STKC 2553

ขอถามสักหน่อย

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในสภาวการณ์โลกปัจจุบัน ประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเกิดจาก ปัจจัยข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะด้วยภาวะแห้งแล้ง ภาวะน้ำท่วม พื้นที่เพาะปลูกที่มีคุณภาพต่ำลงจากการใช้สารเคมี มากเกินไป ความเสียหายที่เกิดจากแมลงหรือโรคระบาด การชะล้างและพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ ดังนั้น กระบวนการ เก็บรักษาและยืดอายุการเน่าเสียของผลผลิตอาหาร จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน การพัฒนาวิธีเก็บรักษาอาหาร ได้ศึกษา วิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่ง การฉายรังสีอาหาร นับเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีและนำมาใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง ในประเทศไทยเราด้วย

คำถาม 10 ข้อต่อไปนี้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหารฉายรังสี ขอเชิญให้ลองทดสอบดูเล่น ๆ เพียงแค่ตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เท่านั้นค่ะ

1.
อาหารฉายรังสียังคงอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์อยู่ ใช่หรือไม่ใช่
ใช่ อาหารฉายรังสียังคงอุดมไปด้วยแร่ธาตุ สารอาหาร และวิตามินที่มีประโยชน์อยู่อย่างครบถ้วน การสูญเสียแทบ ไม่เกิดขึ้น ถ้าหากเปรียบเทียบกับกระบวนการเก็บรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การแช่แข็ง การบรรจุกระป๋อง หรือการทำให้สุก พบว่าการสูญเสียธาตุจำเป็นเกิดขึ้นสูงกว่าการฉายรังสี
2.
เมื่อฉายรังสีแล้ว อาหารนั้น ๆ จะกลายเป็นมีรังสีปนอยู่ ใช่หรือไม่ใช่
ไม่ใช่ การฉายรังสีอาหาร เหมือนกับเวลาที่เราไปเอกซเรย์ฟัน กระดูก หรือปอด เมื่อฉายรังสีเสร็จ อาหารนั้น ๆ ก็เป็น อย่างเดิม เพียงแต่ไข่และตัวแมลง ไข่พยาธิ เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อราและแบคทีเรีย ถูกทำลายไปเท่านั้น เช่นเดียวกับฟัน กระดูกและปอดของเราที่เป็นอย่างเดิม
3.
อาหารจานโปรดของนักบินอวกาศ เป็นอาหารฉายรังสี ใช่หรือไม่ใช่
ใช่ อาหารฉายรังสีจะปราศจากเชื้อซาลโมเนลลาที่เป็นต้นเหตุทำให้ป่วยได้ อาหารฉายรังสีช่วยให้มนุษย์อวกาศ ปฏิบัติภารกิจในอวกาศได้อย่างปลอดภัย ในโรงพยาบาลบางแห่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดอาหารฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วย โรคมะเร็ง เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านั้น มีระดับภูมิคุ้มกันโรคที่ลดลง
4.
อาหารที่ผ่านการฉายรังสี จะไม่มีจุลินทรีย์ใด ๆ เหลืออยู่เลย ใช่หรือไม่ใช่
ไม่ใช่ รังสีที่ใช้สำหรับอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ได้เพียงบางชนิดเท่านั้น แต่สามารถทำลายไข่และตัวแมลง ไข่พยาธิ เชื้อรา และแบคทีเรียบางชนิดได้พร้อมกัน ในขณะที่กระบวนการเก็บรักษาอาหารบางวิธี ทำลายได้น้อยชนิดกว่า
5.
การฉายรังสีอาหาร ใช้ได้กับอาหารทุกชนิด ใช่หรือไม่ใช่
ไม่ใช่ อาหารบางอย่าง เช่น นมสด ใช้การฉายรังสีเพื่อเก็บรักษาไม่ได้
6.
อาหารฉายรังสี จะมีกลิ่น รส สี และเนื้อสัมผัส (texture) แทบไม่ต่างจากเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม ใช่หรือไม่ใช่
ใช่ จากการทดสอบกับอาสาสมัครชิมอาหารที่ผ่านการฉายรังสี พบว่ากลิ่น รส สี และเนื้อสัมผัส (texture) แทบไม่ต่าง จากเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม ตัวอย่างเช่น แอปเปิลที่ผ่านการฉายรังสี จะยังคงความกรอบ ความหวาน และความชุ่มฉ่ำ ไว้ได้
7.
การบริโภคอาหารฉายรังสี จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ใช่หรือไม่ใช่
  ไม่ใช่ ผลงานวิจัยกับสัตว์ทดลองในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต่างยืนยันในความปลอดภัยและนำเทคโนโลยีนี้มาใช้แล้ว องค์การอนามัยโลกและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่าง ประเทศ แห่งองค์การสหประชาชาติ รับรองความปลอดภัยแล้วเช่นกัน
8.
การฉายรังสีมันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ และผลไม้บางชนิด เพื่อชะลอการงอกและการสุก ใช่หรือไม่ใช่
  ใช่ การฉายรังสีผลิตผลทางการเกษตรช่วยให้ผู้รับผลิตผลปลายทางได้รับสินค้าที่ยังคงสภาพสด ช่วยลดการเน่าเสีย หรือชะลอการสุกงอม ระงับการระบาดของแมลงต่างถิ่น และลดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยให้ขนส่งสินค้าในระยะทางที่ไกล ขึ้นได้
 
 
9.
อาหารฉายรังสี ต้องผ่านการรับรองคุณภาพความปลอดภัยจากหน่วยงานของราชการไทย ใช่หรือไม่ใช่
  ใช่ อาหารฉายรังสีต้องผ่านการรับรองคุณภาพความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.) ก่อน จึงจะ วางจำหน่ายได้
10.
เราเลือกซื้ออาหารฉายรังสีได้อย่างง่ายดาย ด้วยการสังเกตสัญลักษณ์พิเศษ ที่หีบห่อ และภาชนะบรรจุ ใช่หรือไม่ใช่
  ใช่ อาหารที่ผ่านการฉายรังสี ต้องมีสัญลักษณ์รูปดอกไม้ (stylized flower) ที่มีชื่อเรียกว่า ราดูรา (radura) แสดงบน หีบห่อ และภาชนะบรรจุอย่างชัดเจนเสมอ