Nuclear Science
STKC 2554

6 นักวิทยาศาสตร์ผู้พลิกประวัติศาสตร์นิวเคลียร์โลก

แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
เจ้าของสมการ E = mc2

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          วิชาฟิสิกส์เป็นวิทยาศาสตร์ที่อธิบายความเป็นไปของโลกและจักรวาลดังมีกฎต่าง ๆ เช่น แสง ความโน้มถ่วง และเมื่อ ค.ศ.1905 เป็นปีที่ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เสนอผลงานทางฟิสิกส์ออกมาคราวเดียว อย่างน้อย 3 เรื่องที่ครอบคลุมและมีผลปฏิวัติแนวคิดทางฟิสิกส์แทบทุกแขนง เฉพาะอย่างยิ่ง สมการมวล-พลังงาน หรือ E = mc2 ที่คนเกือบทั้งโลกรู้จัก ดังนั้นองค์การยูเนสโกและสถาบันวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั่วโลกจึงเห็นพ้องกัน กำหนดให้ ปี ค.ศ. 2005 เป็น ปีฟิสิกส์โลก โดยถือจากการที่ ผลงานสำคัญและสมการมวล-พลังงาน ที่ไอน์สไตน์คิดค้นมีอายุครบ 100 ปีพอดี

 

          ชื่อ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นี้เป็นสำเนียงอเมริกัน หากเป็นสำเนียงเยอรมันตามสัญชาติดั้งเดิม ก็ต้องเรียกว่า อัลเบิร์ต ไอน์ชไตน์

          แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 ที่เมือง อูล์ม (Ulm) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศเยอรมนี ไอน์สไตน์เป็นบุตรของ แฮร์มันน์ ไอน์ชไตน์ (Hermann Einstein) ที่มีเชื้อสายยิว กับนาง เพาลีเนอ (Pauline) โดยพ่อทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งมีสภาพธุรกิจที่ย่ำแย่ ส่วนแม่ก็บังคับให้เรียนการสีไวโอลิน ซึ่งไอน์สไตน์ไม่ชอบในตอนแรก แต่ต่อมาภายหลังเขากลับรักดนตรีและสามารถเล่นไวโอลินได้เป็นอย่างดี

แฮร์มันน์ และ เพาลีเนอ ไอน์ชไตน์
          ในวัยเด็ก ไอน์สไตน์เป็นเด็กเงียบขรึม ช่างคิด และเริ่มพูดช้ามาก เขาจะหยุดเพื่อคิดว่าจะพูดอะไร เพื่อนเพียงคนเดียวที่มีคือน้องสาวเขาเองชื่อว่า มายา (Maja) ซึ่งประทับใจและจำพี่ชายได้ว่าเป็นผู้มีสมาธิ และความพยายามสูงมาก สามารถใช้ไพ่ต่อเป็นบ้านได้ถึง 14 ชั้น สำหรับความคิดอ่านของไอน์สไตน์ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอาซึ่งเป็นวิศวกร และจากนักศึกษาแพทย์ที่จะมากินอาหารเย็นกับครอบครัวไอน์สไตน์ สัปดาห์ละหนึ่งวัน
 
 
บ้านในเมืองอูล์มที่ไอน์สไตน์เกิด

          ไอน์สไตน์มักเล่าถึงความประทับใจในวัยเด็ก เมื่อเขาได้ของมาชิ้นหนึ่งจากพ่อตอนอายุได้สี่ห้าขวบ ว่าเขาได้พบเห็นสิ่งอัศจรรย์ คือ เข็มทิศ ที่ไม่ว่าจะแกว่งมันไปทางใด เมื่อปล่อยให้นิ่ง เข็มของมันก็จะหมุนกลับมา ชี้ทิศเหนืออยู่เสมอ และนี่คงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจด้านวิทยาศาสตร์

          ความประทับใจในวัยเด็กอีกประการหนึ่งของไอน์สไตน์ก็คือ เมื่อพ่อแม่พาไปดูขบวนพาเรดของทหารเยอรมัน เขาตกใจกลัวต่อการเคลื่อนไหวของทหาร ที่แข็งทื่อเหมือนเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิตจิตใจ พ่อแม่ต้องปลอบโยนว่า เมื่อโตขึ้นเขาไม่ต้องเป็นทหาร ไอน์สไตน์ได้ค้นพบตัวเองว่าเป็นคนรักสงบ เขาเกลียดชังระบบทหารและการใช้กำลัง ตลอดชีวิตของเขา

