STKC

ชื่อนี้มีที่มา ( 18 )
รังสีเอกซ์ (X-rays)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

รังสีเอกซ์ (X-rays) คือ รังสีในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีอำนาจทะลุทะลวงสูง ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากนิวเคลียสของอะตอม แต่เกิดขึ้นเมื่ออะตอมถูกกระตุ้น ทำให้อิเล็กตรอนวงในหลุดออกไป และอิเล็กตรอนวงถัดไปเข้ามาแทนที่ แล้วให้พลังงาน ส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีเอกซ์ หรือเกิดจากการระดมยิงเป้าโลหะหนักบางชนิด เช่น ทังสเตน ด้วยอิเล็กตรอนความเร็วสูง ซึ่งอิเล็กตรอนจะถูกหน่วงให้ช้าลงอย่างทันทีทันใดและปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา

บางคนเรียก “รังสีเอกซ์” ว่า “รังสีเรินต์เกน” ตามชื่อของ วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Konrad Roentgen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ค้นพบรังสีนี้เมื่อ ค. ศ. 1895

วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน

เรินต์เกน ใช้คำว่า “รังสีเอกซ์” (X-rays) เป็นครั้งแรก โดยตีพิมพ์ในบทความชื่อ “ว่าด้วยรังสีชนิดใหม่” (พากย์เยอรมันคือ Ueber eine neue Art von Strahlung [On a New Kind of Ray] ) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895 ความตอนหนึ่งมีว่า...

“แม้แต่แผ่นอะลูมิเนียมหนา 15 มิลลิเมตรรังสีเอกซ์ (ซึ่งเพื่อให้กระชับ นับแต่นี้ผมขอเรียกเช่นนี้) ก็ยังทะลุผ่านไปได้... ผมหาเหตุผลในการหาชื่อให้กับ “ รังสี ” ที่ถูกปล่อยออกมาจากผนังของอุปกรณ์ปล่อยประจุ (หลอดรังสีแคโทด หรือ cathode ray tube ย่อว่า CRT ) ซึ่งทำเกิดเงาได้เมื่อลองนำวัสดุที่ไม่ค่อยจะโปร่งใสไปขวางไว้ระหว่างอุปกรณ์ฯ กับฉากฟลูออเรสเซนส์ (หรือแผ่นไวแสง)”


อุปกรณ์การทดลองของเรินต์เกน (B คือขดลวดเหนี่ยวนำ C คือแผ่นไวแสง T คือหลอดปล่อยประจุ)

 

“กระชับ” เป็นคำที่เรินต์เกนใช้อธิบายสาเหตุที่เลือกใช้คำนั้น ต่างจากนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในยุคนั้น (เช่น วิลเลียม ครูกส์ (William Crookes) ) เรินต์เกนไม่ใช่คนประเภทที่ใช้ศัพท์แสงสละสลวย การตั้งชื่อรังสีด้วยตัวอักษรเพียงตัวเดียวเหมาะกับ บุคลิกของเขามากกว่า

แน่นอนว่าเรินต์เกนต้องการเลือกชื่อรังสีใหม่นี้ให้แตกต่างไปจากรังสีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดปล่อยประจุ (ยกตัวอย่าง รังสีแคโทด และรังสีของเลนาร์ด (Philipp Lenard)) แต่ทำไมเขาจึงเลือกตัวอักษร “เอกซ์ ” แทนที่จะเป็น “วาย” หรือ "แซด” คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็คือว่า เรินต์เกนเลือกคำว่า “รังสีเอกซ์” เพื่อชี้ว่า ธรรมชาติของรังสีนี้ไม่เป็นที่รู้จักกันมาก่อน และต่อให้ไม่รู้ว่าเรินต์เกนเขียนอธิบายไว้ว่าอย่างไร แต่มันสมเหตุสมผลดี เพราะเราใช้ตัวอักษร “เอกซ์” (X) ในทางคณิตศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่ไม่ทราบค่า

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: X-rays โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 30 เมษายน 2552)