STKC

ชื่อนี้มีที่มา (11)
แร็ด (rad)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“แร็ด” (rad) เป็นหน่วยเดิมที่ใช้วัดปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) โดย 1 แร็ด มีค่าเท่ากับ 100 เอิร์ก (erg) ต่อกรัม ของมวลสาร อันที่จริงหน่วย “แร็ด” นี้เดิมก็เคยมาแทนที่หน่วย “เร็ป” (rep) มาก่อน แต่ในปัจจุบันหน่วย “แร็ด” กลับถูกหน่วย “เกรย์” มาแทนที่อีกต่อหนึ่ง โดย 1 เกรย์ เท่ากับ 100 แร็ด

คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านหน่วยและการวัดทางรังสีหรือไอซีอาร์ยู (International Commission on Radiological Units and Measurements ย่อว่า ICRU) รับรองหน่วย “แร็ด” เมื่อ ค.ศ. 1953 ในที่ประชุม the Seventh International Congress of Radiology ตามที่ได้พิจารณามาก่อนหน้านี้ในที่ประชุมไอซีอาร์ยูเมื่อปี 1951 เพียงแต่ไม่ปรากฏบันทึกเป็น เอกสารของการพิจารณาความจำเป็นต้องมีหน่วยนี้ ทั้งนี้นอกเหนือจากที่สามทศวรรษก่อนหน้านี้ก็มีการใช้หน่วย แร็ด กันมาก่อน โดยเป็นหน่วยที่ใช้เกี่ยวกับเนื้องอกของหนูแล้ว ดูเหมือนว่าหน่วย “แร็ด” จะปรากฏในรายงานการประชุมของ ไอซีอาร์ยูเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1953 โดยไม่มีการให้เหตุผลที่เลือกชื่อนี้ และก็ไม่มีการอธิบายในรายงานใด ๆ ต่อ ๆ มาของทั้ง ไอซีอาร์ยู และของไอซีอาร์พี (ICRP International committee on Radiological Protection) หรือแม้ในรายงานเกี่ยวกับ ด้านนี้ของคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและการวัดรังสี หรือ เอ็นซีอาร์พี (National Council on Radiation Protection & Measurements หรือ NCRP) เลย

มีความเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า “rad” เป็นชื่อย่อหรือรัสพจน์ (acronym) ของ “radiation absorbed dose” ซึ่งสมเหตุสมผลเนื่องจากมีหน่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น reb rep และ rem ล้วนเป็นรัสพจน์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี หากว่า “แร็ด” เป็นรัสพจน์ ใคร ๆ ก็คงคาดว่าไอซีอาร์ยูจะต้องออกมาระบุว่าเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ปรากฏว่า ไอซีอาร์ยูประกาศเช่นนั้นแต่อย่างใด ในอีกแง่หนึ่ง หาก “แร็ด” เป็นเพียงชื่อที่ใช้เรียกสั้น ๆ สะดวกปากเท่านั้น ก็ไม่มีเหตุผล ที่ไอซีอาร์ยูจะต้องบอกกล่าวอะไร ดังนั้น การไม่ชี้แจงในเอกสารทางการสำหรับชื่อหน่วยนี้ จึงเป็นการปฏิเสธความคิดที่ว่า "แร็ด” เป็นรัสพจน์อย่างสิ้นเชิง

ค.ศ. 1982 ดร.ลอว์ริสตัน เทเลอร์ (Dr. Lauriston Taylor) ซึ่งเป็นประธานเกียนติคุณของไอซีอาร์ยู (ปี 1990 ) ได้เขียน บทความเรื่อง 80 Years of Quantities and Units - Personal Reminiscences ไว้ใน “ข่าวไอซีอาร์ยู” (ICRU News) ซึ่งเขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “คำศัพท์ว่า rad นี้ ได้รับการเสนอขึ้นมาโดยเป็นเพียงคำ ๆ หนึ่งเท่านั้นเอง แต่นับแต่นั้นมาก็มักอ้างกันอย่างไม่ถูกต้องมาโดยตลอดว่าเป็นรัสพจน์ของ “ radiation absorbed dose ” ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างแน่นอน”

ลอว์ริสตัน เทเลอร์ (1902-2004) (http://hps.org/aboutthesociety/people/inmemoriam/LauristonTaylor.html)

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: Rad โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 28 เมษายน 2552)