Nuclear Science
STKC 2554

การประชุมวิชาการ IAEA Fusion Energy Conference ครั้งที่ 23
11-16 ตุลาคม 2553 ประเทศเกาหลีใต้

รพพน พิชา
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การประชุมวิชาการทางนิวเคลียร์ฟิวชันที่นับว่าเป็นงานใหญ่ระดับโลก ได้จัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 2 ปีหลังจากการประชุม ครั้งก่อน ครั้งนี้การประชุมได้จัดขึ้นที่เมืองแดเจิน ซึ่งเป็นเมืองแห่งการพัฒนาทางด้านวิจัยและอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ โดยได้จัดควบคู่ไปพร้อมการนิทรรศการ Green Forum ซึ่งมุ่งเน้นแหล่งพลังงานสะอาดและมีความยืนยาว
มีผู้เข้าร่วมการประชุมราว 1500 คน มีการเสนอผลงานในภาพออรัลและโปสเตอร์ ตามรูปแบบปกติของการประชุม วิชาการ แต่จัดภาคออรัลเป็น session เดียว เพื่อให้นักวิจัยได้รวมกันอยู่ในห้องใหญ่ ทำให้บรรยากาศรู้สึกเต็มไปด้วยพลัง จากนักวิจัยครบทุกด้าน โดยการประชุมนี้มีนักวิจัยของไทยมาร่วมงานนี้จำนวน 2 คน นำเสนองานวิจัยด้านการจำลอง พลาสมา* การประชุมในครั้งนี้ นอกจากเป็นการมาพบกันของนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลกในด้านฟิวชันจำนวนมากแล้ว (โดยทำให้มีคนตั้งชื่อเล่นของงานนี้ว่า โอลิมปิกส์แห่งฟิวชัน) ก็ยังมีภาคกิจกรรมพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้มาเรียนรู้เกี่ยวกับฟิวชันนิวเคลียร์อีกด้วย โดยการประชุมครั้งนี้มี เวอร์เนอร์ เบอร์การ์ต (Werner Burkart) Deputy Director General ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ร่วมเป็นประธาน

เนื้อหาและบรรยากาศ
ส่วนใหญ่แล้วหัวข้อการนำเสนอ จะเน้นผลการทดลอง และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องโทคาแมคที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ นั่นคือ ITER ทั้งด้านวัสดุ (wall และ divertor) ความไม่เสถียร (instabilities) การขนส่งพลังงาน (energy transport) ปรากฏการณ์ขอบ (edge phenomena) สมดุล (equilibria) และแบบจำลองต่าง ๆ

แม้ฟิสิกส์และวิศวกรรมที่เกี่ยวกับฟิวชันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก แต่ทางเจ้าภาพได้มีการประชาสัมพันธ์ที่ให้ คนทั่วไปเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของงานได้ ทำให้สื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว โดยมีการประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าฟิวชันเป็น “พลังงานแห่งความฝัน” ที่จะสร้างความสุขให้กับมนุษยชาติหากเป็นจริงขึ้นมา

ผลการทดลองหลัก ๆ นั้นมาจากเครื่องโทคาแมคและเครื่องควบคุมพลาสมาอื่น ๆ จากหลายประเทศ เช่น KSTAR (เกาหลีใต้) EAST, HL-2A (จีน) JET, MAST (สหราชอาณาจักร) NSTX, DIII-D, NIF, Alcato C-Mod, MST (สหรัฐอเมริกา) JT-60U, LHD, FIREX (ญี่ปุ่น) ASDEX Upgrade (เยอรมนี) Tore Supra (ฝรั่งเศส) FTU, RFX (อิตาลี) TJ-II (สเปน) TCV (สวิตเซอร์แลนด์) เป็นต้น

การแลกเปลี่ยนความรู้เป็นไปภายใต้บรรยากาศของความกระตือรือร้น โดยมีทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญของนักวิจัย รุ่นอาวุโส ผสมผสานกับพลังของนักวิจัยรุ่นใหม่

นอกจากการประชุมปกติ ก็มีการจัด Technical tour ไปชมเครื่องโทคาแมค KSTAR ที่สถาบันวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชัน (National Fusion Research Institute, NFRI) ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเดินเครื่อง มีการให้เข้าชมตัวเครื่อง ห้องควบคุม และส่วนจัดแสดง ทำให้ผู้เข้าประชุมได้เห็นความก้าวหน้าของการวิจัยทางพลังงานฟิวชันของเกาหลี

