โครงการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางกายภาพ

คณะทำงานดำเนินงานร่วมกับ US DOE ตามโครงการ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตระหนักถึงภัยคุกคามในรูปแบบการใช้วัสดุกัมมันตรังสีเป็นอาวุธในการก่อการร้าย ดังนั้น จึงริเริ่มโครงการ Global Threat Reduction Initiative (GTRI) Program ขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างระบบป้องกันการโจรกรรมต้นกำเนิดรังสี โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้หน่วยงาน National Nuclear Security Administration (NNSA) ของกระทรวงการพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) NNSA และ Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานนี้จาก NNSA ได้ร่วมมือกันดำเนินการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางกายภาพ (physical security upgrades) แก่สถานที่เก็บต้นกำเนิดรังสีชนิดปิดผนึกที่มีความแรงรังสีสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนได้

สถานที่ทำการของ สทน. (กรุงเทพฯ) และ ปส. ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันและมีระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพและทางรังสีตลอด 24 ชั่วโมง บริเวณรังสีจะเป็นเขตพื้นที่หวงห้าม โดยวัสดุกัมมันตรังสีจะถูกเก็บรักษาหรือนำออกมาใช้งาน โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการการเก็บรักษาที่เข้มงวด ความร่วมมือในการพัฒนาระบบระบบป้องกันภัยทางกายภาพแก่ต้นกำเนิดรังสีจากโครงการนี้ จะทำให้ระบบป้องกันภัยทั้งทางกายภาพและระบบรักษาความปลอดภัยทางรังสีมีศักยภาพสูงยิ่งขึ้น

สทน. และ ปส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการ GTRI ร่วมดำเนินงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน (Department of Energy: DOE) แห่งสหรัฐอเมริกา โดยในระยะแรกจะดำเนินการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางกายภาพ กับอาคารเก็บรักษาต้นกำเนิดรังสีเลิกใช้แล้วและอาคารโคบอลต์ จากนั้นจะดำเนินการพัฒนาระบบกับอาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสี 3 และโรงงานฉายรังสีอาหารและ

ผลิตผลการเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยบริษัท Group for Security Services (Thailand) Limited หรือ G4S ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งงานบำรุงรักษาระบบเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2551-2553

การพัฒนาระบบระบบป้องกันภัยทางกายภาพสำหรับโครงการนี้ จะดำเนินการภายใต้แนวคิด Target-in คือมุ่งเน้นการติดตามตรวจสอบไปที่ต้นกำเนิดรังสี ทั้งนี้ การพัฒนาระบบโดยเริ่มจากการวิเคราะห์ระบบเดิมที่มีอยู่ และดำเนินการพัฒนาให้ระบบมีศักยภาพสูงขึ้น โดยอาศัยองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และระบบอุปกรณ์ เพื่อเสริมสร้างหน้าที่การทำงานของระบบป้องกันภัยทางกายภาพให้ดียิ่งขึ้น อันได้แก่ การตรวจหา (detection) การหน่วงเวลา (delay) และการโต้ตอบ (response)

อุปกรณ์ของระบบป้องกันภัยทางกายที่ได้ดำเนินการติดตั้งประกอบด้วย ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ dual technology ระบบล็อกประตูแบบ double dead-bolt locks และ high security balanced magnetic switches (tamper-indicating) ระบบ personnel access control ระบบให้แสงสว่างด้วยหลอดไฟชนิด mercury vapor และมีระบบให้สัญญาณเมื่อมีการบุกรุกเกิดขึ้น

นอกจากระบบอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ยังมีการปรับปรุงห้องควบคุมระบบ เพื่อติดตามตรวจสอบสถานการณ์ผ่านจอโทรทัศน์วงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง การปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย และแผนปฏิบัติงานในสภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ การติดตามตรวจสอบสถานการณ์ด้านความปลอดภัย จะมีการรายงานเข้าสู่ศูนย์ปฏิบัติการกลาง (central monitoring station) ซึ่งอยู่ภายนอกสถาบันเพื่อรับทราบสถานการณ์ในสภาวะปกติ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น

 
 
หลังจากเข้าเยี่ยมชมสถานปฏิบัติการทางรังสี เจ้าหน้าที่ของ DOE, PNNL, สทน. และ ปส. ได้ร่วมกันหารือถึงกรอบความร่วมมือ ในการสร้างระบบป้องกันภัยทางกายภาพ
   
 
 
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน.ร่วมหารือกับ Ms. Sarah Dickerson (DOE Project Manager) Mr. Greg Herdes และ Mr. Kyle Wright จาก PNNL
   
 
 
บรรยากาศของความร่วมมือในการสร้างระบบป้องกันภัยทางกายภาพ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์
   
 
 
คุณสุทัศน์ เที่ยงตรงจิตต์ ประธานคณะทำงานดำเนินงานร่วมโครงการ GTRI พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ของสทน. และ ปส. เข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องระบบและอุปกรณ์การป้องกันภัยทางกายภาพ