Nuclear Science
STKC 2554

โรคกลัวรังสี : RADIOPHOBIA

ดร. สุวิมล เจตะวัฒนะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

หากคุณลองถามตัวเองหรือคนรอบข้าง ว่าเคยกลัวอะไรบ้างไหม คำตอบที่ได้ย่อมมีหลากหลาย บางคำตอบอาจทำให้ คุณต้องอมยิ้ม หรือไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเรา จะสามารถทำให้คนบางคนกลัวได้เป็นอย่างมาก จนแทบทนไม่ได้หรือต้องวิ่งหนีไปไกล ๆ เช่น กลัวตั๊กแตน กลัวเชื้อโรค กลัวเสียงกบร้อง กลัวเห็ด กลัวฟ้าแลบ บางคนรู้สึกประหลาดทุกครั้งที่นึกถึงเข็มอันแหลมคม หลายคนกลัวสิ่งที่ยังไม่เคยเจอมาก่อน  เช่น กลัวผี สิ่งเหล่านั้น อาจจะกำลังซ่อนอยู่ลึก ๆ ภายในใจคุณก็ได้ ความกลัวจัดเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับบางคน ความกลัวเป็นสิ่งรุนแรงที่สามารถก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง เมื่อความกลัว (fear) เข้าครอบงำ จนไม่สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างปกติได้ ภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคกลัว หรือที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า โฟเบีย (phobia) อันเป็นคำที่มาจากภาษากรีก แปลว่าความกลัว

ความกลัว ต่างจาก โรคกลัว
ในทางจิตวิทยา ความกลัวจะถูกอธิบายว่าเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่แสดงออกมา เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นความกลัวจึงเป็นหนึ่งในอารมณ์อันมีพื้นฐานมาจาก ความต้องการมีชีวิตรอด และเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิดซึ่งได้แก่  พอใจ (pleasure) รัก (affection) เพลิดเพลิน (amusement) ไม่สบาย (discomfort) หวาดระแวง (jealousy) โกรธ (anger) และ กลัว (fear) เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ กลัวก็จะเกิดอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น หายใจเร็ว ท้องไส้ปั่นป่วน มือเท้าอ่อนปวกเปียก เวียนศีรษะหรือตาลาย ความกลัวนั้นแตกต่างจากความวิตกกังวล ซึ่งเป็นการตอบสนองโดยไม่มีสิ่งคุกคามภายนอก แต่เป็นผลของ การถูกคุกคามที่รับรู้ว่าไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้  ในขณะที่ความกลัวจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลบหนี หรือหลีกเลี่ยง และเป็นการนึกถึงข้อผิดพลาดที่ยังไม่เกิด

โรคกลัวหรือโฟเบีย เป็นความกลัวที่รุนแรง และต่อเนื่องยาวนานที่มีต่อสถานการณ์ การกระทำ สิ่งของหรือบุคคล แม้จะรู้ว่าความกลัวนี้อาจจะไม่สมเหตุผล แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ยังอดที่จะกลัวไม่ได้ ผู้ที่มีอาการของความกลัวแบบไม่ปกติ นี้จะไม่มีการแสดงอารมณ์ที่รุนแรง แต่จะมีความต้องการอย่างไม่มีเหตุผลและความต้องการที่มากเกินไป ที่จะหลีกเลี่ยง สาเหตุที่ทำให้เกิดความกลัวนั้น เมื่อความกลัวมีมากจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และความกลัวนั้นรบกวนการ ใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นความวิตกกังวลได้ มีสถิติรวบรวมไว้ในหลายประเทศว่าโรคกลัว เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โรคกลัวที่ได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น โรคกลัวแมงมุม (arachnophobia) โรคกลัวสังคม (social phobia) หรือกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในที่ชุมชน กลัวการขึ้นเครื่องบินหรืออาการกลัวลม (aerophobia) กลัวที่แคบ (claustrophobia) หรืออาการกลัวที่สูง (acrophobia)

