STKC 2553

:

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แหนม เป็นอาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่งของคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำจากเนื้อดิบ (อาจใช้เนื้อสุกร เนื้อวัว หรือเนื้อกระบือก็ได้) นำมาหมักรวมกับหนังสัตว์ต้มสุก ข้าวสุก กระเทียม ผงชูรส และเกลือ เป็นต้น คลุกเคล้ากันให้ทั่ว บรรจุถุงพลาสติกแล้วมัดให้แน่นอาจห่อด้วยใบตองอีกชั้นก็ได้ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วันก็นำมารับประทานได้ แหนมจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวปนกับกลิ่นกระเทียม มีรสเปรี้ยวกลมกล่อม เนื่องจากเป็นอาหารที่นิยมบริโภคดิบโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุกด้วยความร้อนก่อน จึงทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับอันตรายจากจุลินทรีย์และพยาธิที่ก่อโรคได้ การเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินแหนมดิบ ให้หันมากินแหนมที่ปรุงสุกด้วยความร้อนเป็นเรื่องยากมาก เพราะการทำให้สุกด้วยความร้อน จะมีผลทำให้แหนมมีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการที่ทำให้แหนมปลอดจากพยาธิและเชื้อโรค โดยที่แหนมยังคงมีสภาพเป็นแหนมดิบอยู่ จึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ วิธีการนั้นก็คือ การฉายรังสีแหนม

การฉายรังสีอาหาร เป็นการนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีอาหารนั้น ๆ รังสีที่ใช้ฉายอาหารได้แก่ รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และรังสีอิเล็กตรอน รังสีดังกล่าวเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีความยาวคลื่นสั้น มีอำนาจทะลุทะลวงผ่านวัตถุได้สูง สามารถใช้ทำลายจุลินทรีย์ พยาธิ และแมลงที่ปนเปื้อนมาในอาหารได้ โดยอุณหภูมิของอาหารไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อรังสีผ่านไปในวัตถุใด จะไม่ทำให้วัตถุนั้นเกิดเป็นสารรังสีขึ้น ดังนั้น อาหารที่ผ่านการฉายรังสี จึงไม่มีรังสีตกค้าง และไม่มีการสะสมของรังสีเกิดขึ้น ปัจจุบันมีมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่ให้การยอมรับอาหารฉายรังสี

การฉายรังสีแหนมและการยอมรับแหนมฉายรังสีของผู้บริโภค งานศึกษาวิจัยการฉายรังสีแหนม ดำเนินการเสร็จสิ้นมาตั้งแต่ปี พ. ศ. 2517 พบว่าการฉายรังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรคท้องร่วงซัลโมเนลลา ขณะเดียวกัน มีงานศึกษาวิจัยการใช้วิธีการฉายรังสี เพื่อกำจัดพยาธิตัวกลมเล็ก ๆ ในหมู (Trichinella spiralis) ซึ่งก่อให้เกิดโรคพยาธิกล้ามเนื้อ (trichinosis) โดยใช้ปริมาณรังสี 0.3 กิโลเกรย์ก็เพียงพอที่กำจัดพยาธิดังกล่าวได้แล้ว ในปี พ. ศ. 2529 ได้ดำเนินการทดลองจำหน่ายแหนมฉายรังสีเพื่อศึกษาการยอมรับ โดยวางจำหน่ายแหนมฉายรังสีพร้อมแนบใบสอบถามความคิดเห็นไปด้วย ปรากฏว่า มีผู้ที่ซื้อแหนมฉายรังสีไปบริโภค แล้วตอบใบสอบถามฯกลับมาจำนวน 138 ราย พบว่าร้อยละ 95 ของผู้ตอบบอกว่าจะซื้อแหนมฉายรังสีอีก ร้อยละ 95.7 แจ้งว่ายินดีซื้อแหนมฉายรังสี ถ้าราคาของแหนมฉายรังสีแพงกว่าแหนมไม่ฉายรังสี 1 บาทต่อท่อน และถ้าราคาแพงกว่าแหนมไม่ฉายรังสี 2 บาทต่อท่อน ผู้ยินดีซื้อแหนมฉายรังสีลดลง

 

ข้อมูล :

  • ศูนย์ฉายรังสี
  • กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
  • หน่วยประชาสัมพันธ์