          พอไอน์สไตน์อายุได้ 11 ปีก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกที่เมืองมิวนิค เขาถูกรังเกียจเพราะเป็นเด็กยิว เพียงคนเดียวในห้องเรียน เปิดเทอมใหม่ปีถัดมาโรงเรียนแจกหนังสือเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับวิชา เรขาคณิต (geometry) ซึ่งไอน์สไตน์เกิดความประทับใจมากใน หลักและกฎ ต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนและแน่นอน สิ่งนี้น่าจะทำให้เขาชอบ คณิตศาสตร์ และความชัดเจนและแน่นอนก็ได้กลายเป็นแนวคิดของเขาต่อมาในอนาคต

 
 
ชั้นเรียนในปี ค.ศ. 1889 ที่เมืองมิวนิค ไอน์สไตน์ยืนอยู่แถวหน้า คนที่ 2 จากขวา

          ค.ศ. 1894 ขณะไอน์สไตน์มีอายุได้ 16 ปี กิจการของพ่อล้มละลาย ครอบครัวจึงย้ายไปยังเมือง ปาวีอา (Pavia) ประเทศอิตาลี ไอน์สไตน์ยังคงอยู่เรียนในเยอรมนีจนจบปีการศึกษา และเขาปลอมใบรับรองแพทย์เพื่อให้ลาออก จากโรงเรียนได้ จากนั้นจึงค่อยย้ายตามครอบครัวไป และได้เข้าเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          ค.ศ. 1895 ไอน์สไตน์ตกลงกับพ่อแม่ขอส่งตัวเองเรียนต่อ และเขาพยายามสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซึ่งสอน ทางด้านเทคนิคในเมือง ซูริก (Z?rich) ชื่อว่า Erdgenossische Technische Hochshule (ETH ออกเสียงว่า เอเตฮา) ในสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าซึ่งจะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีตามที่พ่อเขาต้องการ แต่สอบเข้าไม่ได้ แม้จะได้คะแนนสูงในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ตาม เขาสอบแก้ตัวได้สำเร็จในปีถัดมาและได้เข้าศึกษาที่ ETH สมดังตั้งใจ

          ตามกฎหมายเยอรมัน ผู้ชายทุกคนต้องผ่านการเกณฑ์เพื่อเป็นทหาร ไอน์สไตน์เกลียดการเป็นทหาร มาตั้งแต่เป็นเด็ก และเพื่อไม่ต้องเป็นทหารเขาจึงยื่นคำร้องขอถอนสัญชาติเยอรมันและได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 1896 เขากลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติอยู่นานหลายปี ก่อนที่จะยื่นขอสัญชาติสวิสในปี 1899

          แม้ไอน์สไตน์ไม่ค่อยชอบเข้าชั้นเรียนและชอบศึกษาด้วยตัวเองมากกว่า แต่ในปี 1900 เขาก็เรียนจบได้ลำดับที่ 4 ในชั้นเรียนของเขาที่มีนักศึกษา 5 คน ไอน์สไตน์ตกงานอยู่ถึง 2 ปีและรู้สึกเสียใจที่ไม่อาจช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ในยามยากเช่นนั้น จากนั้นเขาจึงได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเบิร์นซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลานานถึง 7 ปี คือในระหว่างปี 1902 ถึง 1909 โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1902 พ่อของเพื่อนสนิทสมัยเรียนชื่อว่า มาร์เซล โกรสส์มันน์ (Marcel Grossmann) ช่วยแนะนำตัวไอน์สไตน์ต่อผู้อำนวยการ สำนักงานสิทธิบัตรของประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ (Swiss patent office) ซึ่งทำให้เขาได้เข้าทดลองงานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในระดับ 3 ถึงแม้จะเป็นงานที่มีรายได้น้อยนิดเพียงปีละ 3,500 ฟรังค์สวิสเท่านั้น แต่เขาก็พอใจกับงานมาก เพราะทำให้เขา มีเวลามากขึ้นสำหรับศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ ที่เขาสนใจ

