การตั้งชื่อสำหรับธาตุที่มีเลขเชิงอะตอมมากกว่า 100

วันชัย ธรรมวานิช
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เคยสงสัยหรือไม่ว่า เมื่อดูตารางพีริออดิก (periodic table) แล้วพบว่าว่าธาตุที่มีเลขเชิงอะตอม 113 ถึง 118 จะใช้สัญญลักษณ์เป็นอักษร 3 ตัวแทนที่จะเป็น 2 ตัวเหมือนธาตุอื่น ๆ และธาตุเหล่านั้นมีชื่อว่าอะไร เนื่องจากธาตุเหล่านี้ไม่มีในธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างขึ้นมาโดยอาศัยปฏิกิริยานิวเคลียร์ ดังนั้น IUPAC Commission on Nomenclature of Inorganic Chemistry จึงมีข้อเสนอแนะในการกำหนดชื่อธาตุชั่วคราวโดยมีหลักการดังต่อไปนี้คือ

  1. ชื่อควรจะสั้นและมีความสัมพันธ์กับเลขเชิงอะตอมของธาตุ
  2. ชื่อจะต้องลงท้ายด้วย “ium” โดยไม่คำนึงว่าธาตุนั้นมีสมบัติอย่างไร
  3. สัญญลักษณ์ที่ใช้จะต้องประกอบด้วยอักษร 3 ตัว
  4. สัญญลักษณ์จะต้องได้มาจากเลขเชิงอะตอม และจะต้องสื่อความหมายให้ใกล้เคียงกับชื่อที่ตั้งขึ้นมากที่สุด
ข้อกำหนดในการตั้งชื่อธาตุชั่วคราวสำหรับธาตุที่มีเลขเชิงอะตอมมากกว่า 100 มีดังต่อไปนี้
1.
ชื่อจะต้องได้มาจากเลขเชิงอะตอมของธาตุ โดยใช้รากตัวเลข (numerical roots) ดังต่อไปนี้
0 = nil
1 = un
2 = bi
3 = tri
4 = quad
5 = pent
6 = hex
7 = sept
8 = oct
9 = enn
2.
นำรากตัวเลขมาเรียงกันตามลำดับตามค่าเลขเชิงอะตอมแล้วเติม “ium” ข้างท้ายเพื่อสะกดเป็นชื่อของธาตุ ในกรณีที่เลข 0 หรือ “nil” อยู่ต่อจากเลข 9 หรือ “enn” ให้ตัด “n” ตัวสุดท้ายออก และให้ตัดตัว “i” ออกเมื่อเลขตัวสุดท้ายเป็น “bi” หรือ “tri” ก่อนที่จะเติม “ium”
3.
ให้ใช้ตัวอักษรตัวแรกของรากตัวเลขที่ประกอบกันเป็นชื่อของธาตุมากำหนดเป็นสัญญลักษณ์ของธาตุ
4.
การออกเสียงชื่อธาตุให้ออกเสียงรากตัวเลขแต่ละตัวอย่างอิสระ เฉพาะรากตัวเลข “un” ให้ออกเสียงเป็นตัว “u” แต่ลากเสียงให้ยาวคล้ายกับคำว่า “moon”
ตัวอย่างของชื่อธาตุชั่วคราวและสัญญลักษณ์

เลขอะตอม

ชื่อธาตุชั่วคราว

สัญญลักษณ์

101

Unnilunium

Unu

102

Unnilbium

Unb

103

Unniltrium

Unt

104

Unnilquadium

Unq

105

Unnilpentium

Unp

106

Unnilhexium

Unh

107

Unnilseptium

Uns

108

Unniloctium

Uno

109

Unnilennium

Une

110

Ununnilium

Uun

111

Unununium

Uuu

120

Unbinilium

Ubn

121

Unbiunium

Ubu

130

Untrinilium

Utn

200

Binilnilium

Bnn

900

Ennilnilium

Enn

สำหรับการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการของธาตุที่พบใหม่ ผู้ค้นพบจะต้องเสนอชื่อของธาตุพร้อมด้วยสัญญลักษณ์แก่ IUPAC Inorganic Chemistry Division โดยชื่อของธาตุอาจจะตั้งตาม
  • ชื่อในตำนานหรือเทพนิยาย (mythological concept)
  • ชื่อแร่หรือวัตถุที่คล้ายกัน
  • จากชื่อสถานที่หรือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
  • จากสมบัติของธาตุ หรือ
  • จากชื่อนักวิทยาศาสตร์

หลังจากที่มีการตรวจสอบและยอมรับโดย IUPAC Inorganic Chemistry Division แล้วก็จะมีการนำเสนอให้ IUPAC Council เป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายก่อนที่จะมีการประกาศใช้

เรียบเรียงจาก

  1. J. Chatt, Recommendations for the Naming of Elements of Atomic Numbers Greater than 100, Pure Appl. Chem., 1979, 51, 381-384.
  2. W.H. Koppenol, NAMING OF NEW ELEMENTS (IUPAC Recommendations 2002), Pure Appl. Chem., Vol. 74, No. 5, pp. 787–791, 2002.