โรคกลัวรังสี
คำว่า radiophobia หรือที่ขอเรียกว่า โรคกลัวรังสี ก็คือ อาการกลัวรังสี เพิ่งเริ่มมีใช้กันเมื่อไม่นานมานี้ ย้อนหลังไป เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดน ระหว่างแคว้นยูเครนและเบลารุส ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ถูกจัดว่า เป็นหายนะภัยที่เลวร้ายที่สุด ในประวัติศาสตร์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เลยทีเดียว แรงระเบิดอย่างรุนแรงของเตาปฏิกรณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิด ไฟไหม้นานถึง 10 วัน ส่งผลให้เกิดฝุ่นกัมมันตรังสี (fallout) แพร่แขวนลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก และครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นบริเวณกว้าง ฝุ่นกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นนี้ ถูกประเมินว่ามีจำนวนมากกว่าที่เกิดขึ้น จากการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาในญี่ปุ่นถึง 400 เท่า [1] แม้สาเหตุการตายจากอุบัติเหตุครั้งนี้ส่วนใหญ่ ล้วนมาจากการได้รับรังสีปริมาณสูง และมีผู้เสียชีวิตเพียง 56 ราย  แต่ขณะเกิดเหตุมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในจำนวนนี้ 3 ล้านคนยังเป็นเด็ก ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่า รังสีอาจทำให้เกิดมะเร็งและเป็นสาเหตุของการตายด้วยโรคมะเร็งได้มากถึง 4,000 รายในประชากรกลุ่มที่ต้องสัมผัส กับรังสีจากอุบัติเหตุครั้งนี้ [2]

ปัจจุบันเวลาได้ผ่านมานานเกินสองทศวรรษแล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์อันเปรียบเสมือนฝันร้ายที่ผู้คนอยากจะ ลืมเลือน ยังไม่หมดสิ้นไปง่าย ๆ ด้วยประชากรไม่ต่ำกว่า 5.5 ล้านคน ยังคงอาศัยอยู่ ณ บริเวณที่มีการเปื้อน สารกัมมันตรังสีนั้น [3] นอกไปจากผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีรายงานจาก ประเทศรัสเซียว่า ผลกระทบจากรังสีต่อสุขภาพเบื้องต้นของเหตุการณ์เชอร์โนบิลได้แผ่ขยายไปเป็นความทุกข์ทรมาน จากภาวะผิดปกติของสุขภาพจิตในกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องเข้าไปเก็บกวาดทำความสะอาด บริเวณที่เกิดเหตุ ผู้ที่ต้องอพยพออกจากบริเวณ และผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีการเปื้อนสารกัมมันตรังสี รวมไปถึง ผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่ไม่มีการเปื้อนสารกัมมันตรังสี กลุ่มอาการที่มีภาวะผิดปกติทางจิตและระบบประสาทนี้ จำแนกโดย อาการเจ็บป่วยทางกายหลายอย่างที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ หรืออาการทางกายที่เกิดจากจิตใจ ได้แก่ อาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า มีความผิดปกติทางการนอนและอารมณ์ จำอะไรไม่ได้ ขาดสมาธิ อาการปวดข้อ และกล้ามเนื้อ กลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคอ่อนล้าเรื้อรังและกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากผลกระทบของรังสี โดยตรง เนื่องจากไม่พบความสัมพันธ์กับปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ และยังเกิดกับผู้คนที่อยู่ในบริเวณที่มี การเปื้อนสารกัมมันตรังสีทั้งสูงและต่ำ [4]

ในการเรียกขาน ทางการแพทย์ได้ให้คำจำกัดความ โรคกลัวรังสี หรือ radiophobia ว่าเป็นความกลัวที่ผิดปกติที่มีต่อ รังสีชนิดก่อไอออน (ionizing radiation) รวมไปถึงการกลัวการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว การกลัวรังสีชนิดก่อไอออนไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยรังสีประเภทนี้สามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ ทั้งทางตรง และทางอ้อมในตัวกลางที่ผ่านไป เช่น รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ รังสีแอลฟา รังสีบีตา อิเล็กตรอนที่มีความเร็วสูง และอนุภาคนิวตรอน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต แต่การกลัวนี้ได้กลายเป็นเรื่องผิดปกติ หรือไม่มีเหตุผล ขึ้นกับการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรังสีที่ไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับรังสี หรือเป็นผลต่อเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายดังเช่นเหตุการณ์เชอร์โนบิล