สิ่งที่ได้เรียนรู้

ในการเข้าร่วมประชุม FEC ครั้งนี้ นอกจากจะได้รับรู้เนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟิวชันแล้ว ยังได้สัมผัส และเรียนรู้ถึงความคิดแบบก้าวหน้าของนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลก

กุญแจสู่ความสำเร็จ คือทัศนคติ

อย่างแรก ขอกล่าวถึงประเทศเจ้าภาพในครั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ที่สังคมฃ เกาหลีใต้มีนั้น อาจจะคือคนของเขานั่นเอง สิ่งที่สังเกตได้ชัดอย่างหนึ่งของคนเกาหลี คือการมองโลก ในแง่บวก มุ่งความก้าวหน้า การมีทัศนคติที่ว่าเราสามารถทำได้ “can do” แน่นอนว่าทุก ๆ สิ่งมีด้านบวกและลบ ไม่มีอะไรที่เป็น สิ่งเลวร้ายร้อยเปอร์เซนต์ หรือ ดีร้อยเปอร์เซนต์ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการจัดการกับสิ่งที่เป็นลบ ให้อยู่ภายใต้ การควบคุมที่เหมาะสม และผลักดันด้านบวกให้ดี มีประสิทธิผลอย่างเต็มที่ เกาหลีใต้รับนิวเคลียร์เข้ามา ในการพัฒนาประเทศ โดยตระหนักดีถึงความเสี่ยง แต่เขาก็สามารถจัดการกับความท้าทายทั้งหลายได้ โดยใช้ความรู้ ซึ่งสานต่อเป็นความชำนาญ ทำให้ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นประเทศชั้นนำทางนิวเคลียร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกหลาย ๆ ด้านของโลก

ทำอะไรให้ดี ต้องมีแผนและความสามัคคี

การทำงานเป็นทีมของคนเกาหลีใต้ และนักวิจัยในประเทศแนวหน้าทางฟิวชัน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจ หากในสังคมมี คนที่มีความสามารถสูงมากมาย แต่ต่างคนต่างทำงานของตนเอง มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้าของตนเอง สังคมก็ไปไหนไม่ได้ ได้แต่งานชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย เอามารวมกันไม่ได้

เกาหลีใต้ เริ่มต้นจากแผน (master plan) ทุกอย่างมาจากการวางเกมจากจุดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงาน นิวเคลียร์ฟิชชัน ที่แม้ว่าเกาหลีใต้จะเริ่มมีเครื่องปฏิกรณ์วิจัยเครื่องแรก พร้อม ๆ กับประเทศไทย แต่ตอนนี้เกาหลีใต้ มีเครื่องปฏิกรณ์กำลังอยู่ 20 เครื่อง และกำลังก่อสร้างอีก 6 เครื่อง หรือเรื่องการวิจัยเรื่องฟิวชัน ซึ่งตอนนี้ เกาหลีใต้ อยู่ร่วมในกลุ่มวิจัยแนวหน้าของโลก และเป็นสมาชิกหลัก 1 ใน 7 ของโครงการ ITER

เมื่อมีแผนแล้ว ทุกอย่างก็จะถูกจัดสรรเพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จในภาพรวม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่สนับสนุนการเติบโตในทิศทางที่เฉพาะเจาะจง ทั้งด้านการศึกษา ที่มีแหล่งเรียนรู้ มีหลักสูตรที่เข้มแข็ง และนำสมัย ทำให้ตอนนี้เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยทางด้านเทคนิค (วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์) ที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่ง ของโลก บัณฑิตต่างก็เห็นเส้นทางการทำงานที่ชัดเจน มีแหล่งทำงานรองรับ มีสวัสดิการที่ดี การที่ผู้คนเห็นทิศทาง ที่ชัดเจน ก็ทำให้เกิดความมั่นใจ และสามารถทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งนำมาซึ่งความสุขในการทำงาน

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและห้องวิจัยใหญ่ ๆ อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน มีการทำงานที่เป็นระบบระเบียบ มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ละคนมี หน้าที่ที่ชัดเจน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านฟิวชันมานาน เมื่อพบกับด้านที่ตนเองไม่ถนัด ก็ยอมรับว่า ตนเองไม่ถนัดตรงนี้ และพร้อมที่จะเรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นใคร มาจากที่ใด อายุเท่าใด

