STKC

ชื่อนี้มีที่มา (1)

รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

รังสีแอลฟา (alpha rays หรือ a-rays) เป็นกระแสของอนุภาคแอลฟาที่มีประจุบวก ประกอบด้วยโปรตอน 2 อนุภาค และ นิวตรอน 2 อนุภาค ซึ่งเหมือนกับนิวเคลียสของฮีเลียม-4 มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำ ผ่านอากาศได้เพียง 2- 3 เซนติเมตร และไม่สามารถทะลุผ่านแผ่นกระดาษหรือผิวหนังได้ อนุภาคแอลฟาเกิดจากการสลายของสารกัมมันตรังสีบางชนิด เช่น ยูเรเนียม และทอเรียม

รังสีบีตา (beta rays หรือ b-rays) ได้แก่ อนุภาคอิเล็กตรอน หรือโพซิตรอน ที่ถูกปล่อยออกจากนิวเคลียสขณะเกิดการ สลายกัมมันตรังสีของธาตุกัมมันตรังสี

รังสีแกมมา (gamma rays หรือ g-rays) เป็นรังสีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดคลื่นสั้น เกิดจากการสลายของนิวเคลียสที่ ไม่เสถียร หรือจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ มักเกิดร่วมกับอนุภาคแอลฟาและอนุภาคบีตา รังสีแกมมามีอำนาจในการทะลุทะลวงสูง ดังนั้น ในการป้องกันอันตรายจากรังสีจึงต้องใช้วัสดุที่มีความหนาแน่นสูง เช่น ตะกั่ว หรือคอนกรีตหนาเป็นเครื่องกำบัง

http://www.deq.state.id.us/inl_oversight/radiation/penetration.cfm

หลักฐานอ้างอิงแรกในบทความวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับรังสีแอลฟาและรังสีบีตาปรากฏในข้อเขียนของเออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) เมื่อ ค.ศ. 1899 ความว่า " การทดลองเหล่านี้แสดงว่า รังสีของยูเรเนียมเป็นรังสีเชิงซ้อน ซึ่งประกอบ ด้วยรังสีอย่างน้อย 2 ชนิด อย่างแรกดูดกลืนในตัวกลางได้อย่างดีมาก ซึ่งเพื่อสะดวกจะขอเรียกว่ารังสีแอลฟา และอีกรังสีหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะด้านการทะลุทะลวงผ่านตัวกลางได้ดีกว่า โดยจะขอเรียกว่า "รังสีบีตา""

http://library.thinkquest.org/28383/nowe_teksty/htmla/2_27a.html

นักฟิสิกส์และนักประวัติศาสตร์ชื่อว่าแอลเฟรด โรเมอร์ (Alfred Romer) เมื่อ ค.ศ. 1960 ให้ความเห็นว่าชื่อ “ รังสีแอลฟา” นี้ เชื่อว่ารัทเทอร์ฟอร์ดเลือกขึ้นมาโดยไม่ได้มีเหตุผลใดเป็นพิเศษ และรัทเทอร์ฟอร์ดก็ไม่เคยบอกไว้ที่ใดว่าเหตุใดจึงเลือกใช้ พยัญชนะตัวแรกของอักษรกรีก (a) หากเทียบเคียงว่าที่ผ่านมา วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Konrad Roentgen) ก็เคยเลือกใช้พยัญชนะ X เป็นชื่อของ “ รังสีเอกซ์” (X-rays) มาก่อน และรัทเทอร์ฟอร์ดก็เหมือนกับคนรุ่นเขาอีกหลาย ๆ คนที่ล้วนเคยร่ำเรียนภาษากรีกกันมาทั้งนั้น

เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด

วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน

ปอล วียาร์

ในปี 1902 รัทเทอร์ฟอร์ดก็ขยับต่อไปที่พยัญชนะกรีกตัวที่ 3 (g) โดยเลือกชื่อ “ รังสีแกมมา” สำหรับเรียกรังสีที่มีการทะลุ-ทะลวงสูงมาก มาใช้เรียกรังสีที่ ปอล วียาร์ (Paul Villard) ค้นพบ (เป็นรังสีที่ปล่อยออกมาจากยูเรเนียมเช่นเดียวกับรังสี แอลฟาและบีตา) หลังจากนั้นไม่นาน เจ.เจ. ทอมสัน (J.J. Thomson) ก็เลือกใช้ชื่อ “ รังสีเดลตา” (d-rays ) บ้าง ทำให้้ทุกวันนี้เรามีชื่อของ “ อนุภาคย่อยกว่าอะตอม” (subatomic particles) ที่แตกหน่อตามชื่อพยัญชนะมากมายจริง ๆ

ชื่อของอนุภาคย่อยกว่าอะตอมมีคำประกอบ เช่น ไพ (pi) คัปปา (kappa) ซาย (psi) ซิกมา (sigma) ไค (xi) แลมบ์ดา (lambda) โอเมกา (omega) ทาว (tau) ซึ่งล้วนแต่เป็นพยัญชนะกรีก (commons.wikimedia.org)
(เผยแพร่ : 9เมษายน 2552)