การประเมินคุณภาพอาหารด้านประสาทสัมผัสของปลากรอบสามรส จะดำเนินการให้มีการประเมินเป็นระยะๆ โดย ผู้ชิมจำนวน 12-16 คน การวิเคราะห์และการคำนวณทางสถิติใช้โปรแกรม MINITAB V.15 ในการคำนวณและประเมินผล แบบทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การทดสอบความแตกต่างวิธี Triangle test โดยให้ ผู้ทดสอบชิมเลือกตัวอย่าง 1 ตัวอย่าง ที่มีความแตกต่าง จากพวก คือในการทดสอบ มี 1 ตัวอย่างที่เป็นปลากรอบสามรสฉายรังสี และ อีก 2 ตัวอย่างที่เหลือ เป็นตัวอย่างควบคุมคือ ปลากรอบสามรสที่ไม่ผ่านการฉายรังสี ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดสอบชิมประเมินให้ปลากรอบสามรสที่ฉายรังสี ไม่แตกต่าง จากปลากรอบสามรสที่ไม่ได้ฉายรังสี ณ 3 วัน, 1 เดือน และ 3 เดือน หลังฉายรังสี
ส่วนที่ 2 การประเมินคุณลักษณะและความชอบ เช่น ลักษณะภายนอก กลิ่น รสชาติ ความชอบโดยรวมเป็นต้น โดยใช้สเกล ตั้งแต่ 5 จุด ถึง 9 จุด โดยระดับคะแนนที่ได้สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาได้ ผลการทดลอง พบว่าผู้ทดสอบชิมประเมินคุณลักษณะและความชอบ ให้ปลากรอบสามรสที่ฉายรังสี ไม่แตกต่างจาก ปลากรอบสามรสที่ไม่ได้ฉายรังสี ณ 3 วัน, 1 เดือน และ 3 เดือน หลังฉายรังสี
จากผลการทดลองนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิต ปลากรอบสามรส ฉายรังสีและเตรียมเป็นรูปแบบการกระจาย ของรังสี เพื่อใช้อ้างอิงในการฉายรังสี ปลากรอบสามรส ให้กับผู้ประกอบการต่อไป โดยเทคโนโลยีการฉายรังสีสามารถช่วย ปรับปรุงคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้สามารถยกระดับ ผลิตภัณฑ์ให้เผยแพร่ทั้งในประเทศและส่งออกได้ |