แต่ละคน ที่มีความถนัดกันคนละด้าน ก็จะมีที่ลง แต่ละคนจะเป็นแต่ละตัวต่อ (pieces of the puzzle) หรือฟันเฟืองใน เครื่องจักรชิ้นใหญ่ เพราะองค์กรมีแผนแล้วว่าต้องการใครมาเพื่อทำงานอะไรที่ตรงไหน ทำให้งานที่ผลิตออกมาเป็น ชิ้นงานใหญ่ มีผลกระทบสูง สมาชิกขององค์การไม่ต้องนั่งคิดงาน สร้างงานที่สะเปะสะปะ แข่งขันกันเองภายใน ทำให้มีแต่การมา หักล้างกันเอง คล้ายกับการเคลื่อนที่แบบบราวน์ (Brownian motion) ที่มีค่าของการกระจัด (displacement) เฉลี่ยอยู่ราว ๆ ศูนย์

มองไปข้างหน้า

โครงการฟิวชันเป็นโครงการแห่งอนาคต มีจุดหมายที่จะได้มาซึ่งแหล่งพลังงานที่สะอาด ปลอดภัย และมีเชื้อเพลิง อันมหาศาล เพื่อนำมาทดแทนแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังจะหมดลง โครงการขนาดใหญ่นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะนำพลังงานที่อยู่ ในดวงอาทิตย์มาใช้บนโลกนั้น นักวิจัยจะต้องร่วมมือกัน จะต้องมีการแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ หลากหลายด้าน เพื่อจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ ดังที่เบอร์การ์ต ได้เรียกร้องว่า “การที่จะทำให้พลังงานแห่งอนาคต ที่ยืนยาวเป็นจริงได้นั้น เราทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างแนวร่วม ด้านการวิจัยทางฟิวชันที่ไม่มีการแบ่งแยกประเทศ” จะว่าไปแล้ว ก็คล้าย ๆ กับวงดนตรีออเคสตรา ที่มีนักดนตรีมากมาย แต่ละคนเล่นเครื่องดนตรีคนละชนิด มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่หากซิมโฟนีนั้นได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเยี่ยมยอด ก็ทำให้เสียงของเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องสี ทั้งหมดนั้น ผสานกันเป็นเพลง ที่ไพเราะ และมีความมหัศจรรย์กว่าการเล่น เครื่องดนตรีทีละชิ้น

การประชุม FEC 2010 เสร็จสิ้นลงด้วยดี ภาคบรรยายเป็นการนำเสนอผลงานที่มีความสำคัญสูง ในขณะที่ภาคโปสเตอร์ ก็เปรียบเสมือนห้องเรียนห้องใหญ่ที่มีอาจารย์เป็นร้อยคน และบทเรียนที่หลากหลาย ให้นักฟิสิกส์ได้เรียนรู้ เกาหลีใต้ ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นประเทศที่สามารถจัดงานระดับนานาชาติได้อย่างราบรื่น และไม่ขาดตกบกพร่อง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ก็มารวมกันเป็นอีก milestone หนึ่งของการวิจัยฟิวชัน การประชุมครั้งหน้า จะย้ายทวีปไปจัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2012

ขอจบบทความนี้ด้วยคำกล่าวของ กยุง-ซู ลี ประธานคณะ International Fusion Research Council ของทบวงการ พลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่พูดในพิธีเปิดว่า “ถ้าคุณเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย คุณจะไม่สามารถได้มาซึ่งพลังงาน ฟิวชันได้หรอก”


* เรื่องที่นำเสนอเป็นงานวิจัยภายใต้ MoU ความร่วมมือทางการวิจัยฟิวชัน สทน. และ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

  1. R. Picha, P. Klaywittaphat, T. Onjun, and N. Poolyarat, “Scaling of density peaking for plasma with pellet injection”
N. Poolyarat, Y. Pianroj, B. Chatthong, T. Onjun, and A. Fukuyama, “Core-edge simulations of H-mode tokamak plasmas using BALDUR and TASK codes”
โพสต์เมื่อ : 7 ธันวาคม 2553