STKC 2553

งามวิจิตร “ บังแทรก” กับอัญมณีฉายรังสี

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน “หนึ่งวันอัศจรรย์ กับนิวเคลียร์” ณ บริเวณชั้นล่าง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งในงานนี้มีเรื่องราวดี ๆ ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจและ การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทั้งสิ้น และยัง รวมไปถึงศิลปกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์ประจำชาติและความงดงามอย่าง “บังแทรก” ให้ผู้เข้าชมงานได้เห็นกันอย่าง ใกล้ชิดอีกด้วย

บังแทรก ที่นำมาแสดงนี้เป็นของบริษัท สยาม บลู โทแพซ แอนด์ มาสเทอพีส เจมส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่นำ โทแพซสีขาว มาเพิ่มมูลค่าด้วยการฉายรังสี เป็นบลูโทแพซ อัญมณีสีน้ำเงินที่ตลาดโลกให้ความนิยมและตอบรับ เป็นอย่างดี

บังแทรก เป็นหนึ่งในเครื่องสูง 8 สิ่ง คำว่า เครื่องสูง ตามคำนิยามที่ให้ไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง เครื่องประดับพระราชอิสริยยศและพระยศ ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง เครื่องสูง มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตามที่ ได้กล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วงและมีไม่มากชิ้นนัก ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการเพิ่มเติม จนถึงยุครัตนโกสินทร์ พบว่าเครื่องสูงที่ใช้สำหรับแสดงและประกอบพระราชอิสริยยศในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนิน ในริ้วขบวนแห่ มีทั้งหมด 8 สิ่ง ได้แก่ ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตรชุมสาย (เรียกทั้ง 3 สิ่งรวมกันว่า พระอภิรุมชุมสาย) พระกลด บังแทรก บังสูรย์ จามร และพัดโบก

บังแทรก เป็นเครื่องสูงที่ใช้กั้นบังแดด มีลักษณะคล้ายพัด รูปแบนกลม มียอดแหลม ขอบเป็นหยักคล้ายกลีบบัว ด้านบน ทำเป็นยอดรูปกระจังเรียวแหลม ทำด้วยผ้าปักดิ้นทองเป็นลวดลายด้วยวิธีปักหักทองขวาง (สำหรับพระมหากษัตริย์) หรือ ผ้าปักทองแผ่ลวด (สำหรับเจ้านาย) มีโครงเหล็กเส้น ด้ามไม้ยาวหุ้มโลหะ

สำหรับ บังแทรก ที่นำมาแสดงในงาน เป็นบังแทรกที่ทำด้วยโลหะทองเหลืองชุบเงิน เพื่อให้มีความแข็งแรง และถูกต้อง กับสภาพการใช้งานต่อไป บนแผ่นทองเหลืองขึ้นลาย ประดับด้วยคริสตัลและบลูโทแพซ เพื่อเพิ่มความวิจิตรงดงามและ ความเป็นมิติสะดุดตา ด้ามบังแทรกวางบนฐานที่ทำด้วยหินอ่อน

ในการดำเนินงานนั้น คุณศิววงศ์ คงชล เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบเองทั้งหมด โดยงานทุกชิ้นรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต บรรจง มีการวางแผน และกำหนดรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บลูโทแพซ ที่ใช้ประดับนั้น ได้บรรจงเลือก ชิ้นที่มีน้ำพลอยงาม สีน้ำต้องลึก ใส และไม่มีตำหนิ บลูโทแพซทั้งหมดได้จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ผ่านการฉายรังสีโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งคุณอารีรัตน์ คอนดวงแก้ว ผู้จัดการศูนย์ ฉายรังสีอัญมณี ยืนยันว่าสีน้ำเงินของพลอยที่ได้ คงอยู่อย่างถาวร ไม่มีวันจางหรือซีดลง และไม่ต้องกังวลเรื่องรังสี เพราะเป็นการ ฉายรังสี ไม่ใช่ อาบรังสี

คุณศิววงศ์ เล่าว่า การดำเนินการแต่ละชิ้นงาน มีความสลับซับซ้อนมาก เนื่องจากต้องอาศัยกระบวนการช่างหลาย ๆ แขนงรวมกัน เช่น ช่างเขียนลาย ช่างโลหะ ช่างประดับอัญมณี และช่างออกแบบเพื่อกำหนดสีของคริสตัล ขนาด รูปทรง และตำแหน่งที่จะใช้ประดับบลูโทแพซ

ในการคัดเลือกลายที่ใช้ทำนั้น คัดลอกมาจากหลายแห่ง โดยคุณศิววงศ์ เป็นผู้คัดสรรเอง ลายไทยที่เลือกใช้ ทำตาม อย่างลายโบราณแท้ ซึ่งต้องออกแบบขนาดให้พอเหมาะ สวยงาม มีการฉลุลาย การแบ่งพื้นที่สำหรับใส่คริสตัลและ บลูโทแพซ การแยกลายเพื่อวางบนแผ่นโลหะเป็นชั้น ๆ อย่างเหมาะเจาะลงตัว เพื่อให้บังแทรกที่สำเร็จแล้ว มีความเป็น มิติมากขึ้น คุณศิววงศ์ยอมรับว่าการสร้างบังแทรกแต่ละเล่มเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก และต้องมีความอดทนสูง แต่ด้วย ความรักในงานศิลปกรรมไทย จึงรู้สึกภาคภูมิใจ จนลืมความเหน็ดเหนื่อย ทีมงานของคุณศิววงศ์ทุกคน ต้องทำงาน ประสาน กลมเกลียวร่วมมือร่วมใจกัน ชิ้นงานจึงจะสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์และสวยงาม โดยเฉพาะช่างประดับคริสตัลและ อัญมณีบลูโทแพซ ได้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท กล่าวได้ว่าช่างทุกคน ทำงานชิ้นนี้ด้วยใจโดยแท้

