รังสีในบุหรี่

โกวิทย์ นุชประมูล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

รังสี คือพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากต้นกำเนิดด้วยความเร็วสูง ใกล้เคียงกับความเร็วของแสง ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่น รังสีแกมมา หรือในรูปของกระแสอนุภาคเช่น อิเล็กตรอน เหตุเพราะรังสีมีพลังงาน รังสีจึงแทรกซึมไปยังที่ต่าง ๆ ได้ ทั้งในตัวเราและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา สสารต่าง ๆ เมื่อถูกรังสีก็จะเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และทำปฏิกิริยากับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ที่เป็นประโยชน์เช่นใช้ฆ่าเชื้อโรคและแมลงในอาหาร ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอาง และใช้รักษาโรคมะเร็ง ส่วนที่เป็นโทษ เช่น อุบัติเหตุทางรังสีที่เกิดขึ้นที่สมุทรปราการเมื่อปี พ.ศ. 2543 ทำให้บุคคลที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ที่เลิกใช้งานแล้ว รวมทั้งเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าพร้อมลูกจ้างได้รับรังสีและป่วยรวม 10 ราย ในจำนวนนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 รายด้วยกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือการเสียชีวิตของชาวเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิหลายแสนคน เนื่องจากได้รับรังสีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

แผลบวมพองของนิ้วมือหลังได้รับรังสีสามสัปดาห์ (ซ้าย) และแปดสัปดาห์ (ขวา)

เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นรังสีได้ ดมกลิ่นก็ไม่ได้ จับต้องสัมผัสก็ไม่ได้อีกจึงเป็นธรรมดาของปุถุชนทั่วไปที่ต้องกลัว กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่มองไม่เห็น และสัมผัสไม่ได้ ถ้าบุคคลที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์รู้ว่าภายในเครื่องมือแพทย์นั้นมีโคบอลต์-60 และมีรังสีทำให้คนป่วยและตายได้ พวกเขาคงไม่คิดร้ายและเข้าไปแยกชิ้นส่วนเพื่อเอาไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าแน่นอน อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางรังสีที่สมุทรปราการนั้นก็เป็นโอกาสทำให้คนไทยรู้จักโคบอลต์-60 และอันตรายของรังสีมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

บุหรี่เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันได้ตามกฎหมาย ปัจจุบันมีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคน เข้าใจว่าผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่รู้ดีว่า การสูบบุหรี่นั้นมีอันตรายต่อตนเองและบุคคลรอบข้างเพราะมีคำเตือนปรากฏอยู่ที่ซองบุหรี่ แต่ที่ยังเลิกไม่ได้เพราะบุหรี่มีสารเสพติดรุนแรงคือนิโคติน สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่และผู้รับผลกระทบจากควันบุหรี่นั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และควันบุหรี่รวมถึงสารรังสีในบุหรี่ จึงทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากและตายปีละกว่าห้าหมื่นคน เป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่จำเป็นทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันได้ ถ้าทุกคนในสังคมร่วมด้วยช่วยกัน ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535

สารพิษในบุหรี่ บุหรี่มีสารประกอบต่าง ๆ กว่า 4000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งไม่น้อยกว่า 42 ชนิด สารพิษที่สำคัญในควันบุหรี่ คือ
  1. นิโคติน เป็นสารออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมอง เป็นตัวกระตุ้นและกดประสาทส่วนกลาง ร้อยละ 95 ของนิโคตินจะไปจับอยู่ที่ปอด บางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วและไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด ควันของบุหรี่ 1 มวน มีนิโคติน 0.8-1.8 มิลลิกรัม
  2. ทาร์ เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ร้อยละ 50 ของทาร์จะไปจับที่ปอด ทำให้ระคายเคือง ไอเรื้อรังมีเสมหะ บุหรี่ไทย 1 มวนมีทาร์ 12-24 มิลลิกรัม
  3. คาร์บอนมอนอกไซด์เป็นแก๊สที่ทำให้มึนงง เหนื่อยง่าย และทำให้เกิดโรคหัวใจ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง
  4. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นแก๊สพิษที่ทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะและหลอดลมอักเสบ
  5. ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นแก๊สพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้ผนังถุงลมบางโป่งพองเกิดโรคถุงลมโป่งพอง
  6. แอมโมเนีย เป็นแก๊สที่ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ไอ และมีเสมหะมาก
  7. ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นสารที่ใช้ในการดองศพ
  8. สารกัมมันตรังสี  ควันบุหรี่มีสารพอโลเนียม-210 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีกึ่งโลหะ พบโดยปีแอร์ และมารี  คูรี (Pierre and Marie Curie) ในปี พ.ศ. 2441  มีเลขเชิงอะตอมเท่ากับ 84  ธาตุนี้พบค่อนข้างน้อยในธรรมชาติโดยปนอยู่กับสินแร่ยูเรเนียม สามารถละลายได้ในกรดอ่อน และระเหยได้ถ้าไม่เก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท เมื่อสลายจะให้รังสีแอลฟา และเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปอดของผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่หายใจเอาควันที่มีสารรังสีนี้เข้าไปด้วย  ผู้ที่สูบบุหรี่วันละซองครึ่งหรือ ปีละ 548 ซอง จะได้รับรังสีเทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับการฉายรังสีเอกซ์ถึง 300 ครั้งในหนึ่งปีเท่ากัน