อาการโรคกลัวรังสีจะคล้ายคลึงกับโรคกลัวอื่น ๆ คือ ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกของการหายใจไม่อิ่ม รู้สึกว่าเหนื่อย มีเหงื่อออกมาก ปากแห้ง ตัวสั่น ใจสั่น คลื่นไส้ ไม่สามารถพูดหรือคิดได้อย่างปกติ กลัวตาย ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีพฤติกรรมหลีกหนี ออกห่างจากความเป็นจริง หรือมีความวิตกกังวลอย่างสูง

นอกไปจากความหมายทางการแพทย์ คำว่า radiophobia ยังเคยใช้เป็นคำล้อเลียนนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม ที่ทำการศึกษาผลกระทบของรังสีชนิดก่อไอออนต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยทฤษฎีที่มีอยู่ในปัจจุบัน (threshold model) เชื่อกันว่าในสิ่งมีชีวิตนั้น การได้รับรังสีต่ำกว่าปริมาณที่กำหนดจะไม่มีอันตราย หรืออธิบายได้อีกอย่างว่าต้องได้รับรังสีในระดับหนึ่งจึงจะเป็นอันตราย ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่ง (radiation hormesis model) เชื่อว่าการได้รับรังสีในปริมาณต่ำมาก ๆ จะมีประโยชน์ แต่จะเป็นอันตรายเมื่อได้รับในปริมาณมาก คำว่า hormesis เป็นคำที่มาจากภาษากรีกมีความหมายว่า excite หรือการกระตุ้น และกลุ่มสุดท้ายซึ่งถูกเรียกว่า เป็นพวกกลัวรังสี คือ linear no-threshold model หรือ LNT concept จะกล่าวว่าแม้การได้รับรังสีปริมาณเพียงน้อยนิด ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ โดยการทำลายที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณรังสีที่ได้รับ ดังนั้นจึงไม่ควรมีการกำหนดปริมาณรังสีขั้นต่ำที่จะได้รับ และความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่จนปัจจุบัน

ทำไมคนจึงกลัวรังสี
เหตุผลที่ทำให้ผู้คนเป็นกังวลต่อรังสีและเกิดความกลัวคงไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว  พิจารณาดูแต่ละสาเหตุจะพบว่า สามารถสร้างผลกระทบต่อประชากรจำนวนมาก และบางอย่างก็เป็นการสั่งสมประสบการณ์หรือความเชื่อที่ผิด ๆ เช่น ปฏิกิริยาทางจิตที่มีต่อการทำลายล้างของระเบิดปรมาณู ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาก็เป็นผลพวงจากยุคสงครามเย็นระหว่างประเทศมหาอำนาจที่เคยมีการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ ทำให้ประชาชนกลัว การใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมไปถึงการชักนำที่ผิด ๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมันหรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก  ผลจากการที่สื่อได้รับค่าจ้างในการทำให้ประชาชนเกิดความกลัว ผลจากการที่นักการเมืองนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรอง คะแนนเสียงและอำนาจทางการเมือง ซึ่งผลจากความกลัวเหล่านี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทาง ในการศึกษาเพื่อหาข้อกำหนดหรือมาตรการที่ปลอดภัยในการป้องกันอันตรายจากรังสี อย่างยิ่งยวด นำไปสู่ข้อกล่าวอ้างว่านักวิจัยเกี่ยวกับรังสีต้องใช้เงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับการปกป้องชีวิตด้วยวิธีการอื่น เช่น การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ทำให้ยากที่จะแยกออกว่าเกลียดหรือว่ากลัวกันแน่

