STKC 2553

พิษแมงป่อง...สูตรรังสี

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์

เชื่อแน่ว่ามีคนจำนวนไม่น้อย เมื่อได้ยินชื่อสัตว์ร้ายมีพิษอย่างแมงป่อง ต้องรู้สึกหวาดกลัวระคนขยะแขยง ในชณะที่มีคนอีกจำพวกหนึ่ง ที่ลงความเห็นว่าแมงป่อง เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่ง ที่สามารถนำเข้าปากได้ โดยไม่นึกกังวลถึงพิษร้ายในตัวมัน

แมงป่องเป็นสัตว์ที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีหลักฐานจากการค้นพบฟอสซิลที่มีอายุเก่าแก่ถึง 430 ล้านปี สันนิษฐานกันว่า เดิมมันอาศัยอยู่ในทะเล ซึ่งนอกจากจะมีเหงือกแล้ว มันยังมีอุ้งเล็บที่แข็งแรงพอที่จะเกาะโขดหินริมทะเลและสาหร่ายในน้ำ จากนั้นมันจึงวิวัฒนาการย้ายนิวาสถานมาอยู่บนบก ฟอสซิลที่ขุดพบมีทั้งที่อยู่ในถ่านหิน อำพันและหินทะเล รวมทั้งหมด 111 ชนิด (species)

ทั่วโลกมีแมงป่องประมาณ 1200 ชนิด พบในเขตทะเลทราย เขตร้อนชื้นและแถบชายฝั่งทะเล แมงป่องมักหลบซ่อนตัวอยู่ตามที่มืดและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้ขอนไม้ ใต้กองใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ มันออกหากินเวลากลางคืน อาหารของแมงป่อง เป็นแมลงที่ตัวเล็กกว่า เช่น ตะขาบ กิ้งกือ จักจั่น ฯลฯ

ถ้าจับแมงป่องไว้ใต้แสงยูวี จะเห็นว่าเรืองแสงได้ การเรืองแสงนี้ อยู่ที่เปลือกและคงทนมาก แม้ฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ยังคงสภาพการเรืองแสงได้ หรือจับแมงป่องไปทอดน้ำมันในกะทะ การเรืองแสงก็ยังไม่หมดไป ประโยชน์ของการเรืองแสง ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้แน่ชัด

แมงป่องจัดอยู่ในไฟลัมเดียวกับแมลง เพราะมันมีลำตัวและระยางค์เป็นปล้อง ๆ เหมือนกัน แต่แมงป่องมี 8 ขาเหมือนแมงมุม จึงจัดอยู่ในชั้น (class) เดียวกัน แม้กระนั้น แมงป่องก็มีลักษณะหลายอย่าง ต่างจากแมงมุม มันจึงอยู่ต่างอันดับ (order) กัน

ส่วนหัวและลำตัวของแมงป่องอยู่ติดกัน มีขา 4 คู่ติดอยู่ มีก้ามคล้ายก้ามปู 1 คู่ ใช้สำหรับจับเหยื่อ แมงป่องมีตา 2 ชุด เป็นตาเดี่ยวและตาประกอบ ตาของมันมีมากถึง 5 คู่ แต่ประสิทธิภาพในการมองเห็นต่ำและไม่ไวต่อแสงกระพริบ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติได้ทดแทนให้มันมีเส้นขนจำนวนมากตรงบริเวณลำตัวด้านล่าง ซึ่งเส้นขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก และยังช่วยในการรับสัมผัสขณะเคลื่อนที่ได้ด้วย

แมงป่องมีส่วนท้องที่ยาวเรียวไปด้านหลังจนดูคล้ายกับหาง มีทั้งหมด 5 ปล้อง นับเป็นลักษณะพิเศษที่เด่นของมัน ตอนปลายโค้งงอขึ้นมีอวัยวะสำหรับต่อย (stinger) คล้ายเขี้ยว แผลที่ถูกต่อยจึงมีลักษณะคล้ายเข็มแทงรูเดียว บางครั้งอาจเป็นรอยไหม้ แมงป่องมีถุงเก็บน้ำพิษ (glandular sacs) 1 คู่ เวลาที่ต่อยเหยื่อ มันจะปล่อยน้ำพิษเข้าสู่เหยื่อ และปริมาณน้ำพิษที่ปล่อยแต่ละครั้ง มันจะกำหนดเอง โดยขึ้นกับขนาดของเหยื่อ ดังนั้นน้ำพิษที่ปล่อยแต่ละครั้งจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

