การประเมินคุณภาพอาหารด้านประสาทสัมผัสของขนมปังขาไก่ จะดำเนินการให้มีการประเมินเป็นระยะ ๆ โดย ผู้ชิมจำนวน 12-16 คน การวิเคราะห์และการคำนวณทางสถิติใช้โปรแกรม MINITAB V.15 ในการคำนวณและประเมินผลแบบทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การทดสอบความแตกต่างวิธี triangle test โดยให้ผู้ทดสอบชิมเลือกตัวอย่าง 1 ตัวอย่างที่มีความแตกต่างจากพวก คือในการทดสอบมี 1 ตัวอย่างที่เป็นขนมปังขาไก่ฉายรังสี และอีก 2 ตัวอย่างที่เหลือเป็นตัวอย่างควบคุมคือขนมปังขาไก่ที่ไม่ผ่านการฉายรังสี ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดสอบชิมประเมินให้ขนมปังขาไก่ที่ฉายรังสีไม่แตกต่างจากขนมปังขาไก่ที่ไม่ได้ฉายรังสี ณ 1 เดือนหลังฉายรังสี
ส่วนที่ 2 การประเมินคุณลักษณะและความชอบ เช่น ลักษณะภายนอก กลิ่น รสชาติ ความชอบโดยรวม โดยใช้สเกลตั้งแต่ 5 จุดถึง 9 จุด โดยระดับคะแนนที่ได้สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาได้ ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดสอบชิมได้ประเมินให้สีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% โดยขนมปังขาไก่ที่ฉายรังสีมีสีที่เข้มมากกว่า ณ 1 เดือนหลังฉายรังสี อย่างไรก็ตาม ผู้ทดสอบชิมประเมินความชอบโดยรวม ของขนมปังขาไก่ที่ฉายรังสี ไม่แตกต่างจากขนมปังขาไก่ที่ไม่ได้ฉายรังสี
จากผลการทดลองนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตขนมปังขาไก่ฉายรังสี และเตรียมเป็นรูปแบบการกระจายของรังสี เพื่อใช้อ้างอิงในการฉายรังสีขนมปังขาไก่ให้กับผู้ประกอบการต่อไป โดยเทคโนโลยีการฉายรังสีสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เผยแพร่ทั้งในประเทศและส่งออกได้ |