STKC 2553

เสื้อคลุมล่องหน ตอนที่ 1

ปรารถนา คิ้วสุวรรณ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อพูดถึงเสื้อคลุมล่องหน เราอาจจินตนาการว่า เป็นแค่เรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์หรือ ในตำนานเทพนิยาย เช่นใน นิยายแฟนตาซี ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) เรื่อง The Lord of The Ring ที่ บิลโบ แบ๊กกินส์ (Bilbo Baggins) สวมแหวนแล้วทำให้หายตัวได้ หรือในนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง เรื่องแฮรี พอตเตอร์ ที่ใช้ผ้าคลุมล่องหนแอบหนีออกจากชั้นเรียนหรือต่อสู้กับมังกรร้าย หรือในการ์ตูนโดเรมอน ที่ใช้ผ้าคลุมล่องหนแก้ปัญหา ต่าง ๆ ให้โนบิตะ หรือแม้แต่ในเทพนิยายกรีก ที่เทพเปอร์ซีอุส ที่ใช้หมวกวิเศษ ล่องหนหลบเลี่ยงจากเมดูซา ปิศาจที่ มองเหยื่อแล้วทำให้กลายเป็นหิน

ปัจจุบันเรื่องผ้าคลุมล่องหนไม่เพียงแค่จินตนาการตามนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ตามทฤษฎีทาง วิทยาศาสตร์ แต่อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า เราจะใช้วัสดุชนิดใดในการสร้างผ้าคลุมล่องหน และเมื่อมันล่องหนแล้ว เราจะมองเห็นวัสดุนั้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นเรามาดูภาพข้างล่างกันก่อน เสื้อสีเขียวตัวนี้สวมโดยนักศึกษาปริญญาโทของ Prof. Suzumu Tashi แห่ง มหาวิทยาลัยโตเกียว จากภาพเราสามารถมองทะลุผ่านตัวคนที่สวมเสื้อ และเห็นคนที่กำลังเดินอยู่ด้านหลังได้เหมือน ตัวคนโปร่งใส เทคนิคที่ใช้เรียกว่า Augmented Reality technology หรือโลกเสมือนผสานโลกจริง เป็นการนำ เทคโนโลยี ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) ผสมเข้ากับเทคโนโลยีภาพ ผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น กล้องวีดีโอ คอมพิวเตอร์โปรเจกเตอร์ อุปกรณ์ต่อเชื่อม เสื้อกันฝนสะท้อนแสง และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อ ทำให้เห็น ภาพสามมิติ ในหน้าจอที่มีองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

การทำงานของระบบนี้ ทำได้ดังนี้ กล้องวีดีโอจะตั้งอยู่หลังวัตถุที่เสื้อคลุมปิดอยู่เพื่อจับภาพด้านหลัง แล้วส่งภาพไปยัง คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำการประมวลผลให้ได้ภาพที่เหมาะสมเหมือนจริง จากนั้นโปรเจกเตอร์รับภาพจากคอมพิวเตอร์ แล้วส่งผ่านช่องเล็ก ๆ ที่เรียกว่า iris diaphragm ไปยังตัว combiner ซึ่งเป็นกระจกพิเศษที่เรียกอีกอย่างว่า beam splitter ซึ่งสามารถหักเหและสะท้อนภาพไปที่เสื้อคลุม โดยเสื้อคลุมทำหน้าที่เสมือนจอภาพยนตร์ และแสงจะสะท้อน ออกจากเสื้อคลุมผ่านกระจกพิเศษนั้นเข้าสู่ตาเราอีกที โดยแสงที่สะท้อนจากเสื้อคลุมจะประกอบด้วยภาพที่เป็นฉากหลัง ของผู้สวมเสื้อคลุม เทคนิคนี้จะทำให้เรามองเห็นว่าตัวผู้สวมเสื้อคลุมโปร่งใสจนสามารถมองทะลุด้านหลังได้ Prof. Suzumu กล่าวว่าเสื้อคลุมล่องหนของเขามิได้สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบผ้าคลุมล่องหนของโดเรมอนเท่านั้น แต่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อย่างมากในหลายสาขา เช่น ในด้านการแพทย์ จะช่วยให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด ได้โดยสะดวก ไม่มีนิ้วมือหรืออุปกรณ์ผ่าตัดมาบังการมองเห็น ในด้านวิศวกรรม อาจนำไปติดไว้ที่พื้นห้องนักบิน จะช่วย ให้พื้นล่องหน นักบินสามารถมองเห็นพื้นรันเวย์ได้ ทำให้นักบินลงจอดได้ง่ายยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

โพสต์เมื่อ : 28 กันยายน 2553