พิษของแมงป่องส่วนใหญ่ จะมีผลต่อระบบประสาท (neurotoxin) ทำให้เป็นอัมพาต มีเป็นส่วนน้อยที่มีผลต่อระบบโลหิต จากการศึกษาวิจัยพิษของแมงป่องชื่อ death stalker (Leiurus quinquestriatus) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบตะวันออกกลาง พบว่าเป็นพิษที่มีชื่อเรียกว่า คลอโรทอกซิน (Chlorotoxin) ประกอบด้วย กรดอะมิโนเพปไทด์-36 ซึ่งไปยับยั้งช่องรับคลอไรด์ (chloride channels) ในเส้นประสาท

ไมเคิล อิเกน นักวิจัยจากบริษัท TranMolecular มลรัฐแมสซาชูเสตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองนำพิษดังกล่าว มาเพาะเลี้ยงในจานเลี้ยงเชื้อ ปรากฏว่า ในส่วนที่เป็นสายเพปไทด์ ซึ่งไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ มักจับกับตัวรับ (receptor) ที่พบเฉพาะในเซลมะเร็งเท่านั้น สายเพปไทด์นี้จะเคลื่อนที่รุกเข้าไปในเซลมะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม รวมไปถึงมะเร็งปอดด้วย คงเหลือไว้แต่เพียงเซลล์ปกติ อิเกนสรุปว่า “มันดูราวกับว่าเซลล์มะเร็งคอยตะครุบเก็บสายเพปไทด์ที่รุกคืบเข้ามาเลยละครับ”

คณะนักวิจัยได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยต้องการให้สายเพปไทด์จากพิษแมงป่องเป็นตัวส่งกัมมันตภาพรังสี ให้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง และอยู่ในระดับความแรงรังสีที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงดำเนินการติดฉลากสารรังสีไอโอดีน เข้ากับสายเพปไทด์จากพิษแมงป่อง

จากการทดลองกับคนไข้อาสาสมัครที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองระยะสุดท้าย จำนวน 59 คน ด้วยการฉีดสายเพปไทด์จากพิษแมงป่องติดฉลาก (TM 601) ไปยังเซลล์มะเร็งโดยตรง ผลปรากฏว่า คนไข้มีชีวิตนานขึ้นเป็นเวลาโดยเฉลี่ย 3 เดือน ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว คนไข้ทั้งหมดเสียชีวิตไป แต่ สาร TM601 มีผลช่วยยืดอายุคนไข้ไว้ได้ระยะหนึ่ง

ปัจจุบันคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ได้เปลี่ยนการทดลองใหม่ โดยใช้วิธีฉีดสาร TM601 เข้ากระแสเลือดของคนไข้อาสาสมัครป่วยด้วยโรคมะเร็งสมอง ที่มีชนิดของเซลล์มะเร็งแตกต่างกัน ทั้งนี้ทางบริษัท TranMolecular ต้องการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าจับกับตัวรับในเซลล์มะเร็งที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (secondary tumours) บริเวณทั่วร่างกาย โดยที่แพทย์เองยังตรวจไม่พบ พร้อม ๆ กับการเข้าจับกับตัวรับในเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานถึงผลการศึกษานี้

ในอดีตคนจีนใช้แมงป่องด้านสรรพคุณทางยามานานนับ 3000 ปี ด้วยการนำแมงป่องมาปิ้งหรือย่าง กินช่วยขับลม ช่วยขับพิษอื่น ๆ ทำให้เลือดลมดี และใช้แมงป่องอบแห้ง รักษาโรคหลายชนิด เช่น บาดทะยัก เกาต์ หลอดเลือดแดงอักเสบ คนไทยเราใช้ดองเหล้ากิน บรรเทาอาการอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเข้าทำนอง “หนามยอกเอาหนามบ่ง” นั้นแล

ก่อนจบ ขอฝากข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างแมงป่องกับแมลงทั่วไป ซึ่งนอกจากขาที่มีมากกว่าแมลงถึง 2 ขาแล้ว ส่วนหัวของแมงป่อง ก็ยังไม่มีหนวดอีกด้วยค่ะ

(Scorpion venom goes nuclear to attack cancer: NewScientist  Vol.200  No. 2676  )