STKC 2553

มุดดูใต้หนังกำพร้าโมนาลิซาด้วยรังสีเอกซ์

Getting beneath Mona Lisa's skin

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
 
ชิดใกล้และจับเข่ากับรูปรึงใจอันมีชื่อเสียงของลีโอนาร์โด

ลีโอนาร์โด ดาวินชี เป็นที่นับถือในความสามารถในการผสาน “น้ำหนักสี” (tones) กับ “สี” ได้โดยไร้รอยแปรงให้เห็น “ผล” นี้ ทำให้โมนาลิซา รูปคนเหมือนอันลือเลื่องของเลโอนาร์โด ดูเอิบอิ่ม งามสง่าเหมือนธรรมชาติ แต่นอกจาก ร่วมกันชื่นชมปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลปะยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าเลโอนาร์โดใช้วิธีใดกันแน่ ในการสร้าง “ผล” เช่นนั้น ซึ่งอ้างอิงกันในชื่อว่า sfumato จากภาษาอิตาลี fumo แปลว่า ควัน

ความไม่ลงรอยกันด้านความเห็นเช่นว่านี้ สาเหตุหลักเป็นเพราะ ตามธรรมดาแล้วพวกภัณฑารักษ์ฝรั่งเศส ย่อมไม่ค่อยจะ ประสีประสากับความคิดของพวกนักวิทยาศาสตร์ ที่ขอเก็บตัวอย่างจากผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย อย่างไรก็ดี บัดนี้ นักฟิสิกส์กลุ่มหนึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส สามารถหาคำตอบมาได้จำนวนหนึ่ง โดยไม่ต้อง แกะเนื้อสีออกมาจากภาพเลยแม้แต่กระผีกเดียว

โลร็อง เดอ วีชูรี (Laurence de Viguerie) นำทีมที่ศูนย์การวิจัยและบูรณะของพิพิธภัณฑ์แห่งประเทศฝรั่งเศส ทำการ วิเคราะห์ภาพเขียนเจ็ดภาพที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โดยการศึกษา เสปกตรัมของการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray fluorescence spectroscopy) ผลลัพธ์ยืนยันความเลื่องลือของเลโอนาร์โดว่าเป็นจิตรกรนักทดลอง ผู้เป็นเจ้าของ มือทองอีกด้วย

แสงเงาอันชวนฝัน

เพื่อสร้างสรรค์สีสันของผิวเนื้อให้เป็นธรรมชาติแก่โมนาลิซา เลโอนาร์โดทาสีซ้อนทับกันถึง 4 ชั้น เริ่มต้นด้วยชั้นรองพื้น ด้วยสีขาวตะกั่ว และเคลือบด้วยน้ำมันวาร์นิช กุญแจสู่การรังสรรค์แสงเงาอันชวนฝันเช่นว่านั้นก็คือ การเคลือบชั้นย่อย ซ้อนกันไว้หลาย ๆ ชั้น โดยมีความหนาบางต่างกัน และยังมีการเพิ่มเติมสารสีที่มีปริมาณเหล็กหรือแมงกานีสแตกต่างกัน ด้วย

โวลแตร์ ฟีลิป (Walter Philippe) หนึ่งในทีมวิทยาศาสตร์ของลูฟวร์กล่าวว่า “เรารู้กันว่าที่สตูดิโอของเลโอนาร์โดมี วัฒนธรรมสูงมากเกี่ยวกับ “การทดลอง” แต่มีหนังสือน้อยเล่มมาก ที่อธิบายวิธีการที่ใช้วาดรูปโดยละเอียด”

การพัฒนาซอฟแวร์การวิเคราะห์เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นักวิจัยสามารถหาความหนาของชั้นย่อย ๆ แต่ละชั้นที่ทำให้เกิด แสงเงาได้ ซึ่งพบว่าบางมากขนาด 1-2 ไมโครเมตร “เลโอนาร์โดแสดงให้เห็นทักษะและความอดทนอย่างสูง ในการ ผสานชั้นเหล่านี้ซึ่งบางจนเหลือเชื่อ” ฟีลิปกล่าว

ศิลปินผู้ได้รับหารยกย่องจากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาชนชั้นสูง (high renaissance) อีกผู้หนึ่งก็คือ ราฟาเอล (Rafael) ผู้ที่ว่ากันว่าได้เรียนรู้เป็นอันมากจากเลโอนาร์โด และสร้างผลงานไว้มากมายในสตูดิโอเดียวกันนั้น ดังนั้น ทีมที่ลูฟวร์ จึงตั้งใจจะพัฒนาการวิจัยด้วยรังสีเอกซ์ เพื่อมองหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างด้านเทคนิคของจิตรกร สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาทั้งสองท่านนี้

“เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ให้หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับผลงาน ว่าทำขึ้นอย่างไร ผลงานที่ปรากฏมีการเปลี่ยนแปลงไปตาม กาลเวลาอย่างไร รวมถึงหาวันเวลาและพิสูจน์ว่าเป็นผลงานของศิลปินท่านใด” มาร์ติน เคมป์ (Martin Kemp) นักประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ให้ความเห็น

“ลีโอนาร์โดปฏิรูปวิธีที่นำเสนอธรรมชาติตาม ‘กฎ’ ของธรรมชาติเอง และยังเสนอวิธีใหม่ ๆ ในการสื่อสารระหว่าง ภาพเขียนกับผู้ดูภาพ” เคมป์อธิบาย

งานวิจัยเรื่องนี้ดูได้ที่ Angewandte Chemie

แปลจาก Getting beneath Mona Lisa's skin โดย James Dacey http://physicsworld.com/cws/article/news/ 43332