STKC 2553

:

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ศูนย์ฉายรังสี สทน. กับการฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผลไม้” ผลไม้ไทยหลายชนิดมีคุณภาพ และรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก แต่จากสาเหตุการกีดกันทางการค้า ทำให้ผลไม้ไทยไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังหลายประเทศ ซึ่งประเทศที่เปิดให้นำเข้าผลไม้ฉายรังสีมีอยู่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา แต่ประเทศสหรัฐอเมริกานับเป็นตลาดผลไม้ที่มีศักยภาพที่สุด โดยในแต่ละปีมีการนำเข้าผลไม้ทุกประเภทจำนวน 77,000 ตัน ซึ่งผลไม้เมืองร้อนคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้พยายามดำเนินการมานานหลายปีเพื่อส่งออกผลไม้สดไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเชื่อว่าในปลายปี พ.ศ. 2550 จะเป็นการส่งออกปีแรกของไทย และตั้งเป้าว่าจะสามารถส่งออกผลไม้สดฉายรังสีไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นมูลค่าได้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท ทั้งนี้ หากภาคเอกชนได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาโรงงานฉายรังสีเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้สดไทยจะสูงได้ถึงปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท

เดิมประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อห้ามหรือจำกัดการนำเข้าผักและผลไม้จากบางภาคพื้นของโลก เพื่อป้องกันศัตรูพืชถิ่นอื่นเข้ามาแพร่ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) ในฐานะ national plant protection organization (NPPO) รวมทั้งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ร่วมกันผลักดันการเปิดตลาดผลไม้ไทย โดยได้ได้ร้องขอต่อหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) เพื่อขอนำเข้าผลไม้ 6 ชนิด คือ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มังคุด สับปะรด และเงาะเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ด้วยการขอจัดทำการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช (pest risk assessments: PRAs) ของผลไม้ทั้ง 6 ชนิด รวมถึงการมีมาตรการลดความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการส่งออก (risk mitigation)

ในการประเมินคำขอของไทย สหรัฐอเมริกาได้จัดทำรายการศัตรูพืชของผลไม้แต่ละชนิด ได้แก่ แมลงวันผลไม้ (Fruit Flies) หนอนผีเสื้อเจาะผล (Fruit Borers) เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง [Coccoidea (Scales and Mealybugs)] ด้วงงวงเจาะผล/เมล็ด (Seed Weevil) เพลี้ยไฟ (Thrips) พร้อมกับเอกสารแนะนำมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการนำเข้าผลไม้เหล่านั้นแก่ฝ่ายไทย

ผลไม้

ศัตรูพืชกักด่านที่สำคัญ

มังคุด

แมลงวันผลไม้ และ เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง

มะม่วง

แมลงวันผลไม้ เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง และ ด้วงงวงเจาะผล/เมล็ด

ลำไย

แมลงวันผลไม้ หนอนผีเสื้อเจาะผล และ เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง

สับปะรด

เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ

ลิ้นจี่

แมลงวันผลไม้ หนอนผีเสื้อเจาะผล และ เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง

เงาะ

แมลงวันผลไม้ หนอนผีเสื้อเจาะผล และ เพลี้ยหอย/เพลี้ยแป้ง

ในเอกสารดังกล่าว APHIS ยังได้กำหนดให้มีการตรวจสอบตั้งแต่ภายนอกท่าขาเข้า (beyond port-of-entry) โดยมาตรการขั้นต้นก็คือ ผลไม้ที่จะนำเข้า ต้องผ่านการฉายรังสี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับในหมวดว่าด้วย phytosanitary treatments ให้ฉายรังสีด้วยปริมาณรังสี 400 เกรย์ (quarantine dose for insect) พร้อมกับมีข้อกำหนดที่เข้มข้นหลายประการ สำหรับหน่วยงานฉายรังสีของประเทศไทยที่จะต้องปฏิบัติ ดังนั้น ภาระสำคัญด้านนี้จึงตกเป็นของหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ศูนย์ฉายรังสี ของ สทน. ซึ่งมีเครื่องฉายรังสีและมีประสบการณ์ในการฉายรังสีอาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นอย่างดีมาอย่างยาวนาน

อนึ่ง ศูนย์ฉายรังสี สทน. ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530 ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศแคนาดา โดยหน่วยงาน Canadian International Development Agency (CIDA) ในโครงการตามวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอาหารฉายรังสีในประเทศไทย และโรงงานฉายรังสีแบบเอนกประสงค์ก็ได้ก่อสร้างขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2530 โดยรัฐบาลแคนนาดาได้มอบเงินช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่ก่อสร้างอาคาร โรงงานและอาคารประกอบรวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นเงิน 35 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างและดำเนินการ 2 ปี ศูนย์ฉายรังสีเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2530 ด้วยเครื่องฉายรังสีแกมมาจากต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 รังสีแกมมาจะมีพลังงาน 1.33 Mev.และ 1.17 Mev. สามารถใช้ประโยชน์จากรังสีแกมมาในการฉายรังสีอาหารโดยไม่ทำให้อาหารกลายเป็นสารกัมมันตรังสี เพราะว่ารังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 มีพลังงานไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดเป็นสารกัมมันตรังสีได้

ข้อมูล : ศูนย์ฉายรังสี กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ และหน่วยประชาสัมพันธ์