัย 5 แห่งตอบรับเขา หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และการได้รับรางวัลโนเบลเป็นโอกาสดี ที่ครอบครัวแฟร์มีจะหลีกลี้จากประเทศอิตาลี โดยเมื่อเดินทางไป งานพิธีรับรางวัลที่เมือง สตอกโฮล์ม แล้ว จากนั้นก็เดินทางต่อไปเลย ยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเรื่องประหลาดคือ ก่อนได้รับวีซ่าเข้าประเทศ แฟร์มีต้องทดสอบผ่านวิชาเลขคณิตให้ได้เสียก่อน ในที่สุดแฟร์มีและครอบครับ ก็เดินทางถึงนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1939
เดือนมกราคม 1939 ที่แฟร์มีเพิ่งเหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกานั้นเอง ข่าวใหญ่จากยุโรปก็มาถึง สหรัฐอเมริกา เช่นกัน โดยแหล่งข่าวคือ นีลส์ โบร์ ในการบรรยายของเขาที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขาได้ปูดข่าวการค้นพบ การแบ่งแยกนิวเคลียส ของ ออทโท ฮาน และนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ได้ร่วมฟังด้วย ก็รีบแจ้นกลับ มาเล่าข่าวใหญ่นี้อย่างตื่นเต้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ไม่เพียงเท่านั้น ที่กรุงวอชิงตันมีการประชุมครั้งสำคัญ ที่เริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ของปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสว่าจะเป็นแหล่งของ พลังงานนิวเคลียร์ ได้หรือไม่
ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย งานแรกของแฟร์มีจึงได้แก่การทดลองตรวจสอบความถูกต้อง ของผลงานของฮาน ซึ่งก็พบว่าถูกต้อง จึงมีการทดลองขยายผลต่อไปและเพียงในเวลาสั้น ๆ ทีมที่แฟร์มีร่วมทำงานก็แสดงผลการวิจัย ที่น่าจะนำไปใช้การได้ โดย จอร์จ เพแกรม (George Pegram) ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัย ได้รายงานไปยัง พลเรือเอกฮูเปอร์ (Admiral Hooper) แห่งกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1939 ว่าน่าจะค้นพบเงื่อนไข ที่ทำให้ธาตุยูเรเนียมปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินของมันออกมาได้ ซึ่งก็หมายความว่า ต่อน้ำหนักลูกระเบิดที่เท่า ๆ กัน ยูเรเนียมอาจใช้ทำลูกระเบิด ที่ปลดปล่อยพลังงานออกมาหลายล้านเท่าตัว มากกว่าลูกระเบิดที่ใช้กันอยู่
เดือนสิงหาคม 1939 ลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) ก็ใช้ชื่อเสียงอันโด่งดังของไอน์สไตน์มาลงนาม ในจดหมายเตือน ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ว่าเยอรมนีอาจจะกำลังสร้าง ลูกระเบิดอะตอม แต่กว่าจะหาช่องทางส่งจดหมายได้ก็เดือนตุลาคม ซึ่งก็เป็นการดีเพราะเยอรมนีเพิ่งยาตราทัพ เข้ายึดโปแลนด์เมื่อวันที่ 1 กันยายน ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีโรสเวลต์ไม่ละเลย โดยต่อมามีการตั้ง คณะกรรมการยูเรเนียม ขึ้น และมีทุนสนับสนุน 6,000 ดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นับเป็นเงินก้อนแรก สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเงินจำนวนกว่าจะได้ใช้จริง ๆ ก็ต้องถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1940 ที่ซีลาร์ด ใช้ชื่อของไอน์สไตน์ส่งจดหมายเตือนฉบับที่สอง เจ้าหน้าที่การเงินซึ่งกังวลใจ เรื่องการจ่ายเงินให้กับพวกคนต่างชาติ เพื่อทำวิจัยโครงการลับ จึงยอมจ่ายเงิน
เวลาผ่านไปนานพอสมควรกว่าที่โครงการเกี่ยวกับยูเรเนียมจะขับเคลื่อนต่อไป แต่ในที่สุดการผลักดันครั้งใหญ่ ก็เกิดขึ้น ซึ่งบังเอิญเป็นวันก่อนเกิดเหตุญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อเดือนธันวาคม 1941 พอดี โดยโครงการจะย้ายไปที่ มหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ถูกนำมารวมกันหมดที่นั่น ซึ่งแฟร์มีไม่ค่อยชอบใจนักด้วยเหตุผลหลายข้อ ประการแรกคือเขามีความสุขมากกับการทำงานที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประการที่สองคือการให้เขาทำหน้าที่บริหารงานมากกว่างานนักวิทยาศาสตร์ และประการที่สาม ทันทีที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับประเทศอิตาลี คนอิตาลีในสหรัฐอเมริกาอย่างตัวเขาก็จัดอยู่ในประเภท คนต่างด้าวชาติศัตรู (enemy alien) ซึ่งถูกจำกัดการเดินทางในประเทศอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ความยุ่งยากทั้งหลายผ่านไปและในฤดูร้อนปี 1942 แฟร์มีก็ไปถึงชิคาโก ภายใต้โครงการยักษ์เพื่อการผลิต ลูกระเบิดอะตอม ที่มีโครงข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ชื่อของโครงการคือ โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project)
ที่ชิคาโก แฟร์มีกับซีลาร์ดช่วยกันออกแบบ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (nuclear reactor) เครื่องแรกของโลก ที่มีชื่อว่า ชิคาโกไพล์-1 (Chicago Pile-1) อุปกรณ์ที่สามารถจะควบคุมปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียส ให้เกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยต้องควบคุมให้เกิด-ให้หยุดได้ทุกเมื่อ |