โรคกลัวรังสีรักษาได้
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรังสีหรือไม่ใช่รังสี ส่วนหนึ่งของความกลัวมาจากความไม่รู้ ความกลัวเกิดขึ้น เมื่อเราไม่แน่ใจว่า จะจัดการกับสถานการณ์ได้หรือไม่ หรือสงสัยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร การรักษาโรคกลัวมีด้วยกันหลายวิธีในปัจจุบัน แต่ละวิธีจะได้ผลแตกต่างกันไปขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย การรับประทานยาที่มีผลต่อระบบการสื่อสารของกระแสประสาท ในสมอง อาจจะช่วยคลายวิตกกังวลได้ในบางเรื่อง หรือการเผชิญหน้ากับสาเหตุที่ทำให้กลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเตรียมคนไข้ให้พร้อมก่อนที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กลัว สามารถช่วยได้ในบางกรณีเช่น ผู้ที่กลัวสุนัข อาจจะเริ่มตั้งแต่วาดรูปสุนัขบนกระดาษ อ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนัข ไปจนถึงพยายามเข้าใกล้สุนัขแบบห่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าใกล้แบบประชิดตัว แต่สำหรับโรคกลัวรังสีคงไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการจับต้องหรือเผชิญหน้า แต่จะมีการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเข้ามา ซึ่งแนวทางของแต่ละวิธีมีความน่าสนใจไม่น้อย

การสะกดจิตหรือสั่งจิต (hypnosis) คือ วิธีการทำให้บุคคลที่ถูกสะกดจิต มีสภาวะจิตและกายที่ผ่อนคลาย สงบสบาย คล้ายหลับ แล้วใส่ข้อมูลบางอย่างลงไปเก็บบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึก เช่น ใช้เสียงพูดจูงใจ ทำให้ผู้ถูกสะกดจิตสามารถ เปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และอารมณ์ได้ โดยต้องใช้ผู้สั่งจิตที่ได้รับการเรียนรู้และฝึกอบรมมา เป็นอย่างดี และต้องมีประสบการณ์ในการสะกดจิตอย่างถูกหลักการและวิธีการจึงจะได้ผล การสะกดจิตจะช่วยตั้ง โปรแกรมใหม่ให้กับโปรแกรมที่ถูกเก็บอยู่ภายในจิตใต้สำนึกซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของความกลัวนั้น เสมือนเป็นการเขียนโปรแกรมใหม่ขึ้นมาบอกจิตให้เลิกกลัวสิ่งที่กำลังกลัวอยู่ ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้น

อีกเทคนิคหนึ่งที่มีการนำมาใช้คือ neuro-linguistic progamming (NLP) เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตสมัยใหม่ ที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างวิธีการคิดของมนุษย์และการเรียนรู้สิ่งรอบตัว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคนแต่ละคนจะแปลความหมาย ของแต่ละสิ่งไปตามมุมมองของตนเอง อันนำมาซึ่งคำตอบที่จะไม่มีวันหยิบยื่นความถูกต้องแม่นยำได้เหมือน การตอบโจทย์ทางคณิตศาสตร์ แต่จะนำไปสู่แบบจำลอง (models) ที่ว่าสิ่งนั้นทำงานอย่างไร และนำไปสู่การพัฒนา เทคนิคที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสำหรับการเปลี่ยนแปลงความคิด พฤติกรรมและความเชื่อที่จำกัดเราอยู่  เป็นการปรับปรุงหรือดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาใช้ด้วยการสั่งจิต วิธีนี้จะแตกต่างกับวิธีสะกดจิต โดยเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนความคิด การเรียนรู้จากสมองและจิตใจ เชื่อมโยงมาสู่การแสดงออกทางร่างกาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพฤติกรรมทางจิตและอารมณ์ เพื่อเอาชนะปัญหาที่มีในแต่ละบุคคลนั้น ในมุมมองของผู้เขียน วิธีนี้จะมองว่าอาการกลัวรังสีเป็นผลมาจากการที่เรากำหนดหรือสร้างขึ้นมาเองว่ารังสี เป็นสิ่งน่ากลัว มีความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับรังสี ความน่ากลัวที่เราสร้างขึ้นมานี้ก็จะถูกค้นหา ถามคำถามกับตัวเอง และกำหนดโปรแกรมลงไปใหม่ ด้วยการป้อนข้อมูลเข้าสู่จิตใต้สำนึก คำพูดที่กล่าวกับตัวเองซ้ำ ๆ ให้เลิกกลัวรังสี และมีมุมมองที่ดีต่อรังสีจะถูกจิตใต้สำนึกเก็บบันทึกไว้ แล้วนำไปสั่งการร่างกายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามที่เราต้องการ อาการกลัวรังสีก็จะลดน้อยลงหรือหายไปเลย

