โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างประเทศสมาชิกเอเชียอาคเนย์และแปซิฟิก เรื่องการเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แร่ และถ่านหิน โดยใช้ระบบวิเคราะห์เชิงนิวคลีออนิกส์และสารกัมมันตรังสีตามรอย
(RCA Project on Raising Productivity in the Coal, Minerals and Petrochemical Industries by using Nucleonic Analysis System and Radiotracers (RCA/8/107))

สิริพล เชื้ออินต๊ะ
ผู้ประสานงานโครงการของประเทศไทย
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปัจจุบันระบบวิเคราะห์เชิงนิวคลีออนิกส์ (Nucleonic Analysis System) นับเป็นเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระดับสูงประเภทหนึ่ง ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในงานสำรวจ และวัดวิเคราะห์คุณภาพแร่และถ่านหิน ในแหล่งผลิตอย่างครบวงจร ทั้งในหลุมเจาะสำรวจ ในหลุมกองผสม และบนสายพานลำเลียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์ปริมาณธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลักของเถ้า (ash) อาทิ Ca Fe Si และสารพิษเช่น S ซึ่งเทคนิคนี้สามารถให้ผลการตรวจวิเคราะห์ได้โดยทันทีโดยไม่ต้องทำลายตัวอย่างหรืออาศัยกรรมวิธีทางเคมีประกอบ ซึ่งนอกจากจะยังประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในด้านการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถควบคุมปริมาณของเสียให้ลดลงได้อีกด้วย นับเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วยการรักษาคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ในขณะเดียวกัน ไอโซโทปรังสีชนิดปิดผนึกและสารกัมมันตรังสีตามรอย (Radiotracer and Sealed Source Techniques) ก็เป็นเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระดับสูงอีกประเภทหนึ่ง ที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในงานตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุด และในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดระยะเวลาการหยุดซ่อมบำรุงอีกด้วย

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ได้เห็นความจำเป็นของการถ่ายโอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระดับสูงและการใช้ประโยชน์ใหม่ ๆ ในหลายสาขา เช่น การเกษตร สาธารณสุข อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ให้แก่ประเทศสมาชิกทั่วโลก สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และแปซิฟิกจำนวน 17 ประเทศ ทบวงการฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางวิชาการชื่อว่า Regional Co-operation in Asia and the Pacific (RCA) สำหรับสาขาอุตสาหกรรมนั้นใช้ชื่อหัวข้อว่า RCA Project on Raising Productivity in the Coal, Minerals and Petrochemical Industries by using Nucleonic Analysis System and Radiotracers (RCA/8/107) และมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551 โดยได้มีการประชุมครั้งแรกเพื่อกำหนดทิศทางและกิจกรรมความร่วมมือ (Project Planning Meeting) ที่ประเทศเกาหลีในเดือนมีนาคม 2550 และหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการมาได้ครึ่งทางแล้วในเดือนพฤษภาคม 2551 จึงได้มีการประชุม Mid-Term Progress Review Meeting ที่ประเทศเกาหลีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการ และรับทราบความก้าวหน้าของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วรวมทั้งปรับปรุงแผนการและกิจกรรม ที่จะดำเนินต่อไปจนจบโครงการ ผลการประชุมโดยสรุปมีดังนี้

1. รายงานสถานะความก้าวหน้าของโครงการประเทศสมาชิก

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ ได้สรุปกิจกรรมที่ทบวงการฯให้การสนับสนุนในส่วนที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งประกอบด้วย

    • การประชุมวางแผนโครงการฯ (เกาหลี มีนาคม 2550)
    • การประชุมวิชาการในหัวข้อ New developments of radiotracer and sealed source techniques (ศรีลังกา สิงหาคม 2550)
    • การฝึกอบรมในหัวข้อ In-situ Analysis of Coal Quality (บังคลาเทศ ตุลาคม 2550)
    • การประชุมวิชาการในหัวข้อ Marketing and Quality Management of Radiotracer and Sealed Source Techniques (ออสเตรีย พฤศจิกายน 2550)
    • การสัมมนาในหัวข้อ Benefits of Industrial Applications of NAS in Exploration and Mine Development in Mineral Industry (เวียดนาม เมษายน 2551)
    • การประชุม Mid-Term Progress Review Meeting ในครั้งนี้ (เกาหลี พฤษภาคม 2551)

ออสเตรเลีย เป็นประเทศผู้นำของโครงการ (Project Lead Country) และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพถ่านหินและแหล่งแร่ ด้วยเทคนิค Prompt Gamma Neutron Activation Analysis (PGNAA) ปัจจุบันได้ขยายการใช้ประโยชน์ในงานวิจัยสิ่งแวดล้อม

