STKC 2553

เรดอน … ภัยร้ายภายในบ้าน

วรรณี ศรีนุตตระกูล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บ้าน เป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ เป็นที่อยู่อาศัยที่อบอุ่น แต่จะมีใครคิดบ้าง ว่าบ้านที่อยู่กันอย่างมีความสุขนั้น จะมีภัยร้ายแอบแฝงอยู่ด้วยโดยที่เรา ไม่สามารถมองเห็นได้ ภัยร้ายนั้น คือ “เรดอน” นั่นเอง ซึ่งเป็น แก๊สเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ทำให้เราไม่ทราบว่ามีแก๊สนี้ ี้อยู่รอบ ๆ ตัวเรา นอกจากการตรวจโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

ทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า เรดอนเป็นสาเหตุของการ เกิดมะเร็งปอดเป็นอันดับ 2 รองจากบุหรี่ และถ้าสูบบุหรี่ในบ้านที่ มีเรดอนในระดับสูง จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งยิ่งขึ้น

เนื่องจากเรดอนเป็นสารกัมมันตรังสีที่เป็นแก๊ส มีสัญลักษณ์ คือ Rn-222 และมีเลขเชิงอะตอมเท่ากับ 86 มีครึ่งชีวิต 3.8 วัน เกิดจากการสลายของธาตุเรเดียมในอนุกรมยูเรเนียม (U-238) และเมื่อเรดอนสลายจะให้ธาตุกัมมันตรังสีอื่น พร้อมกับให้รังสีแอลฟา และเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทางลมหายใจ จะเป็นอันตรายโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์ปอด ซึ่งยูเรเนียมพบได้ในดิน หิน และน้ำทำให้พบเรดอนได้ทั่วไป ในประเทศสหรัฐอเมริกามีแร่ยูเรเนียม ปริมาณมาก ทำให้พบเรดอนมีปริมาณสูง ปัจจุบันประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และตระหนักถึงอันตรายของแก๊สเรดอนเนื่องจากแก๊สนี้อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์

ทำไมบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์จึงมีเรดอนได้อย่างไร ทั้งนี้ เนื่องจากเรดอนมีอยู่ในดินและหิน จากงานวิจัยพบว่าเรดอนภายในบ้าน ที่ตรวจพบนั้น มีสาเหตุหลักมาจากดินหรือหินที่อยู่ในบริเวณบ้านนั้น ๆ หากบ้านมีรอยร้าวหรือรอยแตก ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เรดอนสามารถแพร่ ่ผ่านเข้าสู่ภายในบ้านได้ นอกจากนี้ยังพบว่า สาเหตุของการได้รับเรดอน ภายในบ้าน ยังมาจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ้านที่ทำมาจากดินหรือหิน และน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคซึ่งมาจากน้ำใต้ดิน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า น้ำผิวดินมีปริมาณเรดอนน้อยกว่าน้ำใต้ดิน

ปริมาณเรดอนขนาดไหนที่เป็นอันตราย จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ พบว่า แต่ละประเทศมีปริมาณเรดอนระดับพื้นหลัง (background) แตกต่างกัน บางประเทศมีปริมาณสูง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศมีแร่

ยูเรเนียมเป็นปริมาณมากเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ทางองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. Environmental Protection Agency; EPA) ได้กําหนดระดับเรดอนในอาคารที่พักอาศัยไว้ที่ 4 pCi/L (หรือ 148 Bq/m3) และกำหนดเพิ่มเติมว่า ถึงแม้เรดอนจะมีปริมาณน้อยกว่า 4 pCi/L ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรจะต้อง ลดปริมาณลงให้น้อยกว่านี้อีก ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกามีประมาณ 6% ที่มีปริมาณเรดอน ในบ้านสูงกว่าหรือเท่ากับระดับที่กำหนด ต่อมาในปี 2009 องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization; WHO) ได้ปรับลดค่าเรดอนภายในอาคารที่พักอาศัยเป็น 2.7 pCi/L (หรือ 100 Bq/m3) เพื่อให้มีระดับความปลอดภัยแก่ ประชาชนมากยิ่งขึ้น

จะอยู่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัยจากเรดอน ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีเรดอน แต่เราสามารถลดปริมาณเรดอนภายในบ้านได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศ และไม่ ปิดทึบจนเกินไป การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี และการระบายอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดประตู หน้าต่าง และช่องระบายลม เพื่อไม่ให้มีเรดอนอยู่ภายในบ้านสูงเกินไป และที่สำคัญคือ การอุดรอยร้าวและรอยแยก ตามพื้นและผนังของบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรดอนเข้าสู่ภายในบ้าน

สำหรับประเทศไทยนั้นปัจจุบันยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรดอนไม่มากนัก โดยเฉพาะการตรวจวัดเรดอนภายในบ้านหรือภายใน อาคาร แต่สำหรับในต่างประเทศนั้นได้ให้ความสำคัญกับเรดอนมาก มีงานวิจัยที่พบว่า บ้านในประเทศจีนมีเรดอน ปริมาณสูง เนื่องจากลักษณะของบ้านที่ปิดทึบและไม่มีช่องระบายอากาศ ตลอดจนวัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ้านทำจากดินหรือ โคลนที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน ในประเทศเกาหลีก็พบว่ามีเรดอนปริมาณสูงในบ้าน ทั้งบ้านแบบเก่าที่เป็นรูปแบบ เกาหลีและแบบใหม่ตามรูปแบบของยุโรป เนื่องจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ้านทำจากดินหรือโคลน

เอกสารอ้างอิง

  • Abstract book. The Asian and Oceanic Congress on Radiation Protection-3 (AOCRP-3), May 24-28, 2010. Tokyo, Japan.
  • A citizen’s guide to radon. The guide to protecting yourself and your family from radon. EPA 402/K-09/001, January 2009. Available from: www.epa.gov/radon .
  • 2008–2009 Annual report president’s cancer panel.Reducing environmental cancer risk. What we can do now.
  • World Health Organization. WHO handbook on indoor radon: a public health perspective [Internet]. Geneva ( Switzerland): WHO; 2009. Available from:

http://whqlibdoc.who.int/publications/2009/9789241547673_eng.pdf.