เมื่อประจุบวกของ Arginine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนใน CPPs ทำปฏิกิริยากับอนุมูลประจุลบ คือ phosphate, sulphate และ phospholipids ของ cell membrane ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชั้น lipid bilayer ดังนั้น CPPs จึงสามารถเข้าไปภายในเซลล์ได้ ซึ่งประสิทธิภาพของการนำสารเข้าสู่เซลล์นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของ CPPs และชนิดของเซลล์ด้วย เช่น งานวิจัยของ Jones และคณะ พบว่า ประสิทธิภาพของการนำส่ง protein kinase inhibitor (PKI) เข้าไปภายในเซลล์ Chinese hamster ovary (CHO) ได้ดีที่สุดเมื่อรวมกับ CPPs (transportan และ polyarginine) รองลงมาเมื่อรวมกับ penetratin และน้อยที่สุดเมื่อรวมกับ tat
การติดฉลากเพปไทด์ CPPs กับสารรังสี จะมีตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงและต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน lysine หรือ Arginine ใน CPPs ซึ่งสารรังสีที่สามารถนำมาติดฉลากกับ CPPs ได้แก่ อินเดียม-111 (111In) และเทคนีเชียม-99เอ็ม (99mTc) ตัวอย่างงานวิจัยการติดฉลากสารรังสีกับเพปไทด์ในกลุ่มนี้ เช่น
Bhorade และคณะ ได้ทำการทดลองรวม DOTA กับ tat peptide (GRKKRRQRRRGYK) ที่ตำแหน่ง C-terminus และติดฉลากกับสารรังสี 111In เมื่อนำ 111In-DOTA-tat มาทดสอบกับเซลล์ HeLa cells และ Lymphocyte ของหนู พบว่า เซลล์สามารถนำ 111In-DOTA-tat เข้าไปภายในเซลล์และขนส่งต่อไปยังนิวเคลียสของเซลล์ได้ โดยเปรียบเทียบกับการนำ 111In-DOTA มาทดสอบกับเซลล์ พบว่า ไม่มีการสะสมของ 111In-DOTA ภายในเซลล์
Polyyakov และคณะ ได้ทำการทดลองติดฉลาก tat peptide (GRKKRRQRRR-KGC) ที่ตำแหน่ง C-terminus ของ KGC กับ 99mTc เมื่อนำ 99mTc-tat มาทดสอบกับเซลล์ leukemia cells และ epidermoid carcinoma cells พบว่าเซลล์สามารถนำ 99mTc-tat เข้าไปภายในไซโทพลาซึมและนิวเคลียสของเซลล์ได้
Lewin และคณะ ได้ทำการทดลองรวม tat peptide (GRKKRRQRRR-YKC) ที่ตำแหน่ง C-terminus ของ YKC กับ cross-linked dextran iron oxide (CLIO) nanoparticles และ DTPA และนำไปติดฉลากกับ 111In เมื่อนำ 111In-DTPA-CLIO-tat มาทดสอบกับเซลล์ human hematopoietic CD34+ cells, CD4+lymphocytes,mouse progenitor cells และ splenocytes พบว่าเซลล์สามารถนำ 111In-DTPA-CLIO-tat เข้าไปภายในไซโทพลาซึมและนิวเคลียสของเซลล์ได้
เอกสารอ้างอิง: |