STKC

ชื่อนี้มีที่มา ( 16 )
ซีเวิร์ต (Sivert)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ซีเวิร์ต (sievert, Sv) เป็นชื่อหน่วยพิเศษของหน่วยเอสไอสำหรับการวัด ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) โดยเป็น ผลคูณระหว่างปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) ที่มีหน่วยเป็นเกรย์ กับค่าปรับเทียบที่แตกต่างกันตามชนิดและพลังงาน ของรังสี (relative biological effect ย่อว่า RBE)

หน่วย “ซีเวิร์ต” นี้ใช้แทนหน่วย “เร็ม” โดย 1 ซีเวิร์ต เท่ากับ 100 เร็ม และ 1 ซีเวิร์ตมีค่าเท่ากับ 1 จูลต่อกิโลกรัม

http://www.fas.org/nuke/guide/usa/doctrine/dod/fm8-9/1ch5.htm

ที่มาของชื่อหน่วยนี้ก็คือ ในจดหมายฉบับเดียวกับที่ไอซีอาร์ยู หรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านหน่วยและการวัด ทางรังสี หรือ ไอซีอาร์ยู (ICRU ย่อจาก International Commission on Radiological Units and Measurements) แจ้งการรับรองให้ชื่อ “เกรย์” ( ตามชื่อของ Harold Gray อดีตรองประธานไอซีอาร์ยู) เป็นหน่วยของปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) นั้น ไอซีอาร์ยูได้บอกไว้ด้วยว่า “หลักเกณฑ์ (สำหรับการเลือก) ชื่อที่เหมาะสมสำหรับหน่วยของปริมาณ รังสีสมมูล เป็นปัญหาพิเศษที่ไอซีอาร์ยูจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ต่อไป”

แต่ยังไม่ทันที่ไอซีอาร์ยูจะพิจารณาเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 1977 ในหนังสือ ICRP Publication 26 Recommendations of the International Commission on Radiological Protection ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกัน รังสี หรือ “ไอซีอาร์พี” (ICRP ย่อจาก International Commission on Radiological Protection ) ก็ได้ตัดหน้าเลือกชื่อ “ซีเวิร์ต”เป็นชื่อหน่วยสำหรับ “ปริมาณรังสีสมมูล” เพื่อเป็นเกียรติแก่ รอล์ฟ ซีเวิร์ต (Rolf Sivert) อดีตประธานของ ไอซีอาร์พี ที่มีผลงานวิจัยเน้นด้านผลทางชีวภาพ (biological effects) ของปริมาณรังสีต่ำ ๆ ที่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้อง กับรังสีและสาธารณชนทั่วไปได้รับกัน และบั้นปลายชีวิตของเขา ได้อุทิศความสนใจให้กับด้าน “การป้องกันรังสี” (radiation Protection) เป็นส่วนใหญ่

รอล์ฟ ซีเวิร์ตในห้องปฏิบัติการของเขาเมื่อปี 1929

 

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: RSO โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 28 เมษายน 2552)