จิตวิทยาพลังงาน (energy psychology) เป็นวิธีการที่เกิดขึ้นมาใหม่ที่มีการนำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคกลัว รวมไปถึงโรควิตกกังวลและความเจ็บป่วยทางจิตอื่น ๆ การรักษาด้วยวิธีนี้ได้รับการบอกเล่าว่ามีความรวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และผลการรักษาอยู่ได้นาน โดยอาศัยหลักการเดียวกันกับการรักษาของแพทย์แผนตะวันออก เช่น การฝังเข็ม การกระตุ้นลมปราณแบบโยคะ การฝึกหายใจแบบชี่กง หรือการกระตุ้นจักระในร่างกาย ที่เชื่อว่า สุขภาพของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ซึ่งการรักษาไม่ต้องมีการฝังเข็มจริงจึงไม่มีความเจ็บปวด แต่แพทย์จะใช้วิธีการเคาะไปตามแขนหรือส่วนบนของร่างกาย ขณะที่ให้คนไข้คิดถึงสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีปัญหา และอาจจะมี การใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยตรวจวัดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับสมองหรือปัญหาต่าง ๆ ของคนไข้ หากมีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะสันนิษฐานว่าสมอง หรือโครงสร้างร่างกายในส่วนนั้น ๆ ผิดปกติไปจากเดิม การเคาะอาจจะเปรียบได้กับการรีบูสต์เครื่องคอมพิวเตอร์ การรักษาแบบนี้มีเทคนิคแยกย่อยออกไปมากมายที่เราท่านอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น เทคนิคในการจัดการกับความรู้สึกหรือปลดปล่อยพลังงานในแง่ลบออกไปจากตัว (emotional freedom technique, EFT) การรักษาแบบ thought field therapy (TFT) และ neuro emotional technique (NET)

ปัญหาที่รอการแก้ไข
เมื่อความกลัวทำให้เกิดปัญหา ก็ต้องแก้ปัญหาโดยเอาความกลัวออกไปเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การฉายรังสีเป็นวิธีการที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของอาหารในแง่จุลชีววิทยา แต่ทำไมการฉายรังสีอาหาร จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักร พบว่าอุปสรรคสำคัญคือการต่อต้านจากผู้บริโภค เมื่อนักวิชาการได้ตั้งสมมติฐานว่า การที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับอาหารฉายรังสีเป็นเพราะโรคกลัวรังสี จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถาม ก็พบว่าผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรังสี และการนำรังสีมาใช้ประโยชน์น้อยมาก และในส่วนที่มีความรู้ทางรังสีอยู่บ้าง ก็จะมีความกลัวต่อรังสีรวมอยู่ด้วย โดยผู้บริโภคได้แสดงความกลัวกัมมันตภาพรังสี และเป็นกังวลต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ ภายหลังการบริโภคอาหารที่ผ่านการฉายรังสี และยังพบว่าผู้บริโภคที่มีอายุน้อยจะมีความกลัวต่อรังสีน้อยกว่าผู้บริโภค ที่อายุมากกว่า โดยทั่วไปผู้บริโภคจะไม่มีความรู้ถึงประโยชน์ของกระบวนการฉายรังสี การศึกษานี้จึงชี้ชัด ถึงความต้องการในการให้ความรู้ หากต้องการให้อาหารฉายรังสีได้รับการยอมรับมากขึ้น [5]

หากมองในแง่ของพลังงาน ศาสตราจารย์ Burton Richter นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า เคยกล่าวไว้ว่า การจะให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง จนเป็นที่พอใจ สำหรับความต้องการของโลกที่กำลังพัฒนาโดยไม่มีการทำลายล้างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงควรมีการทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดสอดคล้องระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับนโยบายที่ดีระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่ายอีกเช่นกัน และเราก็ควรจะทำมันในทันที