บังแทรกที่บริษัท สยาม บลู โทแพซ แอนด์ มาสเทอพีส เจมส์ จำกัด นำมาแสดงล้วนแต่สวยงาม ตระการตาทุกเล่ม และมีความยาวตั้งแต่ยอดถึงปลายด้าม 78 ซม. ตามอย่างแบบแผนโบราณ ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

  • ลายหน้าสิงห์ปากขบ ใช้เวลาสร้าง 3 เดือน คริสตัล 180,000 เม็ด บลูโทแพซ 7 เม็ด ราคาคู่ละ 600,000 บาท สีสันของคริสตัลที่ใช้ค่อนข้างตระการตา บลูโทแพซที่ประดับที่ตาสิงห์ทำให้ลายโดดเด่น น่าดูชม
  • ลายพญาครุฑยุดนาค ซึ่งเป็นลายพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ใช้เวลาสร้าง 9-10 เดือน คริสตัล 400,000 เม็ด บลูโทแพซ 19 เม็ด และขนาด 20 กะรัตอีก 1 เม็ด ราคาคู่ละ 3,600,000 บาท สำหรับลายนี้มีรายละเอียดมาก จึงต้องใช้เวลาในการสร้างนาน คริสตัลที่ติดประดับมี ขนาดเล็กจิ๋ว เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 มม.เท่านั้น จังหวะของลายโดยเฉพาะส่วนที่เป็นหางพญานาคขดพัน มีความงดงามอย่างยิ่ง ยิ่งมองดู ยิ่งพิศวงในความงามของลาย ซึ่งผู้เขียนไม่เคยพบเห็นลายเดียวกันนี้ที่ใดมาก่อน สีของน้ำพลอยบลูโทแพซแต่ละเม็ดดูลึก และใส
  • ลายธรรมจักรเปลว เป็นลายของศิลปินมีชื่อ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ออกแบบขึ้น เพื่อใช้ในงานปูนปั้นที่ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งบริษัท ฯ ได้รับอนุญาตจากอาจารย์เฉลิมชัย ให้นำมาใช้ในงานสร้างบังแทรกนี้ คุณศิววงศ์บอกให้ฟังว่า โดยส่วนตัวมีความนิยมและศรัทธาในงานของอาจารย์ เฉลิมชัยเป็นพิเศษอยู่แล้ว และได้ไปที่วัดร่องขุ่น เพื่อคัดลอกลายด้วยตนเองทีเดียว ใช้เวลาสร้าง นาน 6 เดือน คริสตัล 260,000 เม็ด บลูโทแพซ 9 เม็ด ราคาคู่ละ 1,300,000 บาท บังแทรกเล่มนี้ มีความเป็นมิติสูง สีออกแนวหม่นเล็กน้อย จึงให้ความรู้สึกสงบ
  • ลายหน้าสิงห์ปากอ้าตาโพลง เป็นลายที่อยู่บนเสาในวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นงานปิดทองประดับกระจก สำหรับลายนี้ คุณศิววงศ์เป็นผู้คัดลอกลายด้วยตนเองเช่นกัน ใช้เวลาสร้าง 4-5 เดือน คริสตัล 230,000 เม็ด บลูโทแพซ 8 เม็ด ราคาคู่ละ 900,000 บาท มีความสวยงามและวิจิตรยิ่ง โดยเฉพาะการจัดสีของคริสตัลช่วยให้มองเห็นลายเด่นชัด ดูสมจริงตรงกับชื่อของลาย

บังแทรกที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้น ซึ่งรูปแบบแตกต่างจากที่นำมาแสดงในครั้งนี้ มีผู้นำไปถวายพระพุทธชินราชเพื่อ เป็นพุทธบูชา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก และถวายเป็นพุทธบูชา ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ นอกจากนี้ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการบริษัทสหฟาร์ม จำกัด ได้ถวายบูชาพระธาตุที่บ้าน อีก 1 คู่

สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับการได้ชมเครื่องสูงบังแทรกที่แสดงในงาน “หนึ่งวันอัศจรรย์กับนิวเคลียร์” ครั้งนี้ เป็นการชี้ ให้เห็นถึงการรวมกันระหว่างงานอนุรักษ์ศิลปกรรมไทย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ผสานกันได้อย่างสนิท ลงตัว ไม่ขัดเขิน การก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กับการนำเอาวิวัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งมาใช้ ไม่ทำให้เราสูญสิ้นอัตลักษณ์ความเป็นไทยของเรา หากเรารู้จักที่จะเลือกใช้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่บรรพบุรุษไทยได้รังสรรค์ทำขึ้น และพยายามรักษาไว้ให้คงอยู่ตามแบบแผนเดิม ต่อไป

(ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณศิววงศ์ คงชล ที่ได้กรุณานำชมและให้รายละเอียดทั้งหมด มา ณ โอกาสนี้)