 
 
ไอน์สไตน์ปี 1905 ขณะทำงานที่สำนักงานสิทธิบัตรของสวิส

          ต่อมาในปี 1903 ไอน์สไตน์ก็ได้แต่งงานกับนักคณิตศาสตร์สาวชื่อ มิเลวา มาริช (Mileva Mari?) ทั้งคู่ได้ซื้อ อพาร์ตเมนต์เลขที่ 49 ถนนกรัมกัสเซอ มีเนื้อที่ 60 ตาราเมตรเป็นเรือนหอ (ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์) และมีลูกชายด้วยกัน 2 คนชื่อว่า ฮันส์ (Hans) และ เอดูอาร์ด (Eduard) แต่ชีวิตคู่ของทั้งคู่ไม่ค่อยราบรื่นในเวลาต่อ ๆ มา

          ไอน์สไตน์ได้รับปริญญาเอกจาก ETH ในปี 1905 จากผลงานวิธีหาขนาดของโมเลกุล และเป็นปีเดียวกันกับที่ ไอน์สไตน์ขณะมีอายุได้เพียง 26 ปี ได้เสนอผลงานยิ่งใหญ่ออกมา 4 เรื่อง โดย 3 เรื่องตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ชั้นนำของเยอรมนีชื่อว่า อันนาเลินแดร์ฟือซิค (Annalen der Physik หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Annals of Physics) ฉบับที่17 ของปี 1905 โดยเขาได้ทยอยส่งเรื่องไปให้วารสารพิจารณา คือ ในเดือนมีนาคมได้แก่ ทฤษฎีที่ว่าด้วย พลังงานของแสงมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง ที่เรียกว่า ควอนตัม ซึ่งเขานำมาใช้อธิบาย ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect) ทำให้ในภายหลัง (ค.ศ. 1921) เขาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเรื่องนี้ และยังเป็นจุดเริ่มต้น ของ ทฤษฎีควอนตัม (quantum theory) ด้วย เรื่องที่เขาส่งไปในเดือนพฤษภาคมได้แก่ ทฤษฎีการเคลื่อนไหวแบบบราวน์ (Brownian movement) และในเดือนมิถุนายนได้แก่ หลักสัมพัทธภาพ เป็นบทความเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าและการเคลื่อนที่ ภายหลังเรียกว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special relativity theory) ซึ่งต่อมาในเดือนกันยายนไอน์สไตน์ได้เขียนบทความเรื่องที่ 4 อธิบายว่า ผลที่ตามมาของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ก็คือ หากวัตถุปลดปล่อยพลังงานออกมา มวลของวัตถุนั้นก็จะลดลงเป็นสัดส่วนกัน ที่เขียนออกมาได้เป็นสมการ E = mc2 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังนั่นเอง ดังนั้น ปี 1905 นี้จึงได้ชื่อจากนักประวัติศาสตร์ว่า ปีมหัศจรรย์ (wonder year หรือ annus milabilis ในภาษาละติน) ของไอน์สไตน์

 
 
หอนาฬิกาในกรุงเบิร์น หนึ่งในแรงบรรดาลใจที่ไอน์สไตน์คิดหลักสัมพัทธภาพ
 

          อันที่จริงผลงานของไอน์สไตน์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ในปี 1907 เขาใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพมาแก้ปัญหา เรื่องของความโน้มถ่วงที่นิวตันแก้ไว้ยังไม่หมดหมด เรียกว่า หลักของการสมมูล (principle of equivalent) ที่บอกว่าความเร่งสมมูลกับแรงโน้มถ่วง 2 สิ่งนี้เป็นเสมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน และในปี 1910 ไอน์สไตน์ยังมีผลงานเล็ก ๆ เกี่ยวกับแสงที่อธิบายได้ว่า “ทำไมท้องฟ้าจึงเป็นสีน้ำเงิน ?”

