การดำเนินการด้านการพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์
ของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) |
เดชาชัย ชาญบัญชี
กลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (The Treaty of Non-Proliferation of Nuclear Weapons : NPT) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2515 เป็นผลให้ประเทศไทย ได้รับความสะดวกในการประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศภาคีอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ในการดำเนินกิจกรรม ด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้แก่ความสะดวกในการจัดหาวัสดุนิวเคลียร์ และปัจจัยทางวัตถุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ ส่วนภาระที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามสนธิสัญญานี้คือ ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ว่าด้วยการใช้ระบบพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ ภายใต้กรอบของสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือที่เรียกว่าข้อตกลงการพิทักษ์ความปลอดภัยของวัสดุนิวเคลียร์ (Safeguards Agreement : INFCIRC/241) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2517 เป็นต้นมา |
|
ประเทศไทยได้ลงนามรับรองการเป็นสมาชิกในสนธิสัญญา NPT และถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่มีอาวุธและวัตถุระเบิดนิวเคลียร์อยู่ในการครอบครอง (Non-Nuclear Weapons States : NNWS) ซึ่งในสนธิสัญญานี้ ได้กล่าวถึงข้อตกลงทางกฎหมายที่ประเทศไทยจะต้องให้สัญญาว่า ไม่ประสงค์ที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์หรืออุปกรณ์อื่นใด เพื่อการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และยอมรับการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของทบวงการฯ INFCIRC/153 (corrected) รวมทั้งประเทศไทย จะต้องจัดให้มีระบบการควบคุมทางบัญชี และตรวจสอบในระดับชาติของตนเอง (national system of accounting for and control of nuclear material) สำหรับวัสดุนิวเคลียร์ทุกประเภท ที่อยู่ภายใต้ความตกลงพิทักษ์ความปลอดภัย และจะต้องให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวก แก่เจ้าหน้าที่ตรวจการพิทักษ์ความปลอดภัยของทบวงการฯ (IAEA Safeguards Inspector) ที่จะมาทำการตรวจสอบ ณ สถานที่ติดตั้งนิวเคลียร์ ซึ่งได้แก่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย 1 ปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ ปปว-1/1 และสถานที่เก็บรักษาวัสดุนิวเคลียร์อื่น ๆ การตรวจสอบจะประกอบด้วยการตรวจสอบเอกสารที่ระบุปริมาณวัสดุนิวเคลียร์ การตรวจวัดด้วยวิธีทางกายภาพ ณ จุดตรวจวัดที่สำคัญตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงเพิ่มเติมเฉพาะกรณี (Subsidiary Arrangement) รวมทั้งการนับจำนวนแท่งเชื้อเพลิง และอุปกรณ์อื่น ๆ (Item Counting) ที่มีวัสดุนิวเคลียร์เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้แน่ใจว่าปริมาณวัสดุนิวเคลียร์เป็นไปตามที่แสดงไว้ในรายงานและในบัญชีควบคุมปริมาณ
ข้อตกลงที่ว่าด้วยการพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ ภายใต้สนธิสัญญา NPT ที่ทบวงการฯ ได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น จะประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือส่วนที่เรียกว่าข้อตกลงแม่บทหรือข้อตกลงมาตรฐาน ซึ่งมีโครงสร้างและบทกำหนดที่ตรงกัน สำหรับประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นคู่สัญญากับทบวงการฯ ทุกประเทศ และส่วนที่เรียกว่าข้อตกลงเพิ่มเติมเฉพาะกรณี ซึ่งครอบคลุมถึงรายละเอียดในทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะความก้าวหน้าของกิจกรรมนิวเคลียร์ในแต่ละประเทศ และตามลักษณะงานในสถานที่ที่ติดตั้งนิวเคลียร์แต่ละแห่ง |
|
สำหรับการมาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตรวจการพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ของทบวงการฯ ในประเทศไทยนั้น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือ ปท. ในฐานะที่เป็นสถานปฏิบัติการทางนิวเคลียร์หรือ Facility ของประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีควบคุมปริมาณวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ ทั้งที่หมดเปลืองไปจากการเดินเครื่องปฏิกรณ์และที่ยังคงเหลืออยู่ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทบวงการฯ นอกจากนั้น ปท. ยังเป็นผู้จัดทำรายงานปริมาณวัสดุนิวเคลียร์ตามรูปแบบ และตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเพิ่มเติมเฉพาะกรณี จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ Physical Inventory Listing : PIL และ Material Balance Report : MBR เพื่อส่งมอบให้ทบวงการฯ เก็บไว้เป็นหลักฐานและข้อมูลในการตรวจสอบครั้งต่อไป อนึ่ง หากมีการนำเข้าหรือส่งออกวัสดุนิวคลียร์พิเศษ ก็จำเป็นต้องรายงานให้ทบวงการฯ ทราบ ในรูปแบบของ Inventory Change Report หรือ ICR |
|
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ทบวงการฯ ภายใต้ข้อตกลงการพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์มาแล้ว จำนวน 35 ครั้ง สถาบันฯ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ทบวงการเป็นอย่างดีมาตลอด จึงเป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับทบวงการฯ |
|