จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พบอยู่ทั่วไปทั้งในดิน น้ำ อากาศ ผลิตผลทาง การเกษตรและอาหาร จุลินทรีย์สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ รา ไวรัส เป็นต้น จุลินทรีย์มี ความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต ในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การผลิตยาปฏิชีวนะ การผลิตอาหารหมักดอง การผลิต เอนไซม์ และทำให้เกิดโทษ ได้แก่ การทำให้อาหารเน่าเสีย การก่อให้เกิดโรค เช่นโรคที่ติดต่อทางระบบหายใจ โรคที่ ติดต่อระบบทางเดินอาหาร ในการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในอาหาร มักจะใช้วิธีเพาะเชื้อ จากตัวอย่างอาหารในอาหาร เลี้ยงเชื้อ ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของการเลี้ยงเชื้อได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การนับจำนวนของจุลินทรีย์ ( enumeration) เพื่อตรวจปริมาณของจุลินทรีย์ทั้งหมด ที่มีอยู่ในตัวอย่างอาหาร (total viable count)
- การตรวจหาชนิดของจุลินทรีย์นั้น ๆ ว่ามีอยู่ในตัวอย่างอาหารหรือไม่ ( detection) โดยการนำตัวอย่างอาหารเพาะเลี้ยง บนอาหารคัดเลือกที่จำเพาะเจาะจงกับจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ (selective media) เช่นการตรวจหา Escherichia coli โดยการเพาะเลี้ยงบนอาหาร Mac Conkey Agar, Pseudomonas aeruginosa โดยการเพาะเลี้ยงบนอาหาร Cetrimide Agar , Staphylococcus aureus โดยการเพาะเลี้ยงบนอาหาร Baird Parker Agar
สำหรับตัวอย่างแหนม กำหนดไว้ว่าจุลินทรีย์ที่อาจมีในแหนม ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 1219-2547)
- ซาลโมเนลลา (Salmonella) ต้องไม่พบในตัวอย่าง 25 กรัม
- สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 กรัม
- คลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจนส์ ( Clostridium perfingens ) ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 กรัม
- พยาธิไทรคิเรลลา สไปราลิส (Trichirella spiralis) ต้องไม่พบในตัวอย่าง 100 กรัม
- เชื้อรา ต้องน้อยกว่า 10 คอโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม
|