STKC 2553

เทคโนโลยีนิวเคลียร์กับมะเร็ง ตอนที่ 2

กนกพร บุญศิริชัย และ นิภาวรรณ ปรมาธกุล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในงาน 1 วัน อัศจรรย์กับนิวเคลียร์ ที่ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษา จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้เกียรติมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับมะเร็ง แก่ผู้มาชมงาน

คุณหมอกล่าวว่า มะเร็งมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในตัวเรา ปัจจัยภายนอกได้แก่ บุหรี่ เหล้า และมลพิษต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนปัจจัยภายในได้แก่ กรรมพันธุ์ และภูมิคุ้มกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบัน สามารถรักษาโรคมะเร็งโดยส่วนใหญ่ให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก และผู้ป่วยดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกวิธี

เทคโนโลยีทางรังสีและนิวเคลียร์ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานแพร่หลายในการวินิจฉัย และรักษาทางการแพทย์ แบ่งออกเป็นสามด้านคือ

  1. รังสีวินิจฉัย คือการฉายรังสีเพื่อวินิจฉัยโรค โดยมีแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกาย เช่น การเอกซเรย์ปอด
  2. รังสีรักษา คือการฉายรังสีเพื่อรักษาโรค โดยมีแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกาย เช่น การฉายรังสีแกมมา ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็ง นอกจากนี้ การฉายแสงรังสียังใช้ในการรักษาหูดและแผลเป็น ให้ยุบตัวลงได้
  3. เวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือการใช้เภสัชภัณฑ์รังสีฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัยหรือรักษา จึงมีแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ภายในร่างกาย ในการรักษา เภสัชรังสีจะปล่อยรังสีภายในร่างกายของผู้ป่วย รังสีนี้จะไปทำลายเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกแบบเจาะจง เพราะเภสัชภัณฑ์รังสีได้รับการออกแบบให้จับกับตัวรับบนเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยเภสัชภัณฑ์รังสีจึงมีประสิทธิภาพสูง ทั้ง ๆ ที่ใช้ปริมาณรังสีแต่เพียงน้อย

ในการดูแลป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็ง คุณหมอแนะนำให้เอกซเรย์ปอดปีละหนึ่งครั้งโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และให้หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีก้อนเนื้อที่โตเร็วผิดปกติไหม มีเลือดออกผิดปกติบ้างไหม หากมีให้รีบพบแพทย์ สำหรับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยการเอกซเรย์ หรือแมโมแกรม และตรวจภายในปีละหนึ่งครั้ง ผู้ชายควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากนี้ เราควรพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น บุหรี่ ซึ่งมีรายงานว่าการสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง แก่ผู้ที่สูบสูงถึงสามสิบเท่า เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงแก่ผู้ร่วมอาศัยกับผู้สูบบุหรี่ประมาณสองเท่า และหากสงสัยว่าตนอาจมีปัจจัยเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ เช่น มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยมะเร็งหลายคน ก็สามารถเข้ารับการตรวจประเมินปัจจัยเสี่ยงทั้งจากกรรมพันธุ์ และจากปัจจัยอื่นได้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ท้ายที่สุด คุณหมอสรุปการป้องกันตนให้ปลอดมะเร็งไว้ดังนี้

  • หลีกหนีจากสิ่งเร้า โดยเฉพาะ บุหรี่ เหล้า และมลพิษ
  • สังเกตตนเอง หากมีสิ่งผิดปกติให้พบแพทย์
  • ดูแลสุขภาพ และตรวจสุขภาพตามกำหนด
  • รับประทานผักและผลไม้ให้ได้ 500 กรัมต่อวัน หรือให้ได้สัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของอาหารที่รับประทาน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงภาวะอ้วน เพราะจะทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงขึ้น
  • รักษาสุขภาพจิตให้สดใส ไม่เครียด