          เป็นเวลานาน 19 ปีในระหว่างปี 1914-1932 ไอน์สไตน์ย้ายกลับมาพำนักในเยอรมนีที่เมือง เบอร์ลิน (Berlin) เขาได้รับตำแหน่งด้านวิจัยที่ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งปรัสเซีย (Prussian Academy of Sciences) กับเป็นศาสตราจารย์ที่ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (The University of Berlin) ในระหว่างนี้เขามีโอกาสเดินทาง ไปเยือนต่างประเทศหลายครั้ง รวมทั้งเยือนสหรัฐอเมริกา 3 ครั้ง

          ในปี 1915 ไอน์สไตน์ก็หาบทจบให้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ในที่สุด เขารวมเอา เวลา (time) เข้ามาใน 3 มิติเดิมที่มีแต่ อวกาศ (space) กลายเป็นจักรวาลที่มี 4 มิติคือ อวกาศและกาล (space and time) ซึ่งอวกาศและเวลาโค้งงอได้ และตีพิมพ์เรื่องนี้ในอีก 2 ปีต่อมาที่เรียกกันว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (general relativity theory) อันเป็นจุดเริ่มต้นของ จักรวาลวิทยาสมัยใหม่ (modern cosmology) ที่พูดกันถึง กำเนิดของจักรวาล (Big Bang) และ หลุมดำ (black hole)

          สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1914 และสิ้นสุดในปี 1918 ซึ่งเยอรมนีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม มีผู้คนทั้งทหารและพลเรือนตายในสงครามกว่า 20 ล้านคน หลังสงครามในเยอรมนีอาหารขาดแคลนและเกิดการจลาจล อยู่ทั่วไป ชีวิตในเยอรมนีของไอน์สไตน์จึงเป็นชีวิตระหว่างสงครามกับความวุ่นวาย ซึ่งทำให้เขาเกลียดชังสงคราม และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปีนั้นเอง ไอน์สไตน์ได้ร่วมลงนามตั้ง พรรคประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Party) หลังจากมีการเลือกตั้งและเปิดประชุมสภา ไวมาร์ (Weimar) เขาก็รับสัญชาติเยอรมันอีกครั้งเพื่อแสดงความสนับสนุนสาธารณรัฐที่เริ่มตั้งไข่ใหม่ และด้วยชื่อเสียงของเขา ไอน์สไตน์ได้ทำหน้าที่โฆษกให้กับสาธารณรัฐไวมาร์อย่างไม่เป็นทางการ

          ในปี 1919 ไอน์สไตน์หย่ากับมิเลวาและแต่งงานเป็นครั้งที่ 2 กับ เอลซา เลอเวนทาล (Elsa L?wenthal) ซึ่งเป็นญาติกันและก่อนหน้านี้ได้มาคอยดูแลการกินอยู่ให้กับไอน์สไตน์

         ปี 1921 ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ค.ศ 1920 สำหรับผลงานเรื่อง ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ดังกล่าวแล้วข้างต้น

         ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกที่ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบล

          ย้อนกลับมาปี 1919 ไอน์สไตน์หันกลับมาที่เรื่องควอนตัมว่ามีสภาพเป็นทั้งอนุภาคและคลื่น เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เกิด ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม (quantum mechanics theory) ในอีก 6 ปีต่อมา แต่ไอน์สไตน์รู้สึกว่า กลศาสตร์ควอนตัมไม่เรียบง่ายและขาดความสมบูรณ์ เพราะบอกเพียงความเป็นไปได้ ของตำแหน่งที่อยู่ หรือระดับพลังงานของอนุภาคเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นนับแต่ปี 1920 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1955 ไอน์สไตน์ได้หันไปค้นหากฎฟิสิกส์ที่เรียบง่ายธรรมดายิ่งกว่าที่เคยมีมา เรียกว่า ทฤษฎีสนามเอกภาพ (unified field theory) ที่จะรวมเอาแรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า อวกาศและกาล เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งจนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาก็ยังทำไม่สำเร็จ แต่ปัจจุบันก็มีผู้สืบต่อแนวคิดนี้ และมีความก้าวหน้าไปมาก เรียกว่า ทฤษฎีสตริง (String Theories)

