STKC

ชื่อนี้มีที่มา (4)
คูรี (curie)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

คูรี (curie, Ci ) เป็นหน่วยเดิมที่ใช้วัดกัมมันตภาพ (activity) โดย 1 คูรี หมายถึง การสลายของนิวไคลด์กัมมันตรังสี 3.7x1010 ครั้งต่อวินาที ซึ่งมาจากอัตราการสลายโดยประมาณของธาตุเรเดียมหนัก 1 กรัม หน่วยคูรีนี้ตั้งขึ้นตามชื่อของมารี และปีแอร์ กูรี (Marie and Pierre Curie) ผู้ค้นพบธาตุเรเดียม เมื่อ ค. ศ. 1898 ปัจจุบันใช้หน่วยวัดกัมมันตภาพเป็น “เบ็กเคอเรล” แทน โดย 1 คูรี เท่ากับ 3.7x1010 เบ็กเคอเรล

ในหนังสือ Rutherford and Boltwood – Letters on Radioactivity เขียนโดย แอล. แบแดช (L. Badash) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1969 ได้เล่าเอาไว้ว่า แต่เดิมคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐาน (Standards Committee) ที่ให้คำนิยามแก่หน่วยคูรีนั้น เห็นว่า ควรกำหนดให้มีขนาดที่เล็กกว่าที่เป็นอยู่นี้ คือให้อยู่ในช่วงที่ใช้ทำงานกันทั่วไปในห้องปฏิบัติการ แต่ทว่ามารี กูรีคิดไปอีกทาง กล่าวคือเธอเห็นว่าถ้าจะใช้ชื่อหน่วยว่าคูรี ก็ต้องให้ “ใหญ่”! เข้าไว้ ดังจะเห็นว่า โดยทั่วไป ขนาด “กัมมันตภาพ” ของสาร กัมมันตรังสีที่ใช้ ต้องตวงต้องวัดกันเป็นมิลลิคูรีซึ่งเล็กกว่าคูรี 1 พันเท่าตัว หรือเป็นไมโครคูรีซึ่งเล็กกว่าคูรีถึง 1 ล้านเท่า

ปีแอร์ กูรี
มารี กูรี
ย้อนไปปี 1910 วารสาร Nature ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ได้ลงบทความของเออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford ) ผู้เป็นประธานของคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐาน เรื่อง Radium Standards and Nomenclature ซึ่งมีข้อความ ตอนหนึ่งว่า “ในที่ประชุมวิชาการด้านรังสีวิทยา มีข้อเสนอว่าหากเป็นไปได้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ (ปีแอร์) กูรี ผู้เพิ่ง ถึงแก่กรรมไปไม่นานนี้ ให้ใช้ชื่อ คูรี (Curie) เป็นชื่อหน่วยสำหรับปริมาณของเรเดียมหรือของรังสี (เรดอน) ที่เรเดียม ปลดปล่อยออกมา และเรื่องนี้ได้ตกเป็นภาระการพิจารณาของคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการก็ได้เสนอให้ใช้ ้ชื่อคูรีเป็นหน่วยใหม่สำหรับแสดงปริมาณหรือมวลของรังสี (เรดอน) ที่เรเดียมปล่อยออกมา ที่สมดุลกับมวลของ (ธาตุ) เรเดียม 1 กรัม”
เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด

คงสังเกตได้ว่ารัทเทอร์ฟอร์ดไม่ได้บอกว่าคณะกรรมการเห็นด้วยหรือรับรองข้อเสนอให้ใช้ชื่อหน่วยว่าคูรีตามชื่อของปีแอร์ กูรี อย่างไรก็ดี อีก 3 ปีต่อมาในปี 1913 รัทเทอร์ฟอร์ดได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Radioactive Substances and Their Radiations ว่า “ในที่ประชุมวิชาการด้านรังสีวิทยาที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อปี 1910 มีมติว่าให้ใช้ชื่อหน่วยว่า คูรี สำหรับ ปริมาณสมดุลนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่เมอสิเออร์และมาดามกูรี”

(ความโดยละเอียดอ่านได้จาก " How the Curie Came to Be" )

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: Curie โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 21 เมษายน 2552)