มะเร็งปอด

เป็นโรคที่พบมากและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับในเพศชายและเป็นอันดับ 4 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น มะเร็งปอดหมายถึงอุบัติการณ์ที่เซลล์ในปอดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมีการเจริญเติบโตลุกลามรวมตัวกันเป็นกลุ่มเซลล์เนื้องอกที่มีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ (Tumor)

อาการของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยมะเร็งปอดมักมีประสบการณ์ของอาการดังนี้ ไออาจมีเสมหะหรือมีเลือดปน หายใจสั้น เจ็บบริเวณหน้าอก เบื่ออาหาร เพลีย และ เหนื่อยง่าย

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดมี 2 ประเภทคือ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม และปัจจัยที่ควบคุมได้เช่น สิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้นั้นเป็นปัจจัยที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่

สารรังสีในบุหรี่มาจากไหน?

เป็นที่ชัดเจนแล้ว แต่คนทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าใบยาสูบนั้น สะสมสารกัมมันตรังสีจากการใช้ปุ๋ยฟอสเฟตบำรุงดิน ปีแล้วปีเล่าของเกษตรกรชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้ใบยาสูบที่มีคุณภาพและกลิ่นดี ปุ๋ยฟอสเฟตทำมาจากหินแร่ที่มีชื่อว่าอะพาไทต์ (apatite) โดยนำมาบดให้เป็นผง ละลายในกรดแล้วแปรรูปเป็นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ต่อไป หินแร่นี้นอกจากมีพอโลเนียม-210 แล้วยังมีเรเดียมและตะกั่ว-210 ด้วย จากสถิติผู้ตายด้วยมะเร็งปอดของชาวอเมริกัน ในช่วง 30 ปีระหว่าง พ.ศ.2473-2503 พบว่ามีเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจาก 3.8 ต่อประชากร 100,000 คน เป็น 31 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับการเพิ่มขึ้นของพอโลเนียม-210 ในบุหรี่ถึง 3 เท่า ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตจึงเป็นจุดเริ่มต้นของที่มาของสารรังสี จากนั้นจะถูกดูดซึมไปที่ใบยาสูบ เมื่อนำมาแปรรูปเป็นยาเส้น มวนเป็นบุหรี่ เผาเป็นควัน แล้วสูบอัดเข้าสู่ปอด สารรังสีก็จะไปเกาะรวมตัวกันเป็นจุด ๆ ทำให้มนุษย์เป็นมะเร็งปอดและตายในที่สุด

ความตายเป็นของเที่ยงทุกคนต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่งแต่ไม่รู้เมื่อไร เมื่อรู้ที่มาแล้วว่าควันบุหรี่มีสารรังสีและรังสีมีอันตรายทำให้เป็นมะเร็งหรือฆ่าสิ่งที่มีชีวิตรวมทั้งมนุษย์ได้ ทำไมจึงไม่เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือใช้ชีวิตร่วมกับคนสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำร้ายทุกคนไม่เลือกหน้าตา หรือชาติกำเนิด ผลในระยะยาวคือผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องที่มีผู้สูบบุหรี่ทุก 20 มวนจะได้รับควันบุหรี่เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-30 ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องทำงานที่มีควันบุหรี่ประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดเท่ากับคนที่สูบบุหรี่เอง 1 มวน สำหรับหญิงมีครรภ์และทารกจะเกิดความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติหรือเกิดโรคไหลตายในเด็ก ส่วนในเด็กเล็กที่ได้รับควันบุหรี่จะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม และพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่วันละ 3 ชั่วโมงจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 3 เท่า และมีโอกาสเป็นมะเร็งในส่วนอื่น ๆ มากกว่าคนปกติ 2 เท่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูง กว่าคนทั่วไป โดยพบว่าผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่มีอาการหัวใจขาดเลือดสูงกว่าหญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ 3-4 เท่าและจะตายเร็วกว่าหญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ 4 ปี

ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าทุก ๆ 8 วินาทีมีคนต้องเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และคนที่เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยรุ่นโดยสูบต่อเนื่องเป็นเวลายี่สิบปี จะมีอายุสั้นกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 20 ปี ดังนั้นเลิกสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเสียแต่เดี๋ยวนี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ทุกสังคม และทุกประเทศ เลิกบุหรี่นั้นไม่ยากอย่างที่คิดถ้ามีใจและรู้จักใช้ปัญญา เมื่อรู้ว่าในควันบุหรี่มีสารรังสีและรังสีเป็นอันตรายต่อปอด ควรหรือไม่ที่จะลด ละ แล้วเลิกสูบบุหรี่เสียแต่วันนี้เพื่อชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นของท่านและคนที่ท่านรัก

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

  • http://www.lentech.com/Periodic-chart-elements/Po-en.html
  • http://www.acsa 2000.net/Health Alert/ radioactive-tobacco.html http://www.smokefreezone.co.th
  • บุหรี่หรือสุขภาพ กลุ่มควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. 2549.
  • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. อุบัติเหตุทางรังสีที่สมุทรปราการ. องค์การค้าของคุรุสภา, กรุงเทพ.2549. 64 หน้า