เพื่อให้ความกลัวของสาธารณชนที่มีต่อรังสีถูกกำจัดออกไป การเอาชนะอุปสรรคความกลัวต่อรังสีนี้ เป็นขั้นตอนแรก ที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ได้มาถึงวัตถุประสงค์ในความต้องการด้านพลังงานดังกล่าวข้างต้น

ถ้าเพียงแต่เรารู้ว่า พลังงานนิวเคลียร์มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ที่เหนือกว่าพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันหรือถ่านหิน) ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งในแง่มลภาวะทางอากาศและการทำให้โลกร้อน เราคงไม่เกลียดรังสี
ผู้ที่กลัวรังสีจะทราบหรือไม่ว่าอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่สถานีไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ว่าร้ายแรงที่สุดนั้น มีผู้เสียชีวิตในทันที เพียงไม่ถึง 50 รายเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของบางประเทศในแต่ละสัปดาห์ เสียอีก ซึ่งจะว่าไปแล้วการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เพื่อให้เป็นการยุติธรรม ต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทุกชนิด ก็ควรจะใช้คำว่าไม่มีแหล่งพลังงานใดที่ปราศจากความเสี่ยงในการนำมาใช้งาน ตัวอย่างเช่น การนำถ่านหินมาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ละปีจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น การรั่วไหลของก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ เหมืองถล่ม หรือความผิดพลาดจากการใช้เครื่องมือ ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังมีใช้กันอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเลิกไปง่ายๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งที่เราต้องกระทำคือทำการศึกษาเพื่อให้เทคโนโลยี มีความเชื่อถือได้ และมีมาตรการตรวจวัดความปลอดภัยที่เหมาะสม

ถ้าเพียงแต่เรารู้ว่า ปริมาณรังสีที่คนคนหนึ่งจะได้รับจากการทำงานในอุตสาหกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับรังสี มีค่าน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของปริมาณรังสีที่เราจะได้รับตลอดชีวิต โรคกลัวรังสีคงไม่เกิด มีผู้รู้ประเมินไว้ว่า ปริมาณรังสีที่ได้รับในการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดแต่ละครั้ง มีค่าเท่ากับปริมาณรังสีที่เราได้รับจากแหล่งธรรมชาติรอบตัวเรา ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เป็นเวลา 10 วัน [6]
ถ้าเพียงแต่เรารู้ว่าแม้รังสีจะทำให้เกิดมะเร็ง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับสารเคมีจากอาหารและสิ่งแวดล้อม และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด โรคกลัวรังสีแบบไม่มีเหตุผล ก็คงไม่เกิดเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป ความกลัวรังสีได้ฝังรากลึกอยู่ในใจประชาชนมาอย่างยาวนาน จากการเรียนรู้เรื่องราวในสงคราม และอุบัติเหตุทางรังสีที่เกิดขึ้นยังที่ต่าง ๆ รอบโลก ความกลัวส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ การเปิดใจกว้าง เพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของรังสีต่อสุขภาพ และทราบถึงข้อดีของการนำรังสีมาใช้ประโยชน์ อาจจะช่วยให้คนไม่กลัวรังสีและหายจากโรคกลัวรังสี เพราะใคร ๆ ก็รู้ ว่าความไม่มีโรค (กลัวรังสี) เป็นลาภอันประเสริฐ

เอกสารอ้างอิง
1. Inside Chernobyl" National Geographic, April 2006.
2. IAEA Report. In Focus: Chernobyl. http://www.iaea.org/NewsCenter/Focus/Chernobyl/. Retrieved Dec 2009
3. UNDP/UNICEF: The Human Consequences of the Chernobyl Nuclear Accident, January 2002
4. Pastel RH. (2002) Radiophobia: long-term psychological consequences of Chernobyl. Mil Med. 167(2 Suppl):134-6.
5. Frances R. Jack, David C. W. Sanderson. (1995) Radiophobia: will fear of irradiation impede its future in food processing? British Food Journal 97(5):32-35.

6. Radiation Exposure in X-ray Examinations http://www.radiologyinfo.org/en/safety/index.cfm?pg=sfty_xray#5 Retrieved Dec
โพสต์เมื่อ : 31 มกราคม 2554