STKC 2553

การประชุมวิชาการด้านฟิสิกส์ของพลาสมา

EPS 37th Conference on Plasma Physics

21-25 มิถุนายน 2553

ดับบลิน ไอร์แลนด์

รพพน พิชา (วพ./สทน.) และ พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร (สถาบัน ฯ สิรินธร)

การประชุมวิชาการ European Physical Society (EPS) Conference on Plasma Physics เป็นงานประชุมหลักของ วงการวิจัยพลาสมาของยุโรป โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านพลาสมาในหลากหลายสาขาเป็นประจำทุกปี โดยมีเนื้อหาครอบคลุมในทุกด้านของพลาสมา ทั้งพลาสมาที่ใช้ในสาขาฟิวชัน ในเครื่องกักขนาดเล็ก (plasma focus) ลำพลาสมา (beam plasmas) อันตรกิริยากับเลเซอร์ พลาสมาในเม็ดเชื้อเพลิงฟิวชัน รวมถึงพลาสมาอุณหภูมิต่ำ และพลาสมาในอวกาศ

ปีนี้ เป็นการจัดครั้งที่ 37 โดยใช้สถานที่คือมหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับบลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยแบ่งกลุ่มนำเสนอ ทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์เป็นสี่กลุ่มหลัก

  1. ฟิวชันในการกักด้วยสนามแม่เหล็ก (Magnetic Confinement Fusion)
  2. ลำพลาสมาและฟิวชันแบบความเฉื่อย (Beam Plasmas and Inertial Fusion)
  3. พลาสมาแบบมีฝุ่นและพลาสมาอุณหภูมิต่ำ (Dusty Plasmas and Low Temperature Plasma)
  4. พลาสมาพื้นฐาน และพลาสมาในอวกาศและดวงดาว (Basic Plasmas & Space & Astrophysical Plasmas)

โดยมีผู้เชี่ยวชาญในพลาสมาสาขาต่าง ๆ จากทั่วโลกมาร่วมนำเสนอ โดยมาจากมหาวิทยาลัยและศูนย์ปฏิบัติการวิจัย หลายแห่งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมากันเป็นทีมวิจัยประกอบด้วย นักวิจัยหลากหลาย ทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญ และ ระดับนักศึกษาปริญญาเอก โดยมีการบรรยายในภาคเต็ม 12 เรื่อง และ ภาคแยก อีกเกินกว่าร้อยเรื่อง และในส่วนของโปสเตอร์นั้นก็มีงานอีกหลายร้อยโปสเตอร์มาร่วมนำเสนอ โดยการประชุม ได้แบ่งกระจายนำเสนอในช่วงเวลาห้าวัน ในการนี้นักวิจัยของไทย จาก สทน . ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร ม. มหิดล ม. ธรรมศาสตร์ ม. ทักษิณ ได้นำเสนอผลงานทางด้านการจำลองพลาสมาในเครื่องโทคาแมค ในภาคโปสเตอร์

พลาสมาเป็นสถานะของสสารซึ่งเต็มไปด้วยความไม่เสถียร และมักจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่พบเจอในชีวิตประจำวัน กล่าวคือมีอุณหภูมิสูง และมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ทั่วเนื้อสสาร จึงทำให้ฟิสิกส์พลาสมาเป็นสาขาการวิจัยที่ท้าทาย ที่สุดสาขาหนึ่งของฟิสิกส์ทั้งปวง นักทฤษฎีต้องสร้างแบบจำลองตามพื้นฐานฟิสิกส์ที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อนำมาอธิบาย และทำนายผลของปรากฏการณ์พลาสมาต่าง ๆ และต้องนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะเป็นฐานให้ผู้ทำการทดลองได้นำมา อธิบายผลการทดลอง ในขณะเดียวกันนักวิจัยก็อาจวัดได้ข้อมูลที่ต่างจากทฤษฎีเดิม ที่ต้องทำให้นักทฤษฎีต้องปรับปรุง ความคิด เพื่อหาคำอธิบายใหม่มารองรับผลที่ได้รับ การประชุมครั้งนี้ย้ำให้เห็นอีกครั้งว่าฟิสิกส์พลาสมาเป็นสาขาที่มี การศึกษาอย่างเข้มข้น และเต็มไปด้วยความร่วมมือ นำไปสู่ความรู้ใหม่ ๆ และการนำไปใช้ต่อไป

ในปัจจุบัน การประชุมวิชาการเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ไปข้างหน้า ยุคสมัยที่นักฟิสิกส์จะสามารถ คิดค้นสิ่งใหม่ได้ด้วยตนเองหรือกลุ่มวิจัยของตนนั้นเป็นไปได้ยากมากในทุกวันนี้ เนื่องจากขอบเขตของฟิสิกส์ได้ ขยายใหญ่ขึ้นมาก ลำพังกำลังของนักวิจัยคนเดียวไม่อาจนำไปสู่การก้าวไปข้างหน้าของงานวิจัยได้

ในสังคมฟิสิกส์ทุกวันนี้ นักฟิสิกส์จึงต้องช่วยกันระดมสมอง มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งศูนย์วิจัยทาง พลาสมานั้นมีอยู่ทั่วโลก ต้องอาศัยการประชุมที่จัดขึ้นในทุก ๆ ปีนี้ มาพบกัน และพูดคุยกัน สร้าง “อันตรกิริยา” ระหว่างกัน เพื่อให้เราเกิดความเข้าใจถึงลักษณะและอันตรกิริยาที่พลาสมาเองนั้นกระทำ ซึ่งการประชุมแลกเปลี่ยน ความคิดนั้นนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องบรรยาย แต่อาจเป็นในระหว่างการพักดื่มกาแฟ หรือ ในห้องอาหาร ซึ่งหลายครั้งในการพูดคุยเหล่านี้ ทำให้เกิดการกระตุ้นความคิด และสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้กับนักวิจัย ซึ่งก็นำไปสู่ ความร่วมมือใหม่ ๆ และ หัวข้อวิจัยใหม่ ๆ อันจะถูกนำเสนอในการมาพบกันครั้งต่อ ๆ ไป

 

ภาคนำเสนอโปสเตอร์ผลงานวิจัย

งานวิจัยในส่วนของฟิวชันโดยใช้สนามแม่เหล็ก

การนำเสนอโปสเตอร์ผลงานวิจัยต่าง ๆ

การบรรยายเกี่ยวกับพลาสมาในเครื่อง DIII-D

นักฟิสิกส์ในช่วงพักเบรก

การบรรยายเชิงทฤษฏีโดยศาสตราจารย์ชูกลา