บังคลาเทศ เริ่มใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมถ่านหินและปิโตรเคมี

จีน เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานสำรวจและเพิ่มศักยภาพของแหล่งผลิตน้ำมันโดยเทคนิคสารรังสีตามรอย ปัจจุบันเป็นศูนย์ฝึกอบรมกลางระดับภูมิภาคของโครงการด้าน PGNAA Off-Belt Analysis

อินเดีย ให้บริการอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตรวจสอบหอกลั่นน้ำมัน Chemical Reactors การเคลื่อนย้ายของตะกอนบริเวณท่าเรือ ผลิตเครื่องวัดรังสี และทำวิจัยด้าน Process Tomography ระดับห้องปฏิบัติการ

อินโดนีเซีย มีความชำนาญในงานบริการอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตรวจสอบหอกลั่นน้ำมัน หาจุดรั่วของสายส่งไฟฟ้า ตรวจวัดตะกรันในท่อส่งน้ำร้อน (Geothermal) ด้วยเทคนิคการสร้างภาพ (Gamma Tomography)

เกาหลี สามารถผลิตอุปกรณ์ตรวจสอบหอกลั่นแบบอัตโนมัติ มีผลงานวิจัยเรื่องการวัดและสร้างภาพรังสีแกมมา (Gamma Tomography) โดยใช้หัววัดรังสี 24 หัว (Fan beam technique) วิจัยวัดอัตราการไหลในท่อลำเลียงแบบผสม (Multi-phase Flows) โดยเทคนิค Cross Corelation

มองโกเลีย วิจัยการวัดเถ้าในถ่านหิน โดย X-Ray Fluorescence ได้สำเร็จ และกำลังนำเสนอเป็นมาตรฐานของประเทศ

พม่า เพิ่งเข้าร่วมโครงการเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ปากีสถาน มีความชำนาญในการใช้เทคนิคสารรังสีตามรอย ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายของตะกอนบริเวณท่าเรือ ตรวจสอบการรั่วไหลของระบบผลิตน้ำมัน และตรวจสอบประสิทธิภาพการเพิ่มผลผลิตน้ำมันในใต้ดินด้วยแรงอัดของน้ำ

ฟิลิปปินส์ ประสบความสำเร็จงานวิจัยการตรวจสอบการปนเปื้อนจากแหล่งทิ้งขยะสู่แหล่งน้ำ โดยสารรังสีตามรอย ศรีลังกา ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบในโรงกลั่นน้ำมัน

ไทย มีความเชี่ยวชาญในงานตรวจสอบหอกลั่นน้ำมัน ได้พัฒนาโปรแกรมระบบวัดสื่อสาร และประมวลผลงานวิเคราะห์หอกลั่น (M-DORT) และ งานรังสีตามรอย (DOZEN) รวมทั้ง ได้เข้าร่วมงานวิจัยระดับนานาชาติ (Co-coordinated Research Project) ในหัวข้อการพัฒนาสารรังสีตามรอยแบบพกพา (Cs-Ba/137 Tracer Generator)

เวียดนาม มีความชำนาญการสำรวจถ่านหินโดยเทคนิค PGNAA และเป็นศูนย์กลาง การฝึกอบรมระดับภูมิภาคของโครงการด้าน PGNAA (Bore-Hole Logging)

2. กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป

ที่ประชุมตกลงจะให้มีกิจกรรมระดับภูมิภาคอีก 3 หัวข้อ คือ

  • การฝึกอบรมในหัวข้อ Off-belt Analysis of Metalliferous Ores and Cement Quality by NAS (จีน ตุลาคม 2551)
  • การฝึกอบรมในหัวข้อImaging Technique for Validation of CFD Models of Multiphase Systems using Radiotracers (อินเดีย ธันวาคม 2551)
  • การประชุมสรุปผลโครงการ Final Progress Review Meeting (ไทย กุมภาพันธ์ 2552) -ร่างโครงการใหม่โดยมีจีนเป็นประเทศผู้นำ (พ.ศ. 2552-2554) ในหัวข้อ Diagnosis of Industrial Multi-phase Systems by Process Visualization Using Radiotracers and Sealed Sources

นอกจากนั้น ที่ประชุมขอให้ประเทศไทยจัดบุคลากร ที่มีความสามารถด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปปฏิบัติงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ (CAE) ประเทศฝรั่งเศส ปรับปรุงโปรแกรมการคำนวณสารรังสีตามรอย (Multiple-module software for Monte-Carlo simulation of photon transport JANU-MACALU-ECRIN) ให้เป็นระบบ Windows และนำมาถ่ายทอดให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในภูมิภาคได้ใช้ประโยชน์ต่อไป