          วันที่ 10 ธันวาคม 1932 ไอน์สไตน์มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 3 เขากับภรรยาเดินทาง จากท่าเรือ เบรเมอร์ฮาเฟน (Bremerhaven) เพื่อไปเยี่ยม สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ที่เมืองแพซาดีนา ด้วยขณะนั้นเป็นช่วงที่พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี และชาวยิวอพยพหนีภัยนาซีกันขนานใหญ่ วันที่ออกเดินทางไอน์สไตน์ได้บอกกับภรรยาว่า “หันกลับไปดูเถอะ คุณจะไม่ได้เห็นบ้านหลังนี้อีก” ไอน์สไตน์ได้ตัดสินใจอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และไม่ได้กลับไปประเทศเยอรมนี อีกเลย ที่สหรัฐอเมริกาไอน์สไตน์ได้ตั้งรกรากอยู่ที่ เมืองพรินซ์ตัน ในมลรัฐนิวเจอร์ซีอยู่จนตลอดชีวิตของเขา โดยเขาได้งานที่ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) และได้โอนสัญชาติเป็นคนอเมริกันในปี 1941 นับเป็นการเปลี่ยนสัญชาติครั้งที่ 3 ซึ่งไอน์สไตน์น่าจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติบ่อยกว่าใคร ๆ ในโลกนี้

          ค.ศ. 1939 เป็นเวลาที่สร้างความทุกข์ในใจแก่ไอน์สไตน์ในภายหลังจวบชั่วอายุขัยของเขา ในปีนั้น ไอน์สไตน์ยอมลงชื่อในจดหมายถึงประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกา ตามที่เพื่อนเก่าแก่ชื่อว่า ลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) ขอร้อง เนื้อความจดหมายโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกา วิจัยการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ก่อนเยอรมนี ซึ่งต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จและในเดือน สิงหาคม ค.ศ. 1945 ได้ทิ้งลูกระเบิดนิวเคลียร์ที่เมือง ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ของญี่ปุ่น ด้วยอานุภาพการทำลายล้างสูง มีผู้เสียชีวิตในทั้ง 2 เมืองราว 2 แสนคน และยังมีผู้เจ็บป่วยจากการได้รับรังสีอีกจำนวนมาก ภายหลังจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่เมืองฮิโรชิมา ไอน์สไตน์กล่าวว่า “ถ้ารู้ว่าเขาจะทำอย่างนี้ ผมไปเป็นช่างทำรองเท้าดีกว่า” อันที่จริงสมการ E = mc2 ไม่ใช่สูตรของระเบิดนิวเคลียร์ อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นสูตรที่สามารถอธิบายที่มาของพลังงานจำนวนมหาศาลที่ได้จากการระเบิดทางนิวเคลียร์ ซึ่งไอน์สไตน์กล่าวว่า “ผมไม่ได้คิดว่าผมเป็นคนริเริ่มในการนำพลังงานนิวเคลียร์ออกมาใช้ ผมเพียงแต่มีส่วนในทางอ้อมเท่านั้น อันที่จริงผมคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่า การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้จะเกิดในยุคของผม”

          จะเห็นได้ว่าไอน์สไตน์แทบไม่เคยลงไม้ลงมือเกี่ยวกับนิวเคลียร์จริง ๆ เลย แต่ผลงานของเขากลับเกี่ยวโยง กับนิวเคลียร์อย่างแนบแน่นอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าชื่อของเขาจะได้รับเกียรติ นำไปตั้งเป็นชื่อธาตุ ลำดับที่ 99 ในตารางพีริออดิก มีชื่อธาตุว่า ไอน์สไตเนียม (einsteinium) ธาตุนี้ค้นพบโดย นักฟิสิกส์ชื่อ จิออร์โซ (Ghiorso) กับเพื่อนร่วมงานที่ มหาวิทยาลัยเบิร์กลี (Berkeley University) จากขยะที่เป็นเศษวัสดุหลงเหลือ จากการทดลองระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ (ระเบิดไฮโดรเจน) ลูกแรกของโลก ที่เกาะปะการังชื่อว่า เอนิวีท็อก (Eniwetok) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1952

          สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี 1945 โดยเยอรมนีแพ้ไปก่อน และต่อมาญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม เพราะบ้านเมืองถูกทำลายด้วยลูกระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามแนวใหม่ ในระหว่างผู้ชนะสงครามด้วยกัน ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เรียกว่า สงครามเย็น (cold war) ซึ่งมีการแข่งขันกันสร้างสมอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ไอน์สไตน์รู้สึกว่าเขาสมควรชดเชยให้กับสังคมให้มากขึ้น และเขาได้อุทิศตนแก่สังคม อาทิเช่น เดือนพฤษภาคม 1946 เขาเป็นประธาน คณะกรรมการฉุกเฉินของนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม (Emergency Committee of Atomic Scientists) เพื่อให้พลเรือนมีส่วนร่วมในการควบคุมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ มีการหาทุนและเขียนบทความเผยแพร่ผลงานของกลุ่ม นอกจากนี้เขายังเรียกร้องการลดอาวุธนิวเคลียร์ วิจารณ์นโยบายสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา สนับสนุนองค์การสหประชาชาติ

          ไอน์สไตน์เป็นชาวยิวที่ไม่ได้เคร่งศาสนาก็จริง แต่เขาได้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนาจากงานเขียนภาษาเยอรมัน เขียนโดย อาร์เทอร์ ชอพเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) ซึ่งเป็นคนแรกที่เขียนหนังสือเผยแผ่พุทธศาสนา ในยุโรปไว้ตั้งแต่ปี 1818 และไอน์สไตน์เองก็อุทิศตนให้กับพุทธศาสนาในยุโรปเป็นอันมาก โดยบอกทุกคน ให้ลองทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยยกตอนหนึ่งของพระธรรมคุณมากล่าว ที่ว่า “เอหิปะสิโก” ซึ่งแปลว่า “ธรรมะที่ท้าทายให้พิสูจน์” หรือ “come and see” และไอน์สไตน์ยังกล่าวว่าศาสนาสำหรับโลกในอนาคต จะเป็นเป็นศาสนาแห่งจักรวาล ซึ่งศาสนาที่เหมาะสมก็คือศาสนาพุทธ

          นอกจากสูตรและสมการคณิตศาสตร์แล้ว ไอน์สไตน์ยังแบ่งเวลาให้ชาวโลกเสมอ เขาเขียนใบรับรองให้เพื่อน และนิสิตนักศึกษา สอนเด็ก ๆ ทำการบ้าน และตอบจดหมายหลายพันฉบับจากเด็กนักเรียน เขาเล่นไวโอลินให้สถาบันกองทุนอิสราเอล เรียกร้องแผ่นดินเกิดในดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยยังต้องเคารพ ในสิทธิ์ของชาวอาหรับไว้ด้วย สนับสนุนให้มีมหาวิทยาลัยของชาวยิวในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งต่อมาก็คือมหาวิทยาลัยชื่อว่า Brandeis University) ไอน์สไตน์ออกทีวี (ค.ศ. 1950) ในรายการ วันนี้กับคุณนายโรสเวลต์ (Today with Mrs. Roosevelt) ซึ่งเป็นรายการของอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง คือเป็นภรรยาของอดีตประธานาธิบดีโรสเวลต์ ในรายการนี้ ไอน์สไตน์ได้เตือนผู้ชมให้ระวังพิษภัยของระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งเป็นลูกระเบิดนิวเคลียร์แบบใหม่ที่ผลิตขึ้นได้ในขณะนั้น

 
 
ไอน์สไตน์เล่นไวโอลินในคอนเสิร์ตหาทุนที่โบสถ์ยิวในเบอร์ลิน ปี 1930
          ปี 1952 ไอน์สไตน์ได้รับข้อเสนอให้เป็น ประธานาธิบดีของประเทศอิสราเอล ในลักษณะ ตำแหน่งเพื่อ เป็นเกียรติ แต่เขาได้ปฏิเสธไป เขาทำงานหนักเรื่อยมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาล้มป่วย และหลับไม่ตื่นอีกเลย ในกลางดึก (1.15 น.) ของวันที่ 18 เมษายน 1955 ศพของเขาได้รับการเผา อย่างไม่มีพิธีตามความต้องการของเขา คงเหลือแต่ความทรงจำให้คนรุ่นหลังจะต้องรำลึกถึงเขาตลอดกาล
โพสต์เมื่อ : 1 เมษายน 2554