STKC

ชื่อนี้มีที่มา (6)
ฟิชชัน (Fission)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปลาย ค.ศ. 1938 ลิเซอ ไมท์เนอร์ (Lise Meitner) และ ออทโท ฟริช (Otto Frisch) เชื่อว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าอะตอม ยูเรเนียมแบ่งแยกออกเป็นสองเสี่ยงได้เมื่อกระแทกด้วยนิวตรอน เพื่อจะตรวจสอบปรากฏการณ์นี้ ฟริชทดลองเพื่อพิสูจน์ ์แนวคิดของเขาอยู่ในห้องใต้ถุนของสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีนีลส์โบร์ (Niels Bohr’s Institute) ในเมืองโคเปนเฮเกน โดยการวาง ก้อนยูเรเนียมไว้ตรงกับแชมเบอร์ของเครื่องวัดรังสีแบบสัดส่วน (proportional counter) จากนั้นก็ระดมยิงอนุภาคนิวตรอน เข้าไปที่ก้อนยูเรเนียม สำหรับการตรวจวัดรังสีที่อาจเกิดขึ้นจากการทดลองของเขา ฟริชดูได้จากบนจอออสซิลโลสโกป ที่ต่อเข้าไปที่แชมเบอร์ของเครื่องวัด ซึ่งเขาจะสังเกตได้จากพัลส์ที่ปรากฏบนจอที่อาจเกิดจากชิ้นส่วนของอะตอมที่เกิด การแบ่งแยก

ลิเซอ ไมท์เนอร์ และ ออทโท ฟริช

จากหนังสือเรื่อง Personal Communication ตีพิมพ์เมื่อปี 1996 เขียนโดย วิลเลียม อาร์โนลด์ (William Arnold) กับอกีเรื่อง คือ Atomic Bomb Scientists เขียนโดย เจ. แอร์เมนก์ (J. Ermenc) ตีพิมพ์เมื่อปี 1989 จับความได้ว่า ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ คนที่แวบลงไปที่ห้องใต้ถุนเพื่อดูว่าฟริชกำลังเล่นสนุกอะไรอยู่นั้น ก็มีนักชีววิทยาอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ วิลเลียม อาร์โนลด์ นั่นเอง และต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่อาร์โนลด์ได้พบเห็นมา

ตอนแรกทั้งหมดที่อาร์โนลด์เห็นบนจอออสซิลโลสโกปก็คือพัลส์เล็ก ๆ ที่ปรากฏเป็นช่วง ๆ ที่เกิดจากอนุภาคแอลฟาที่ปล่อย ออกมาจากก้อนยูเรเนียม แต่เมื่อเขาได้ทำตามที่ฟริชบอกให้เขาใช้เครื่องมือคีบเอาต้นกำเนิดนิวตรอนไปวางไว้ข้าง ๆ ก้อน ยูเรเนียม พลันโลกก็เปลี่ยนไป ! พัลส์ขนาดใหญ่เริ่มปรากฏ เป็นพัลส์ที่ใหญ่กว่าอนุภาคแอลฟาใด ๆ จะทำให้เกิดขึ้นได้ นั่นคือ พัลส์ที่เกิดจากชิ้นส่วนของนิวเคลียสของยูเรเนียมที่แบ่งแยกออกมา ฟริชรอให้อาร์โนลด์ได้ดูการทดลองแต่ต้นจนจบ จากนั้น ก็กล่าวบางอย่างเกี่ยวกับผลการทดลองว่า “คุณคงจะเป็นนักชีววิทยาอะไรสักอย่าง มีศัพท์อะไรที่คุณใช้อธิบายแบคทีเรียที่ กำลังแบ่งตัวบ้างไม๊ ?” อาร์โนลด์ตอบว่า “ไบแนรีฟิชชัน” (binary fission) ที่น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า “การแบ่งแยกเป็น สองส่วน” แล้วฟริชก็ถามต่อไปว่า คำว่า “ฟิชชัน” จะใช้กับผลการทดลองนี้ได้หรือไม่และอาร์โนลด์ก็เห็นด้วยว่าคำว่า “ฟิชชัน” ใช้ได้

ตัวอย่างพัลส์ที่เห็นได้บนจอของออสซิลโลสโกป

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: Fission โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 23 เมษายน 2552)